เดวิด คาเมรอน กับภรรยายอมรับเคยมีหุ้นในกองทุนนอกอาณาเขตแต่ขายไปแล้ว
นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมาระบุว่าทั้งเขาและนางซาแมนธา ภรรยา เคยมีหุ้นในกองทุนนอกอาณาเขตที่บิดาของเขาตั้งขึ้น แต่ได้ขายหุ้นไปแล้วเป็นเงิน 30,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.5 ล้านบาท เมื่อปี 2553 ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายคาเมรอน บอกกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวีว่าเขาไม่มีอะไรที่ปิดบังและได้จ่ายภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าวด้วย
การออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ของนายคาเมรอน สืบเนื่องมาจากการเผยแพร่เอกสารลับที่รั่วไหลจากบริษัทมอสแซค ฟอนเซกา บริษัทกฎหมายซึ่งมีฐานในปานามา โดยเอกสารชี้ว่านายเอียน คาเมรอน บิดาของนายเดวิด เคยใช้บริการของมอสแซค ฟอนเซกา และเคยใช้กลวิธีอันซ่อนเร้น “แต่ถูกกฎหมาย” ของกระบวนการทำการค้านอกอาณาเขตในการประกอบกิจกรรมในกองทุนรวมที่เขามีส่วนร่วมจัดตั้งขึ้น โดยนายเอียน เคยเป็นผู้อำนวยการของแบลร์มอร์ โฮลดิงส์ อิงค์ ซึ่งใช้วิธีการออกหุ้นประเภทที่ให้แก่ผู้ถือ (ไม่ระบุชื่อ) เพื่อปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
หลังจากสื่อหลายกระแสในอังกฤษตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ที่ครอบครัวของนายคาเมรอนได้รับจากกองทุนดังกล่าว ทำให้เมื่อวันพุธที่ผ่านมาทำเนียบดาวนิ่งสตรีท ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่านายคาเมรอน ภรรยาและลูก ๆ ไม่ได้มีผลประโยชน์ใด ๆ จากกองทุนนอกอาณาเขต
ขณะที่นายคาเมรอน กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า “ผมไม่มีอะไรจะปกปิด ผมภูมิใจในพ่อของผม สิ่งท่านทำ และธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้น แต่ผมรับไม่ได้ที่จะเห็นพ่อต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง”
นายคาเมรอนกล่าวด้วยว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจผิดว่ากองทุนรวมแบลร์มอร์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี แต่แท้จริงแล้วจัดตั้งขึ้นหลังจากอังกฤษยกเลิกการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเอื้อต่อผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้นและบริษัทที่ถือครองเงินดอลลาร์เป็นส่วนใหญ่ และแท้จริงแล้วก็มีกองทุนอื่น ๆ อีกมากมายที่จัดตั้งขึ้นในทำนองเดียวกัน
เอียน วัตสัน ผู้สื่อข่าวสายการเมืองของบีบีซี บอกว่าแม้จะไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่านายคาเมรอนกระทำผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นเรื่องขายหน้าทางการเมืองที่นายคาเมรอนเข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ไม่ได้เสียภาษีในอังกฤษ ในขณะที่เขาเองพยายามเรียกร้องให้ดินแดนนอกอาณาเขตมีความโปร่งใสเรื่องภาษีมากขึ้นและพยายามจัดการกับแหล่งหลบเลี่ยงภาษีต่างๆ ‪#‎PanamaPapers‬


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.