13th: ภาพยนตร์ตีแผ่การจับคนผิวดำไปเป็นทาสยุคใหม่ในสหรัฐอเมริกา


Posted: 15 Mar 2017 12:03 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)



ระบบทาสได้สิ้นสุดอย่างเป็นทางการเมื่อ 150 ปีที่แล้ว แต่เอวา ดูเวอร์เนต้องการให้คุณเห็นอีกแง่มุมหนึ่งต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมซึ่งได้ยกเลิกมัน

ภาพยนตร์สารคดีของเธอที่มีชื่อว่า “13th” คือการตีแผ่อย่างทรงพลังที่ว่าระบบการใช้แรงงานในคุกยุคใหม่นั้นเป็นอย่างไร ภาพยนตร์ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกผ่านเน็ตฟลิกซ์และในโรงภาพยนตร์บางโรงเมื่อวันศุกร์ได้สะท้อนถึงความจริงอันเปี่ยมด้วยอารมณ์และสอดคล้องกับยุคสมัยซึ่งอยู่ในช่วงเหตุการณ์สำคัญคือการเลือกตั้ง (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ – ผู้แปล) และขบวนการชีวิตคนดำก็มีค่า (Black Lives Matter movement)

“13th” ได้รับการยืนปรบมือเพื่อเป็นเกียรติจากผู้ชมเมื่ออาทิตย์ที่แล้วในเทศกาลภาพยนตร์นิวยอร์ก มันกลายเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกที่นำออกฉายเพื่อเปิดเทศกาลอันทรงเกียรติดังกล่าว ชื่อของภาพยนตร์หมายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 อันนำไปสู่การยกเลิกระบบทาสอย่างเป็นทางการ แต่ ดูเวอร์เนเน้นไปที่บทยกเว้นของการแก้ไขดังกล่าวซึ่งระบุว่า ระบบทาสและการตกเป็นทาสผู้อื่น (Servitude) อย่างไม่เต็มใจนั้นผิดกฎหมายเว้นแต่ว่าจะเป็นการลงโทษจากกรณีอาชญากรรม

ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ดูเวอร์เนกล่าวว่าตอนแรกเธอตั้งใจจะสร้างสารคดีซึ่ง “ศึกษาความคิดที่ว่าบริษัททั้งหลายหารายได้เป็นล้านๆ ดอลลาร์จากระบบการลงทัณฑ์มนุษย์” แต่สารคดีก็ได้นำมาสู่บทสนทนาร่วมสมัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เกี่ยวกับระบบยุติธรรมทางอาญาและการยิงชาวอเมริกันผิวดำจนเสียชีวิตจากตำรวจ

“ขณะที่ฉันได้ลงลึกไป (ในอุตสาหกรรมแรงงานในคุก) ฉันพบว่าคุณไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวอย่างเต็มที่โดยปราศจากการระบุบริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของมัน” ดูเวอร์เนกล่าว บริบททางวัฒนธรรมก็คือ “ชีวิตคนดำก็สำคัญ” อันเป็นแนวคิดอันชัดเจนใน “13th” เสียก่อนที่จะอ้างอิงถึงชื่อขบวนการเสียอีก

สารคดีประกอบด้วยบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น เจลานี คอปป์แห่งสำนักข่าวนิวยอร์กเกอร์, เองเจลา เดวิส นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง ,นิวต์ กิงริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร , เฮนรี หลุยส์ เกตส์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด, ส.ส.ชาร์ลส์ บี แรงเกตแห่งนิวยอร์กจากพรรคเดโมแคต เป็นต้น

ดูเวอร์เนกล่าวว่าเน็ตฟลิกซ์ได้ทาบทามเธอเกี่ยวกับการทำโปรเจคเครือข่ายการถ่ายทอดทางอินเทอร์เน็ต ภายหลังจากเธอสิ้นสุดการถ่ายทำภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จคือ “Selma” ผลกระทบจากการที่มนุษย์ถูกคุมขังนั้นอยู่ในความสนใจของผู้กำกับหญิงคนนี้เป็นเวลานานและมักปรากฏโฉมอยู่บ่อยครั้งในงานของเธอ ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของดูเวอร์เนคือ “Middle of Nowhere” ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์เมื่อปี 2012 คือเรื่องของผู้หญิงที่ต้องต่อสู้เพื่อสามีซึ่งถูกคุมขังกว่า 8 ปี

ตัวละครตัวหนึ่งใน “Queen Sugar” ละครทางโทรทัศน์ของดูเวอร์เน ซึ่งถูกนำออกฉายเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้วในช่อง Own คืออดีตนักโทษซึ่งประวัติทำให้เขาหางานทำได้ยากและทำให้มีความขัดแย้งในความสัมพันธ์กับครอบครัวของตัวเอง พี่สาวของเขาคือโนวาซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ได้อุทิศงานของตัวเองในการเปิดโปงอคติทางเชื้อชาติในระบบยุติธรรมของรัฐลุยเซียนา

แต่ก็มีความหลักแหลมใน “13th” ซึ่งเริ่มต้นด้วยเสียงของประธานาธิบดีโอบามาที่รำพึงขณะกล่าวคำปราศรัยในการประชุมระดับประเทศของสมาคมแห่งชาติสำหรับความก้าวหน้าของคนสีผิว (NAACP) ที่ว่า “สหรัฐฯ มีประชากรร้อยละ 5 ของประชากรโลกแต่มีนักโทษกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนนักโทษทั้งโลก” ดูเวอร์เนได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์อย่างรวดเร็วระหว่างสถิติอันน่าตื่นตาตื่นใจและช่วงภายหลังสงครามกลางเมืองนั่นคือบทสั้นๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 13 ได้ยินยอมให้ทางภาคใต้บูรณะเศรษฐกิจผ่านแรงงานของชาวคุก คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาถูกจับเป็นจำนวนมากและมักด้วยคดีเล็กๆ น้อยๆ “มันคือการพุ่งขึ้นของจำนวนคุกเป็นครั้งแรกของในประเทศเรา” มิเชล อเล็กซานเดอร์ ผู้เขียนหนังสือ “The New Jim Crow” ได้อธิบายในภาพยนตร์

“13th” ถือว่าภาพยนตร์เมื่อปี 1915 ของ ดี. ดับเบิลยู.กริฟฟิทคือ The Birth of a Nation นั้นสนับสนุนการสร้างภาพอันหลอกลวงแต่ยาวนานของคนผิวดำว่าเป็นอาชญากร สารคดียังได้นำเสนอสหรัฐฯในช่วงหลายทศวรรษของการประชาทัณฑ์ ความรุนแรงอันเกี่ยวกับเชื้อชาติและกฎหมายจิม โครว์ซึ่งนำไปสู่ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง

ดังสารคดีได้แสดงถึงจำนวนที่พุ่งสูงขึ้นของนักโทษในสหรัฐฯ (จาก 357,292 ในปี 1970 มาสู่ 2,306,200 ในปี 2014) ดูเวอร์เนได้สำรวจ “กฎหมายและระเบียบ” (law and order) อันเป็นวาทกรรมที่ถูกทำให้เป็นที่นิยมโดยริชาร์ด นิกสันและโรนัลด์ เรแกนในช่วงปลายทศวรรษที่ 60 อันเป็นความกลัวแบบผิดๆ ในการสร้างความชอบธรรมสำหรับความรุนแรงต่อนักกิจกรรมของพรรคแบล็คแพนเตอร์ (รวมไปถึงผู้นำเขตชิคาโกซึ่งถูกสังหารโดยตำรวจในปี 1969) และความแตกต่างทางเชื้อชาติในคำพิพากษาเกี่ยวกับคดียาเสพติดในช่วงโคเคนผงกำลังระบาดหนัก

“13th” ยังแสดงถึงภาพเก่าๆ ของผู้สมัครของพรรครีพับลิกันคือโดนัลด์ ทรัมป์ได้พูดถึงกรณี Central Park jogger อันอื้อฉาว นั่นคือวัยรุ่นชาวลาตินอเมริกาและชาวผิวดำ 5 คนถูกตัดสินจำคุกจากคดีข่มขืนและทำร้ายร่างกายนักวิ่งสาวอย่างทารุณเมื่อปี 1989 แต่หลักฐานจากการตรวจดีเอ็นเอในเวลาต่อมาได้พิสูจน์ว่าพวกเขาบริสุทธิ์ กรณีนี้ทำให้ทรัมป์ออกโฆษณาเต็มหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เดลลีนิวส์เพื่อเรียกร้องให้รัฐนิวยอร์ก “นำกฎหมายประหารชีวิตกลับมาอีกครั้ง”

“13th” ได้นำเสนอวาทกรรมในช่วงหาเสียงอันอื้อฉาวของผู้สมัครจากพรรคริพับลิกันผู้นี้สลับไปกับภาพของชาวอเมริกันผิวดำซึ่งถูกเล่นงานโดยเครื่องฉีดน้ำความแรงสูงและตำรวจสุนัขในช่วงการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง แต่คู่แข่งจากพรรคเดโมแครตของทรัมป์เองก็ไม่รอดในสารคดีเช่นกัน โดยภาพยนตร์เน้นคำกล่าวอันอื้อฉาวของนางฮิลลารี คลินตันในปี 1996 เกี่ยวกับ “อภิมหานักล่าเหยื่อ” (super predators) ขณะกำลังสนับสนุนกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมในปี 1994 ของนายบิล คลินตัน

ภาพยนตร์ยังสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับ American Legislative Exchange Council (ALEC) หรือกลุ่มสร้างนโยบายหัวอนุรักษ์นิยมซึ่งได้นำเสนอกฎหมายต้นแบบสำหรับบรรดาสมาชิกรัฐสภาของรัฐ รวมไปถึงกฎหมายซึ่งเอื้อต่อคุกที่สร้างรายได้ให้รัฐ ดูเวอร์เนกล่าวว่าเธอได้เรียนรู้เกือบทั้งหมดจากช่วงๆ นี้ในสารคดี “ความจริงที่ว่ากฎหมายของเราจำนวนมากไม่ได้มาจากสมาชิกรัฐสภา ... นั้นสำหรับฉันดูน่ากลัวมาก” ดูเวอร์เนกล่าว

หนึ่งในส่วนซึ่งเปี่ยมด้วยอารมณ์มากที่สุดของสารคดีแสดงภาพวิดีโอของผู้ชายและผู้หญิงผิวดำซึ่งไร้อาวุธถูกสังหารโดยตำรวจ “13th” ได้โยงความสัมพันธ์ระหว่างวิดีโอกับภาพซึ่งถูกนำเสนอก่อนหน้านั้นคือภาพการประชาทัณฑ์คนผิวดำอย่างโหดเหี้ยม ภาพโลงศพที่เปิดอ้าของเอ็มเมต ทิลล์(1) รวมไปถึงภาพเคลื่อนไหวของคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาซึ่งถูกโจมตีในช่วงเรียกร้องสิทธิพลเมือง....

ดูเวอเนกล่าวว่าเธอหวังว่าภาพยนตร์จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนได้ “ใคร่ครวญอย่างแท้จริงถึงความคิดและความรู้สึกของพวกเขา” ว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันที่กักขังคนจำนวนมหาศาลอย่างไร ดูเวอร์เนกล่าวว่าเธอนั้นภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ว่าภาพยนตร์ออกฉายเป็นครั้งแรกผ่านเน็ตฟลิกซ์ซึ่งทำให้เข้าถึงคนดูได้มากขึ้น “ความคิดที่ว่าชาวบ้านจะสามารถดูมันเมื่อไรหรือที่ใดก็ได้ มันช่างมีพลังนะ” เธอกล่าว





เชิงอรรถ

(1) เด็กชายผิวดำวัย 14 ปีซึ่งถูกประชาทัณฑ์จนเสียชีวิตจากการที่เขาไปทำท่ากรุ่มกริ่มกับผู้หญิงผิวขาว ที่รัฐมิสซิสซิปปี ในปี 1955 ผู้กระทำความผิดต่างถูกยกฟ้องโดยศาล และมารดาของเขาได้ให้โลงศพของเขาเปิดอยู่ตลอดเวลาในงานศพเพื่อแสดงถึงความโหดเหี้ยมของคนผิวขาว


หมายเหตุ: แปลและเรียบเรียง จากบทความ “Ava DuVernay’s Netflix film ’13th’ reveals how mass incarceration is an extension of slavery” เขียนโดยเบโธนี บัตเลอร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2016

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.