10 แกนนำ นปช. ร่วมคุยปรองดองเสนอยกเลิก ม.44 ด้านประวิตร ลั่นยกเลิกไม่ได้ ชี้ทุกคำสั่งคือกฎหมาย

Posted: 15 Mar 2017 04:30 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

นปช. เข้าคุยปรองดอง ชี้ปัญหาความขัดแย้งเกิดจาก คู่ขัดแย้งคู่หลัก คณะรัฐประหาร-ผู้รักประชาธิปไตย ระบุชนชั้นนำและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมปรับตัวไม่ทันกับระบอบประชาธิปไตย จึงเลือกทำรัฐประหารยึดอำนาจไปจากประชาชน


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

15 มี.ค. 2560 ที่กระทรวงกลาโหม จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อม 9 แกนนำ ประกอบด้วย ธิดา ถาวรเศรษฐ, นพ.แพทย์เหวง โตจิราการ, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์, อารีย์ ไกรนรา, ก่อแก้ว พิกุลทอง, นิสิต สินธุไพร, เกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์ และพรหมณ์ศักดิ์ระพี พรหมชาติ เข้าเสนอความเห็นแนวทางสร้างความสามัคคี ต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

โดยได้นำเสนอความคิดเห็น แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ คำตอบสำหรับกรอบคำถาม 10 ข้อ และมุมมองเรื่องการสร้างความปรองดองโดยยึดโยงกับข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ภายใต้หลักการความปรองดองจะเกิดได้ด้วยการสร้างประชาธิปไตย

เอกสารของ นปช.ได้ระบุข้อเสนอแนะเรื่องการปรองดอง โดยเริ่มคลี่คลายสาเหตุความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมมายาวนานนั้น เกิดจากคู่ขัดแย้งหลักระหว่างผู้ปกครองในคณะรัฐประหาร กับผู้ถูกปกครองที่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ส่วนความขัดแย้งรองเกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจของชนชั้นนำในฝ่ายอนุรักษ์นิยม และทั้งฝ่ายนักการเมืองจากเลือกตั้งกับพรรคอนุรักษ์นิยมด้วยกันเอง

"สิ่งสำคัญคือ เมื่อชนชั้นนำและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมยังปรับตัวไม่ทันกับระบอบเสรีประชาธิปไตยและยังไม่ได้ชัยชนะในกติกาประชาธิปไตย จึงร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมอื่นๆ รวมทั้งกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง ช่วงปี 2549 และ 2557 ทำให้ประเทศไทยมีความสุ่มเสี่ยงที่จะอยู่ในวัฏจักรการเมืองแบบที่จะมีเลือกตั้งและรัฐประหารวนเวียนเช่นนี้แบบไม่มีอนาคตในระบอบประชาธิปไตย"

นปช.เสนอว่า แม้การปรองดองจะเป็นเรื่องจำเป็นและมีประโยชน์ แต่ประชาชนตั้งข้อสงสัยจะสำเร็จได้โดยมีรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าภาพหรือไม่ เพราะบรรยากาศการใช้อำนาจยังมีการควบคุมสิทธิเสรีภาพและการบังคับใช้มาตรา 44 อยู่ตลอดเวลาเป็นอุปสรรค ขัดขวาง และไม่เอื้ออำนวยให้เกิดความปรองดองขึ้นในสังคม

"ทุกฝ่ายต้องจริงใจและสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมแก่การปรองดอง หยุดวาทกรรมแห่งความเกลียดชังและอารมณ์ ใช้หลักการเหตุผลและข้อมูลที่ถูกต้อง โดยการทำความจริงให้ปรากฏโดยมีคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือทั้งในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ และมีองค์ความรู้ในการทำการปรองดอง เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นปช.จึงมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ประกาศ คำสั่ง และมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่มุ่งหวังจะปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน"

นอกจากนี้ ขอให้หยุดการสร้างความร้าวฉานและความเกลียดชังรอบใหม่ ตลอดจนเรียกร้องต่อการใช้กฎหมาย การออกกฎหมาย มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในประเทศ ให้มีหลักนิติธรรมแท้จริงและยึดโยงกับประชาชน ถูกตรวจสอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรอิสระที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความขัดแย้งในสังคมไทย มีการเยียวยาทั้งทางคดีความและทางเศรษฐกิจสังคมโดยการทำความจริงให้ปรากฏ มีการยอมรับผิดและการให้อภัยตามหลักการปรองดองที่เป็นสากล


แฟ้มภาพประชาไท: การชุมนุมของ นปช. ที่ถนนอักษะ 6 เม.ย. 2557

สำหรับคำถาม 11 ข้อนั้น นปช.มีข้อสังเกตว่า การตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการต่างๆ ที่ยังไม่เป็นไปตามหลักการปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ, อนุกรรมการ โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่เอื้อต่อการปรองดอง ยิ่งมีการบังคับใช้คำสั่งและกฎหมายต่างๆ รวมทั้งอำนาจมาตรา 44 ตลอดจนยังมีการสร้างวาทกรรมแสดงความเกลียดชังโจมตีผู้เห็นต่างทางการเมือง กระทั่งจากฝ่ายผู้มีอำนาจ ย่อมทำให้บรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นได้ยากมากยิ่งขึ้น

นปช.เสนอว่า คำถาม 11 ข้อที่มุ่งถามเพื่อตอบโจทย์ที่ได้สรุปไว้ล่วงหน้าแล้ว และมิได้สนใจสาเหตุแห่งปัญหา ดังนั้น นปช.จึงเน้นตอบคำถามด้วยหลักคิดทั่วไป คือ อุดมการณ์การเมืองในระบอบประชาธิปไตย หลักคิดเสรีนิยมที่ให้ความเห็นแตกต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ รวมทั้งการยอมรับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองด้านต่างๆ และหลักคิดเรื่องนิติรัฐนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

"ในคำถาม 11 ข้อเราสนใจประเด็นการเมือง, ความเหลื่อมล้ำ, กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม การทำการปฏิรูปเพื่อให้เกิดการปรองดองและข้อสุดท้ายซึ่งเป็นคำถามปลายเปิดต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและการแก้ไขในทัศนะของ นปช."

ในคำถามด้านการเมืองนั้น นปช.เสนอให้ยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติ การเมืองการปกครองมีเป้าหมายที่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้คู่ขัดแย้งเลิกถือเอาบุคคลสำคัญกว่าระบบและระบอบ ไม่ใช้การทหารและความรุนแรงมาแก้ปัญหาทางการเมือง โดยให้การเมืองแก้ความขัดแย้งด้วยการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่สนับสนุนการทำรัฐประหารและการออกกฎหมาย, คำสั่งจากระบอบรัฏฐาธิปัตย์เพื่อปราบปรามประชาชน

"คำสั่งต่างๆ และรัฐธรรมนูญที่มาจากระบอบรัฏฐาธิปัตย์ไม่ว่าจะเป็นฉบับชั่วคราวและฉบับประชามติที่ไม่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตยต้องยกเลิกและดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งยกเลิกกฎหมายและระเบียบใดๆ ที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ชอบธรรม"

ส่วนการปฏิรูปประเทศและการวางยุทธศาสตร์ชาตินั้น นปช.เสนอให้ดำเนินการในช่วงเวลาที่มีรัฐบาลที่มาจากประชาชนตามกติการะบอบประชาธิปไตย องค์กรรัฐข้าราชการต่าง ๆ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนต้องขึ้นต่ออำนาจรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ทำตัวเป็นอิสระและมีอำนาจเหนืออำนาจประชาชนในระบอบประชาธิปไตย"

นปช.ยังเสนอให้ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องยึดโยงกับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ตรวจสอบได้ อยู่บนพื้นฐานนิติธรรมและความเท่าเทียมกันและสอดคล้องกับกฎหมายและกติกาสากล ทั้งต้องได้รับการปฏิรูปให้เป็นนิติธรรมตามกรอบประชาธิปไตย ที่สำคัญองค์กรอิสระต้องได้รับการปฏิรูปให้ยึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบได้และมีอำนาจเหมาะสมตามระบอบประชาธิปไตย

สำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำ นปช.เชื่อว่า ได้ผูกติดกับการเมืองที่ต้องการความเท่าเทียม ต้องเน้น ระบบสวัสดิการของรัฐ การใช้ระบบภาษีที่ก้าวหน้า ภาษีมรดก และการจำกัดการถือครองที่ดินขนาดใหญ่ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องปรับให้มีความสามารถแข่งขันในเวทีโลกบนลักษณะเฉพาะของไทย และประชาชนถูกยกระดับด้านความรู้ความสามารถและรายได้จนสามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

"ประเด็นปฏิรูปเร่งด่วนที่เสนอคือ การปฏิรูประบบราชการทหารพลเรือน, องค์กรอิสระ, กระบวนการยุติธรรม, การศึกษา, ระบบตรวจสอบแบบสากลที่ได้มาตรฐาน ด้านเศรษฐกิจต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ความล้าหลังในภาคการผลิต, และรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ต้องอยู่ในแนวทางและบรรยากาศของรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย อันยึดโยงกับประชาชน"

นปช. เสนอว่า การแก้ไขปัญหาให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติสุขต้องสร้างการยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบโลกเสรีประชาธิปไตยและกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองต่าง ๆ ต้องสร้างนิติรัฐนิติธรรมบนพื้นฐานความเท่าเทียมของคน ต้องมีการปรองดองตามหลักการและทำให้ความจริงปรากฏ และต้องเยียวยาผู้สูญเสียในอดีตอย่างเหมาะสมในด้านต่างๆ

รวมทั้งคดีความตลอดจนการลดเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคต เพื่อระงับความขัดแย้งรุนแรงในอนาคตเราเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนจากอำนาจประชาชนและยกเลิกประกาศ คำสั่ง ระเบียบ ที่เกิดจากคณะรัฐประหารทุกฉบับที่ยังมีผลใช้อยู่ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปบรรดากฎหมายที่ขัดหลักนิติธรรมและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการปรองดองตามหลักการรวมทั้งกองทัพ และ คสช.
พลเอกประวิตร ยันทุกคำสั่งของ คสช. เปรียบเหมือนกฎหมาย ไม่สามารถยกเลิกได้

ด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุยังไม่ทราบข้อเสนอของ นปช.ที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 44 และทุกคำสั่งของ คสช.โดยระบุว่าคำสั่งก็คือคำสั่ง ทุกประกาศของ คสช.เปรียบเหมือนกฎหมายที่บังคับใช้ไปแล้ว ซึ่งกระทำเพื่ออนาคตให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และอะไรที่เป็นกฎหมายไปแล้วก็ไม่สามารถยกเลิกได้

ส่วนการเสนอว่าการปฏิรูปประเทศควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น พลเอกประวิตร ระบุว่าคสช.เป็นเพียงผู้ดำเนินการเริ่มต้นในระยะแรกเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการต่อ ในด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง คสช.ทำได้แค่ไหนก็ทำเท่านั้นไม่ได้คิดที่จะทำตลอด ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศ



ที่มาจาก: ประชาชาติออนไลน์ , สำนักข่าวไทย 1, 2

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.