‘แม่ไผ่’ ในวันแห่งความรัก-เสวนา 112 ครั้งแรกปี 2560 ฝ่ายความมั่นคงร่วมฟังจริงจัง
Posted: 14 Feb 2017 11:25 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

 

ตำรวจคุยกับ เอกพันธ์ ปิณฑวณิช ผอ.สถาบันสิทธิฯ 

บัณฑิต อานียา ขายหนังสือหลังมีการฉายภาพยนตร์ คนหมายเลข0
ครั้งนี้เขาไม่ตั้งคำถามหลังการเสวนาอีก
หลังจากที่เขาโดนดำเนินคดีจากการตั้งคำถามในงานเสวนามาแล้วหลายครั้ง

14 ก.พ.2560 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มีการจัดเสวนาในวิชาเรียนว่าด้วยประเด็นสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน โดยนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา งานดังกล่าวถูกเปลี่ยนชื่อหลายครั้งจากเดิม คือ Love is…เสวนาสาธารณะว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมและผู้ได้รับผลกระทบจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  เป็น ความรัก ความหวัง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสุดท้ายเป็น ความยุติธรรม ความรัก และความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ นักศึกษาผู้จัดงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้โทรสอบถามถึงรายละเอียดงานดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว สุดท้ายจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่องาน ส่วนวัตถุประสงค์ในการจัดงานนั้น เนื่องจากเห็นว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวการณ์รื้อฟื้นปรองดอง จึงเห็นว่าควรเปิดพื้นที่ให้กับการสนทนา และเยียวยาผู้ที่รู้สึกว่าถูกกระทำ ถูกกีดกัน ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานเสวนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมฟังราว 30 คน เป็นเจ้าหน้าที่เกือบ 1 ใน 3 โดยเป็น ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวน 5-6 นาย ฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งปลัดอำเภอ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากฝ่ายสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN) และแอมเนสตี้ประเทศไทย ร่วมสังเกตการณ์ ส่วนผู้ร่วมเสวนาคือ แม่ของไผ่ ดาวดิน , อาจารย์ด้านปรัชญาจากศิลปากร, นักข่าวและตัวแทนองค์กรที่ติดตามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคดี 112 โดยมี ชูเวช เดษดิษฐรักษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ภายหลังเสร็จสิ้นการเสวนา มีการฉายหนัง “คนหมายเลข 0” ถ่ายทอดเรื่องราวของบัณฑิต อานียา นักเขียนสูงวัยผู้ต้องหาคดี 112 ผลงานของ นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ 
พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตอบคำถามผู้ดำเนินรายการดังนี้
ไผ่เคยพูดว่า เราต้องให้ความรักกับคนที่กระทำเราไม่ต่างจากจากที่เรารู้สึกกับคนอื่นๆ อยากรู้ว่าแม่เลี้ยงเขามาอย่างไร ทำไมเป็นคนแบบนี้ ?
“เราเป็นแม่ไม่สามารถยัดเยียดอะไรให้ลูกรักใครหรือเกลียดใครได้ แต่อาจเป็นเพราะเขาได้เห็นตัวแบบจากพ่อซึ่งเป็นคนบรรยายให้ความรู้ด้านกฎหมายกับชาวบ้าน ช่วยเหลือคดีกับชาวบ้านตลอด เราก็ไม่รู้ว่าเขาซึมซับเรื่องพวกนี้ไปมากน้อยแค่ไหน แม่ไม่รู้ด้วยซ้ำ แต่เขาก็จะแสดงออกอะไรที่เป็นแบบนั้น เขาจะคิดถึงคนอื่น .. อย่างตอนตำรวจถอนการประกันตัวนี่เขาก็ไม่ได้โกรธตำรวจ บอกว่าเขาทำตามหน้าที่ แต่แม่นี่โกรธมากมายเลย”
“คนมองว่า เวลาถูกจับทุกครั้งไผ่ทำไมยังยิ้มแย้มทุกครั้ง อยากจะบอกว่ามันเป็นบุคลิกของเขาอย่างนั้น ไม่ใช่การเยาะเย้ยถากถางหรือถูกจับแล้วมีความภาคภูมิใจ ไม่ใช่แบบนั้น”
เขาเป็นอย่างไรตอนเรียนมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ?
“ตอนเข้ามหาวิทยาลัยปีแรกเขาอยู่ในแวดวงลูกคนรวย ไปเซ็นทรัลตลอด เพื่อนขี่รถเก๋ง เราก็ตกใจเหมือนกัน จะเลี้ยงลูกยังไงเพราะไปเซ็นทรัลก็ต้องมีไอโฟน มีนู่นมีนี่ให้ได้ระดับกับเพื่อน แต่เราไม่มีฐานะแบบนั้น พอขึ้นปี 2 ก็ได้ยินข่าวว่าไผ่ไปช่วยชาวบ้านที่อุดร เรื่องสายส่งไฟฟ้าที่ไปลงที่ชาวบ้าน ชาวบ้านกว่าจะได้ที่ดินของตัวเอง เขาได้จากบรรพบุรุษมาน้อยนิดหรือสะสมมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของเขา แต่สายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน แปลงที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าจะกลายเป็นสามเหลื่อมทันที ชาวบ้านเขาทนไม่ได้ ชาวบ้านร้องไห้ ไผ่ก็ทนไม่ได้ เขาเป็นแบบนั้น ไผ่กับเพื่อนๆ ไปนอนขวางตรงที่เขาจะเอาแบ็คโฮขุดดินด้วยซ้ำ ถ้าคนที่ขุดใจดำพวกนี้ตายหมดแล้ว”
“หลังจากนั้นมาไผ่ก็ทำกิจกรรมแนวนี้ตลอด เขาคงเห็นพ่อคอยช่วยเหลือคนแล้วบังเอิญไปเจอปัญหาจริงๆ แล้วชาวบ้านก็เป็นเสียงเล็กเสียงน้อยไม่สามารถป่าวประกาศกับใครได้ ไผ่กับเพื่อนเรียนนิติศาสตร์เขาก็อยากจะใช้ความรู้ไปช่วย”
การเป็นภรรยาของทนายสิทธิและเป็นแม่ของนักกิจกรรมด้านสิทธินั้นยากไหม?
“ลำบากมาก ความทุกข์ยากเรื่องสถานภาพหรือปัจจัยต่างๆ เมื่อลงไปแบบนั้นมันไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่สิ่งตอบแทนคือนน้ำใจของชาวบ้าน ได้ข้าวสาร กล้วย แต่ความภาคภูมิใจคือ เรามีความสุขที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน แต่แน่นอนด้านเศรษฐกิจเราก็ลำบากอันนี้เป็นเรื่องธรรมดา”
วันที่ไผ่โดนคดีเรื่องราวเป็นอย่างไร แม่รู้สึกอย่างไร?
“วินาทีแรกที่รู้เรื่องว่าไผ่โดนจับที่ธรรมยาตราของพระอาจารย์ ด้วยมาตรา 112 ไปมาพักหนึ่งแล้ว วันนั้นไผ่นัดครอบครัวจะเจอกันเพื่อทำบุญหาปู่ พอทราบเรื่องก็ตกใจ ปกติครอบครัวเราไม่เคยคิดหรือกระทำเรื่องแบบนี้เลย ตอนนั้นยังไม่รู้ข้อเท็จจริงอะไร ถ้าเป็นคดีอื่นเราจะไม่ห่วง คดีอาญาอย่างอื่นเรามีเหตุมีผลของเรา แต่คดีมาตรา 112 บางครั้งเราไม่เชื่อในเหตุผลหรือกฎหมาย พอเรารู้ว่าเป็นข่าวของบีบีซีแล้วคนแชร์ตั้ง 2,800 มันก็เป็นข้อสังเกตว่าทำไมต้องเป็นไผ่”
“หลังจากที่รู้เรื่อง พอดีวันนั้นย่ามาเยี่ยมที่บ้าน เราไม่อยากให้คนแก่มีสภาพจิตใจหนักอย่างเรา ย่ารักหลานมาก เราพยายามเก็บความลับไว้ วันนี้เป็นวันที่ทรมานที่สุด ไปหาลูกก็ไม่ได้ จะบอกใครก็ไม่ได้ แต่ด้วยความเป็นแม่ยังไงก็ต้องไปดูแลลูก ในที่สุดย่าก็รู้ ปัญหาใหญ่ตอนนั้นคือทนายและแม่ติดต่อไผ่ไม่ได้หลังจากตำรวจเอาตัวไป ก็โพสต์เฟซบุ๊กว่าลูกฉันอยู่ไหน เรามีกฎหมายเล่มเดียวกัน มันก็ต้องใช้แบบเดียวกัน เราไม่คิดเลยว่าจะต้องวิ่งตามหาลูกเราในวันที่โดนจับแบบนั้น”
หากทหารที่แจ้งความไผ่นั่งตรงนี้ แม่อยากบอกอะไร?
"เราอยู่ในประเทศไทยมีกฎหมายฉบับเดียวกัน ไผ่เป็นนักกิจกรรม เขาเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานของชาวบ้าน รับรู้ความรู้สึกความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน มลพิษที่ชาวบ้านได้รับ เขาเห็นมาตลอด เขาจะซึมซับเรื่องนี้ ถ้าเป็นรัฐบาลปกติไผ่เข้าชุมชนได้ ไปช่วยเหลือให้ความรู้ชาวบ้านได้ แต่ตั้งแต่มีรัฐประหารเป็นต้นมา ไผ่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ กลายเป็นกีดกัน เข้าเมื่อไหร่จะโดนบล็อค คนเป็นนักกิจกรรมไม่ให้ทำอะไรเลย เด็กก็อยู่ไม่ได้ กิจกรรมที่เขาทำไม่ได้เลวร้าย ถามว่าเสธ.พีทที่แจ้งความ เสธ.พีทเป็นทหารอยู่แล้ว เรื่องครบรอบ 1 ปีรัฐประหารก็เป็นคนไปแจ้งจับไผ่ เรื่อง 112 เขาก็แจ้งจับไผ่ อยากถามว่ากฎหมายฉบับเดียวกัน เราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อยู่ในรัฐบาล คสช. แล้วมาเลือก จงใจ หรือ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เลือกจับหรือเลือกปฏิบัติกับใคร มันใจร้ายและโหดร้ายมาก ต้นเหตุที่สำนักข่าวข้อความยังไม่รู้เลยว่าผิดหรือไม่ คนแชร์อีก 2,800 กว่าคน ทำไมเป็นไผ่ คุณเกลียดไผ่มากมายขนาดนั้นเหรอ เด็กคนนึงที่ช่วยเหลือสังคมมาตลอด ครอบครัวเราช่วยเหลืองสังคมมาตลอด คุณไม่เห็นความทุกข์ยากของเราบ้างเหรอ (ร้องไห้) ความทุกข์ยากของเราที่ช่วยเหลือคนแล้วไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่สิ่งที่เราได้รับ มันผิดมากใช่มั้ย"
- - - - - - - - - - -
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า เนื่องจากมาตรานี้อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญา การเริ่มคดีจึงเริ่มโดยใครก็ได้ สมมติว่าหมันไส้พิธีกรงานวันนี้เขาก็สามารถกล่าวโทษกับตำรวจได้ แต่ถ้าตำรวจเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิดจะไม่ทำคดีก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่ในคดีนี้การกล่าวโทษทั้งหลายของผู้เข้าแจ้งความมักนัดหมายนักข่าวไปทำข่าวด้วย ทำให้ตำรวจมีความกดดันและต้องเดินหน้าทำคดี แต่ในยุคของ คสช.นั้นหนักยิ่งขึ้น เพราะมีกฎหมายพิเศษให้นำบุคคลเข้าไปสอบสวนในค่ายทหารได้ 7 วันโดยไม่ให้ติดต่อญาติและทนายความ หลังจากนั้นก็ออกมาพร้อมกับคดี 112 มีให้เห็นหลายกรณีมากในปี 2557 และหากดูสถิติของผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 จะเห็นว่าก่อนรัฐประหารมีอยู่ 5 คนในเรือนจำ กระทั่งสิ้นปี 2557 มีถึง 24 คน นี่เป็นเพียงส่วนที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ แต่สถิติถึงปี 2560 นั้น ตัวเลขที่ทหารแถลงมีหลายร้อยคน แต่ตัวเลขที่ไอลอว์ติดตามผู้ต้องหาได้เพื่อยืนยันจริงๆ นั้นมี 73 คน โดยหลัง 13 ต.ค.2559 นั้นมี “ข่าว” จับกุมด้วยคดี 112 มากถึง 18 คนแต่เราตามเจอตัวจริงๆ ได้แค่ 3 คน จึงนับเพียงเท่านี้
สำหรับสิทธิการประกันตัว คนที่เคยยื่นประกันตัวสูงสุดแล้วไม่ได้รับอนุญาตจากศาลคือ หลักทรัพย์ 2.5 ล้านบาท ส่วนจำนวนครั้งดูเหมือนจะเป็น จตุภัทร์หรือไผ่ยื่นมากถึง 6 ครั้งแต่ไม่ได้ ในช่วงปีนี้จากสถิติผู้ต้องขังคดี 112 จำนวน 73 คน มีหลักทรัพย์และโอกาสเพียงพอที่จะยื่นประกันตัว 46 คน ในจำนวนนี้ได้ประกันตัว 18 คน ไม่ได้ 28 คน และเมื่อดูแนวโน้มตามปี จำนวน 18 คนที่ได้รับการประกันตัวเกือบทั้งหมดอยู่ในปี 2559 ขณะที่ปี 2557 แทบไม่มีใครได้ประกันตัวเลย อีกประเด็นคือ เมื่อถึงชั้นศาลก็จะเผชิญกับการพิจารณาคดีลับ ประกอบกับเมื่อจำเลยไม่ได้รับการประกันแล้วต้องอยู่ในเรือนจำยาวนานก่อนพิจารณาคดีก็ทำให้จำเลยส่วนใหญ่ตัดสินใจรับสารภาพ
มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าวจากประชาไท กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานอยากตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนคดีนั้นสัมพันธ์กับอุณหภูมิทางการเมือง ซึ่งต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่จุดตั้งต้นของความขัดแย้งทางการเมืองคือ ตั้งแต่กระแสการเคลื่อนไหวที่ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น วาทกรรมเราจะสู้เพื่อในหลวง, คืนพระราชอำนาจ, มาตรา 7 และอีกมากมาย ทำให้สถาบันอยู่ในขั้วความขัดแย้งฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ทั้งที่ลักษณะของความขัดแย้งทางการเมืองนั้นมีการโต้ตอบการไปมา วิจารณ์ จับผิด กระทั่งป้ายสีกันเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้วาทกรรม “ล้มเจ้า” ก็ถูกจำกัดความ ถูกทำให้เป็นทางการ ถูกทำให้เป็นเนื้อเดียว โดย ศอฉ. ซึ่งนำเสนอ“ผังล้มเจ้า” แจกให้ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 การทำผังดังกล่าวน่าจะเป็นการก่อร่างสร้างขบวนการล้มเจ้าในความรับรู้ของสังคมได้ทรงประสิทธิภาพ ทั้งที่ในปีต่อมา พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เองก็ยอมรับเองว่า ผังดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ  
อีกประเด็นคือ “ข้อความ” ที่เป็นคดีต่างๆ นั้น มีหลายลักษณะคำหยาบคายแบบไม่มีเนื้อหาก็มี เป็นข้อกล่าวหาที่วิญญูชนย่อมต้องรู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จก็มี ทั้งสองแบบนี้เป็นการสะท้อน “อารมณ์” มากกว่า “แนวคิด” ขณะที่บางส่วนเป็นเนื้อหาการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งต้องยอมรับด้วยความสัตย์จริงว่ามีบางส่วนที่หากไม่ใช่ประเทศไทย มันอาจกลายเป็นประเด็นถกเถียงธรรมดาในข้อเท็จจริงและในแนวคิดเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าความคิดเห็นของคนพูดจะถูกต้องแต่หากใช้มาตรฐานประเทศประชาธิปไตยอื่นมันจะอยู่ในระดับถกเถียงกันได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังการตีความมาตรานี้ยิ่งกว้างขวางมากขึ้น เช่น กรณีสุนัขทรงเลี้ยง หรือการกล่าวถึงรัชกาลที่ 4 นั่นสะท้อนวิธีคิดของคนในระบบยุติธรรมทางอาญาได้เป็นอย่างดี
คงกฤช ไตรยวงค์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวเริ่มต้นถึงความรักว่า นักปรัชญาจำนวนหนึ่งเห็นว่าความรักสัมพันธ์กับการเมือง โดยในงานที่ชื่อ I Love to Youของอิริกาเรย์ บอกว่า ประชาธิปไตยนั้นเริ่มจากการยอมรับความแตกต่างทางเพศ เนื่องจากเธอเป็นแฟมินิสต์ เธอเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม การเมือง สงคราม ล้วนมาจากปัญหาการไม่ยอมรับความแตกต่างทางเพศ ผู้หญิงนั้นเป็นหญิงเฉพาะในครอบครัวแถมยังโดนผู้ชายกดขี่อีกด้วย แต่พอในปริมณฑลทางสังคมการเมือง ผู้หญิงกลับเป็นคนไร้เพศ เราไม่มีกฎหมายออกมารองรับสิทธิของผู้หญิง
มีงานอีกชิ้นที่เห็นว่า ประชาธิปไตยเริ่มจากสองเพศ คือ ความต่างทางเพศเป็นพื้นฐานสำคัญของการเคารพความแตกต่างทางเพศ ในบทที่ว่าด้วยประชาธิปไตยคือความรัก เขาบอกว่า ประชาธิปไตยคือการยอมรับความแตกต่างทางเพศและการเปิดไปสู่การไม่ลดทอนความต่างที่มองจากมุมมองตนเองฝ่ายเดียว มันเป็นพื้นฐานสำคัญไปสู่การเคารพความต่างอื่นๆ ไม่ว่าชาติพันธุ์ ศาสนา ฯลฯ และเป็นพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง หาไม่แล้วมันก็ไม่ใช่ความรัก ความรักคือ การทำให้คนที่แตกต่างจากเราอยู่ร่วมกับเราได้โดยไม่ไล่เขาไปอยู่ดาวอังคาร

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.