เนเธอร์แลนด์ขวาหัน? ลุ้น 'วิลเดอร์ส' จะชนะเลือกตั้ง 15 มี.ค.หรือไม่

Posted: 11 Mar 2017 08:55 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สื่อตะวันตกวิเคราะห์ เคียร์ต วิลเดอร์ส นักการเมืองขวาชาตินิยม ผู้สร้างโวหารเหยียดมุสลิม หรือที่สื่อเรียก 'ทรัมป์แห่งเนเธอร์แลนด์' จะชนะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้หรือไม่ หรือจริงๆ แล้วเนเธอร์แลนด์อาจมีระบบการเมืองที่แตกต่างออกไป รวมถึงวีลเดอร์สเองก็อาจอยากเป็นแค่ 'ตัวป่วน' ทางการเมือง


มาร์ก รุท (Mark Rutte) (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ผู้นำพรรค VVD
และเคียร์ต วิลเดอร์ส (Geert Wilders) (ขวา) ผู้นำพรรคขวาจัดแบบประชานิยม PVV
(ที่มา: Rijksvoorlichtingsdienst/Flickr และ Metropolico.org)

ในศึกการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 มี.ค.ที่จะถึงนี้ที่เนเธอร์แลนด์ มีการจับตามองว่า เคียร์ต วิลเดอร์ส นักการเมืองฝ่ายขวาผู้ที่สื่อบางแห่งเทียบเขาเป็น "โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งเนเธอร์แลนด์" จะสามารถชนะการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ในยุคสมัยที่ชาติตะวันตกดูเหมือนจะขวาหันจากผลการโหวต 'เบร็กซิต' (Brexit) และการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ

เคียร์ต วิลเดอร์ส เป็นนักการเมืองจากพรรคปาร์ตีฟอร์ฟรีดอมหรือพีวีวี (PVV) เขาเป็นผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็น "เสรีนิยมฝ่ายขวา" แต่สื่อบางแห่งก็เรียกเขาว่าเป็นพวก "ขวาจัด" ในเนเธอร์แลนด์มีทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนเขาและกลุ่มคนที่ต่อต้านเขา โดยที่วิลเดอร์สเป็นที่รู้จักดีในฐานะคนที่ชอบแสดงความคิดเห็นวิพากษ์อิสลาม เขาเคยถูกฟ้องร้องว่ายุยงให้เกิดความเกลียดชังต่อเชื้อชาติหลังหาเสียงต่อต้านชาวโมร็อกโกในเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 2557

ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเนเธอร์แลนด์วันที่ 15 มี.ค. นี้ ถึงแม้ผลโพลล์จะระบุว่าวีลเดอร์สมีคะแนนนิยมนำนักการเมืองอื่นๆ แต่วอชิงตันโพสต์ก็วิเคราะห์ว่ามีหลายปัจจัยที่นักชาตินิยมผู้นี้อาจจะไม่ชนะการเลือกตั้ง

วอชิงตันโพสต์ระบุถึงสิ่งที่ทำให้วีลเดอร์สถูกเปรียบเทียบกับทรัมป์จากกรณีที่เขาเคยเปรียบเทียบว่ามัสยิดเป็นเสมือน "ศาสนสถานนาซี" รวมถึงมีจุดยืนต่อต้านผู้อพยพจากกลุ่มประเทศอิสลาม วีลเดอร์สยังเคยชื่นชมชัยชนะของทรัมป์และนโยบายกีดกันการเดินทางของทรัมป์ด้วย

วีลเดอร์สยังอาศัยช่องทางสื่อฝ่ายขวาอย่าง Breitbart รวมถึงเว็บไซต์ของพรรคพีวีวีและบล็อกของตัวเองในการแสดงความคิดเห็นของเขาในท่วงทำนองเดียวกับที่ทรัมป์แสดงความคิดเห็นของตัวเองในทวิตเตอร์ อีกทั้งยังใช้วิธีรีทวีตหรือทวีตซ้ำความคิดเห็นของคนที่กล่าวถึงเขาอย่างชื่นชมเช่นเดียวกับทรัมป์ด้วย

อย่างไรก็ตามวอชิงตันโพสต์ก็ระบุว่าระบบการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ทำให้เป็นการยากที่ตัวบุคคลจะชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากอย่างเดียว

เนื่องจากประชากรชาวดัทช์ 13 ล้านคนไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้กับนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีโดยตรงและไม่ได้ลงคะแนนเลือกตัวแทนที่เป็นตัวบุคคลคนเดียวต่อเขต จากการที่มีการแบ่งจำนวนที่นั่งในสภาตามสัดส่วนของคะแนนโหวตโดยรวมของพรรคในระดับชาติ จากการที่เนเธอร์แลนด์มีที่นั่งในสภาสูงสุด 150 ที่นั่งทำให้ระบบการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์เป็นระบบที่เน้นสัดส่วนมากที่สุด

ในการเลือกตั้งวันที่ 15 มี.ค. ที่จะถึงนี้เนเธอร์แลนด์พรรคให้เลือกมากถึง 28 พรรค จึงมีการประเมินว่ามีราว 11-15 พรรค เท่านั้นที่จะได้ที่นั่งในสภา

หลังจากที่มีการแบ่งส่วนที่นั่งในสภาแล้วผู้แทนในสภาจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร แต่การที่จะได้รับการสนับสนุนจากส.ส. อย่างน้อยครึ่งหนึ่งในสภาคือ 75 ราย หัวหน้าพรรคการเมืองจะต้องทำข้อตกลงนโยบายและเสนอชื่อแต่งตั้งรัฐบาลให้พรรคอื่นๆ ด้วย โดยการหารือในเรื่องนี้โดยเฉลี่ยแล้วกินเวลาถึง 3 เดือน

มีการประเมินอีกว่าเป็นไปได้ที่จะมีแค่ 2 พรรคการเมืองเท่านั้นที่จะได้รับที่นั่งในสภามากกว่า 20 ที่นั่ง คือพรรคพีวีวีของวีลเดอร์ส และพรรคฟรีดอมแอนดเดโมเครซีหรือวีวีดี (VVD) ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์มีจุดยืนสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ แต่การจะจัดตั้งรัฐบาลได้ต้องอาศัยพรรคอื่นๆ เป็นแนวร่วมและการสนับสนุน แต่มีความเป็นไปได้สูงมากที่พรรคใหญ่อื่นๆ ในเนเธอร์แลนด์จะปฏิเสธไม่ยอมร่วมมือกับพีวีวี

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเนเธอร์แลนด์ มาร์ค รุตต์ แห่งพรรควีวีดี มีพรรคที่เขาอยากให้ร่วมมือด้วยอยู่แล้วคืออดีตพันธมิตรพรรคตั้งแต่ปี 2553 อย่างพรรคคริสเตียนเดโมเครติคอะไลอันซ์หรือซีดีเอ (CDA) และพรรคสายก้าวหน้าอย่าง D66 ที่สนับสนุนการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การให้คนเลือกจบชีวิตอย่างไม่เจ็บปวดได้ การค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย และการปลูกกัญชา ซึ่งทั้งสองพรรคหลังในปัจจุบันเป็นพรรคขนาดกลาง โดยพรรคแนวร่วมเหล่านี้มีพันธกรณีต่อการสร้างงานเพิ่มมากขึ้น

อีกพรรคหนึ่งที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเนเธอร์แลนด์คือพรรคแรงงานหรือพีวีดีเอ (PvdA) วอชิงตันโพสต์ประเมินว่าพรรคนี้จะแพ้การเลือกตั้งอย่างมโหฬาร มีผลโพลล์ระบุว่าฝ่ายผู้สนับสนุนพรรคแรงงานผิดหวังที่พรรคแรงงานยอมรอมชอมกับพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างวีวีดีหลังจากทำงานด้วยกันในรัฐบาล 5 ปี นอกจากนี้ยังมีพรรคฝ่ายซ้ายอีก 2 พรรคคือพรรคกรีนและพรรคสังคมนิยมที่ต่อต้านอียูและต่อต้านโลกาภิวัตน์ได้รับการประเมินว่าน่าจะไปได้ดีในการเลือกตั้งครั้งนี้

วอชิงตันโพสต์ประเมินความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นสามทาง หนึ่ง คือได้รัฐบาลเป็นกลุ่มแนวร่วมที่ต่อต้านทั้งรุตต์และวีลเดอร์สจากพรรคการเมืองอย่างน้อย 6 พรรค สอง คือรุตต์ถอนคำมั่นก่อนหน้านี้แล้วนำวีลเดอร์สเข้าร่วมรัฐบาล สาม คือรุตต์เสนอจัดตั้งรัฐบาลพรรคแนวร่วมอนุรักษ์นิยมที่ได้คะแนนเสียงมากพอจนไม่ต้องพึ่งพรรคพีวีวี
แม้ไม่ชนะการเลือกตั้ง ก็ส่งอิทธิพลไปแล้วก่อนการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามวอชิงตันโพสต์มองว่าไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร เนเธอร์แลนด์ก็มีแนวโน้มเปลี่ยนไปในทางชาตินิยม การใช้โวหารชาตินิยมของพรรคพีวีวีส่งอิทธิพลทำให้พรรคอื่นทำตาม โดยที่สมาคมนักกฎหมายของเนเธอร์แลนด์เปิดเผยว่าพรรคการเมืองพรรคใหญ่ทั้ง 5 พรรคต่างก็แสดงออกในเชิง "กีดกันอย่างเปิดเผย" ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคซีดีเอที่แง้มว่าจะออกจากสหภาพยุโรป พรรคแรงงานที่หัวหน้าพรรคเรียกร้องให้ "ภาคภูมิใจในความเป็นเนเธอร์แลนด์อีกครั้ง"

พรรควีวีดีในช่วงที่เป็นรัฐบาลก็ออกกฎหมายจำกัดการปกคลุมศีรษะในที่ต่างๆ อย่างโรงเรียน ขนส่งสาธารณะ สถานพยาบาล และอาคารรัฐบาล รุตต์ยังเสนอว่าจะออกกฎเข้มงวดขึ้นกับเรื่องผู้อพยพด้วย

ทั้งนี้ยังมีเรื่องของผลโพลล์ในเนเธอร์แลนด์ที่ทำให้คาดเดาไม่ได้จากในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วพรรคสังคมนิยมมีคะแนนนำในโพลล์แต่คะแนนการเลือกตั้งได้ที่ 4 นอกจากนี้ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้มีประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ร้อยละ 6.6 แต่พวกเขาไม่ชอบพรรควีวีดีที่เป็นพรรคกระแสหลักเลย มีนักวิจัยมองว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์เข้าใจความซับซ้อนของระบบการเมืองของพวกเขาดีและจะเลือกตั้งโดยคำนึงถึงเรื่องนี้จึงเป็นสาเหตุให้การสนับสนุนพรรคสังคมนิยมและพรรคพีพีวีลดลงในการเลือกตั้งปี 2555

วอชิงตันโพสต์สรุปว่าไม่ว่าวีลเดอร์สจะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเนเธอร์แลนด์หลังการเลือกตั้งนี้ด้วยหรือไม่ เขาก็ได้รับชัยชนะในการต่อสู้ทางความคิดไปแล้ว แต่ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่ากระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นในอังกฤษและสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ด้วยหรือไม่
หรือเป็นนักการเมืองสายประท้วงมากกว่าอยากอยู่ในสภา?

ถึงแม้ว่าฝ่ายขวาในต่างประเทศจะอ้างใช้แนวคิดชาตินิยมจัดในการหาเสียงให้ตัวเองแต่ส่วนหนึ่งพวกเขาแสดงออกให้ตัวเองดูเหมือนว่ากำลังต่อต้านชนชั้นนำทางการเมืองด้วย วีลเดอร์สก็เป็นหนึ่งในนั้น อ้างว่าจะประกาศอิสรภาพจาก "พวกชนชั้นนำในกรุงเฮก" แต่ขณะเดียวกันก็ให้สัญญาว่าจะทำให้ประเพณีนิยมแบบยิว-คริสเตียน กลับมามีอำนาจนำในรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์

วีลเดอร์สยังถูกมองว่าเป็นพวก "ป่วน" การถกเถียงทางการเมืองของเนเธอร์แลนด์ในแบบที่ทรัมป์เคย "ป่วน" สหรัฐฯ แต่บทความในสื่อเดอะการ์เดียนก็ระบุว่ามันเป็นแค่เรื่องภายนอกเท่านั้น ขณะที่ทรัมป์เข้าสู่การเมืองสหรัฐฯ ในแบบ "คนนอก" วีลเดอร์สอยู่ในสภาเนเธอร์แลนด์มา 19 ปีแล้ว

เดอะการ์เดียนระบุถึงประวัติของวีลเดอร์สว่าเป็นคนที่เกิดและเติบโตในเมืองเวนโล ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมในจังหวัดลิมบูร์กที่มีศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกมีอิทธิพล พ่อของเขาเคยเป็นคนที่ต้องหนีไปซ่อนตัวในช่วงที่นาซียึดครองเนเธอร์แลนด์ แม่ของเขาก็เกิดในครอบครัวอาณานิคมดัทช์อีสต์อินดีที่ปัจจุบันเป็นประเทศอินโดนีเซีย พอลพี่ชายของเขาเคยบอกกับสื่อเยอรมนีเดอสปีเกลว่าวีลเดอร์สในช่วงวัยรุ่นเป็นคน "เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและก้าวร้าว"

ในทางการเมืองวีลเดอร์สเข้าสู่การเมืองโดยการเป็นสมาชิกพรรควีวีดีก่อนแต่อยู่ในสายของพวกฝ่ายขวาที่ไม่ไว้ใจสหภาพยุโรปเขาเข้าสู่สภาได้ในปี 2541 และออกนโยบายตัดสวัสดิการผู้คนที่ลางานด้วยสาเหตุทางจิตเวช วีลเดอร์สเริ่มสวมบทบาทของนักการเมืองต่อต้านมุสลิมต่อจากพิม ฟอร์ไตน์ หลังจากที่ฟอร์ไตน์ถูกยิงเสยชีวิตโดยนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2545

ในปี 2553 พรรคพีวีวีชนะที่นั่งในสภาได้ 24 ที่นั่ง แต่วีลเดอร์สปฏิเสธไม่ร่วมจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคเดิมของเขาคือวีดีดีที่นำโดยรุตต์ แต่ยอมเป็นพวกพรรคแนวร่วมเสียงข้างน้อยในสภาเพื่อแลกกับการมีปากเสียงในนโยบายที่เกี่ยวกับผู้อพยพและการรับผู้ลี้ภัย แต่หน้าท่ต่างๆในการดูแลเรื่องผู้อพยพแลัผู้ลี้ภัยกลับตกไปอยู่ในมือของเกิร์ด เลียร์ แห่งพรรคซีดีเอ ซึ่งเลียร์เองก้มองว่าตัวเขาถูกเอามาสกัดกั้นวีลเดอร์ส

ในช่วงหลายปีมานี้วีลเดอร์สก็เริ่มเพิ่มความหนักข้อในโวหารแบบต่อต้านมุสลิมมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นเสนอให้สั่งห้ามทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอิสลามทั้งมัสยิด โรงเรียนศาสนาอิสลาม คัมภีร์อัลกุรอาน และยับยั้งไม่ให้มีผู้อพพยพชาวมุสลิมเข้าประเทศ

แต่ในอีกมุมหนึ่งฟิลิป วอง ปราก ศาตราจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมก็มองว่าวีลเดอร์สมีสไตล์ทางการเมืองและการอภิปรายที่หลุดกรอบออกมาจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ แล้วพรรคการเมืองอื่นๆ ก็เริ่มปรับจุดยืนตามวีลเดอร์สไปบ้างไม่มากก็น้อยในกรณีเรื่องผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และการเรียนภาษาดัทช์

อย่างไรก็ตามพรรคของวีลเดอร์สไม่มีโครงสร้างที่เป็นทางการ ในพรรคมีเขาเป็นสมาชิกอยู่คนเดียว และไม่ค่อยปรากฏในการเลือกตั้งท้องถิ่น นักการเมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเขาก็เป็นไปในลักษณะตื้นๆ ทำให้เดอะการ์เดียนมองว่าถึงแม้วีลเดอร์สจะได้รับความนิยมแต่ก็ไม่สามารถสร้างการเคลื่อนไหวแบบทรัมป์ได้ อาจจะเป็นเหตุผลหนึงที่ทำให้วีลเดอร์สดูเหมือนเป็นนักการเมืองสายประท้วงมากกว่าจะต้องการเข้าไปอยู่ในสภาจริงๆ

เดอะการ์เดียนประเมินว่าถึงแม้ว่าวีลเดอร์สจะได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงที่เขาถูกตัดสินคดีเหยียดเชื้อชาติเพราะชาวดัทช์เชื่อว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเขา อย่างไรก็ตามในการสำรวจล่าสุดพบว่าข้อได้เปรียบตรงนี้ของวีลเดอร์สไม่มีอยู่แล้ว เขาอาจจะไม่ได้คะแนนอยู่ในสองอันดับแรกด้วยซ้ำ เขาคงจะได้รับบทบาทเป็นตัวนำฝ่าย "ป่วน" การเมืองต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.