สนช. ต้องแนบรายงานผลวิเคราะห์และรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาร่างกฎหมาย
Posted: 11 Feb 2017 05:09 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)  

รองประธาน สนช. ระบุ หลัง รธน.ใหม่บังคับใช้ สนช.ต้องแนบรายงานผลการวิเคราะห์และรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาร่างกฎหมาย ตามที่ ม.77 ใน รธน.ใหม่กำหนด
 
 
การสัมมนาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2560 ที่สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
 
11 ก.พ. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่าสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดโครงการสัมมนาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2560 ที่สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก สวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง บทบาทและหน้าที่ สนช.ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า สนช.เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยรับผิดชอบงานตรากฎหมาย ซึ่งเป็นงานสำคัญในการวางรากฐานให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะช่วงที่อยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศในการนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ มีบทเฉพาะกาลให้ สนช.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเกิดขึ้น จึงหมายความว่า หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ สนช.ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้กฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้บังคับในขณะนี้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการสัมมนาในวันนี้ เพื่อให้สมาชิก สนช.ได้รับทราบข้อปฏิบัติใหม่ รวมทั้งบทบาท อำนาจ และหน้าที่ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเตรียมตัวต่อไป
 
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า สมาชิก สนช.ต้องทำหน้าที่จนกว่าจะมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาใหม่ครั้งแรก โดยทำหน้าที่ถึงวันก่อนที่จะมีประชุมรัฐสภาหนึ่งวัน รัฐธรรมนูญใหม่มีกฎกติกาใหม่เรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งหลายคนรับทราบแล้ว และบางคนก็กังวลว่าจะปฏิบัติตนได้ถูกต้องหรือไม่ ยืนยันว่า ไม่ต้องกังวล เนื่องจากคณะกรรมาธิการรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำรัฐธรรมนูญของ สนช.พยายามจัดทำเอกสารคู่มือ เพื่อเป็นตัวช่วยสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตน และจะแจกจ่ายให้กับสมาชิก ทั้งนี้ ภายใต้บทบาทในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ยังมีภารกิจเช่นเดิม ในการบัญญัติกฎหมาย การให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ การตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของหน่วยงานราชการต่าง ๆ การให้ความเห็นชอบบุคคลในการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ยกเว้นการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งที่ในรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้กำหนดหน้าที่นี้ไว้
 
นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับภารกิจในการบัญญัติกฎหมายทุกระดับ มีกติกาใหม่ที่เกิดขึ้น ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่บัญญัติว่า รัฐพึงตรากฎหมายเท่าที่จำเป็น ซึ่งหมายความว่า รัฐธรรมนูญวางไว้เพื่อจำกัดไม่ให้ปริมาณของกฎหมายมีมากจนเกินไป และให้คำนึงถึงสภาพของสังคมด้วย ขณะเดียวกัน มาตรา 77 ยังกำหนดให้เป็นนโยบายว่า รัฐต้องไปพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตของประชาชน ดังนั้นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต้องทำหน้าที่ตามแนวทางรัฐธรรมนูญใหม่
 
นายสรุชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในวรรค 2 ของมาตรา 77 เขียนแนวทางการบัญญัติกฎหมายอย่างละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งไม่เคยปรากฎในกฎหมายมาก่อน คือ หลักเกณฑ์ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และในการตรากฎหมายต้องจัดให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายฉบับนั้น ๆ โดยวิเคราะห์อย่างรอบด้านและทุกระบบ และนำไปเปิดเผยต่อประชาชน โดยผลการวิเคราะห์ต้องนำมาประกอบในการพิจารณากฎหมายทุกขั้นตอน นอกจากนี้ ยังต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ของการบังคับใช้กฎหมายด้วย แต่ก็เกิดคำถามว่า ใครจะเป็นผู้มีหน้าที่ประเมินผล ตนจึงคิดว่า เป็นหน้าที่ของ สนช.ที่ทำให้เกิดความชัดเจน ขณะเดียวกัน ยังมีคำถามว่า สนช.จะต้องอยู่ภายใต้มาตรา 77 นี้ด้วยหรือไม่ ในความเห็นตน เมื่อไม่มีบทเฉพาะกาลเขียนว่า สนช.ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรานี้ ดังนั้น สนช.จึงต้องทำหน้าที่ตามมาตรา 77 ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติทันที อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น จึงขอความร่วมมือสมาชิกและกรรมาธิการแต่ละคณะช่วยกันพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ให้เสร็จโดยเร็ว และสรุปรายงานให้เสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้ สมาชิก สนช.จะต้องแนบรายงานผลการวิเคราะห์และรายงานการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับนี้ด้วย และสมาชิกต้องตรวจสอบกระบวนการการรับฟังความเห็นว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ รวมถึงต้องศึกษาการวิเคราะห์จากรายงานผลการวิเคราะห์อีกครั้งด้วย
 
“สนช.ได้รับมอบหมายในการพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับที่ต้องแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง โดย สนช.มีหน้าที่พิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างแต่ละฉบับ ซึ่ง 60 วันนี้นับรวมถึงวันทำงานของระบบธุรการ ดังนั้น สมาชิกจึงต้องไปพูดคุยกันว่า เมื่อร่างถูกส่งมาแล้ว ควรกำหนดเวลาการทำงานในชั้นกรรมาธิการได้กี่วัน เชื่อว่า 45 วันก็ยังไม่พอ และไม่สามารถขยายเวลาได้ด้วย แม้ว่าแต่ละฉบับ จะมีเวลาพิจารณา 60 วัน แต่คาดว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ทยอยส่งมาทีละฉบับ แต่จะส่งมาพร้อมกันหลายฉบับ เพราะหากส่งมาทีละฉบับ กรอบเวลาในการพิจารณา 10 ฉบับ ก็จะเป็น 600 วัน หากเป็นลักษณะนี้ ก็จะเป็นข่าวว่าขยับโรดแมปเลือกตั้งอีก ดังนั้น จึงขอให้สมาชิกเตรียมรับมือกับการทำงาน เพราะนอกจากกฎหมายลูกแล้ว ยังมีกฎหมายที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญด้วย อาทิ กฎหมายว่าด้วยแผนและวิธีการปฏิรูป และ พ.ร.บ.ว่าด้วยขั้นตอนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเตรียมส่งให้ สนช. รวมแล้วกว่า 100 ฉบับ” นายสุรชัย กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.