ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็นจับตาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ห่วงพลเรือนไทยถูกดำเนินคดีในศาลทหาร และจำกัดการถกเถียงเรื่องร่าง รธน.
นายเซอิด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยข้อกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนใน 50 ประเทศทั่วโลกในเวทีประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 32 ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ในไทยที่มีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารมากขึ้นและยังจำกัดการถกเถียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ชี้เมียนมาพยายามผลักดันการปฏิรูปประชาธิปไตย แต่การละเมิดสิทธิยังมีอยู่ ด้านสหรัฐฯ ยังเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ ขณะที่ยุโรปต้องช่วยผู้อพยพโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
นายอัล-ฮุสเซน กล่าวว่าไทยกำลังจะจัดให้มีการลงประชามติในเดือน ส.ค. นี้เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าการถกเถียงเรื่องร่าง รธน.กลับถูกจำกัด ผู้ใดก็ตามที่โพสต์ข้อความในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญกลับถูกจับกุมและตั้งข้อหาว่ายุยงปลุกปั่น ทั้งที่คนไทยมีสิทธิ์ที่จะถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ในการตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับประเทศของตนเอง เขากล่าวด้วยว่าการโต้เถียงอย่างเสรี เป็นธรรมและสร้างสรรค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งจำเป็น ในการนำพาประเทศไปสู่ความมีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน เขายังเป็นห่วงเรื่องที่มีพลเรือนถูกนำตัวไปดำเนินคดีในศาลทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ดี นายอัล-ฮุสเซน แสดงความยินดีที่ไทยได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหายเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย จึงหวังว่าไทยจะปฏิบัติตามพันธะสัญญาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
ส่วนความกังวลต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้น นายอัล-ฮุสเซน ระบุถึง ฟิลิปปินส์ ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีประกาศจะใช้กำลังอาวุธควบคุมและจัดระเบียบสังคม แต่เขาติงว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ชุดใหม่ควรต้องเคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ขณะที่กัมพูชาจะต้องยุติการจับกุมผู้ต่อต้านรัฐบาล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดกว้าง ก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ในกัมพูชาช่วงปี 2560-2561
ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมาถือว่ามีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโดยเน้นการสร้างความสมานฉันท์ ปฏิรูปประชาธิปไตยและการพัฒนา อย่างไรก็ดี ปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ซึ่งสหประชาชาติพร้อมที่จะช่วยเหลือรัฐบาลพม่าในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้
ส่วนสหรัฐอเมริกาติดอยู่ในกลุ่ม 50 ประเทศที่น่ากังวลด้านสิทธิมนุษยชนเช่นกัน เนื่องจากปัญหาการเหยียดเชื้อชาติยังเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ชาวอเมริกันผิวสีไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายคดีที่มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่จีนมีการจับกุมทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและสั่งปิดองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งซึ่งตรวจสอบรัฐบาล ส่วนกลุ่มประเทศแถบยุโรปต้องร่วมกันหาทางแก้ไขวิกฤตผู้อพยพโดยคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนและเงื่อนไขในข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับตุรกี ‪#‎UNHumanrights‬ ‪#‎Migrants‬


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.