ผู้คิดค้น 'เวิร์ลไวด์เว็บ' ชี้ 3 ปัญหาต้องแก้ไข-เพื่อให้อินเทอร์เน็ตกลับมารับใช้มนุษย์

Posted: 15 Mar 2017 08:22 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี ผู้คิดค้นระบบเวิร์ลไวด์เว็บ (WWW) ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลเชื่อมต่อกันได้ทางอินเทอร์เน็ตเขียนบทความถึงวิกฤตปัญหา 3 ประการที่อินเทอร์เน็ตกำลังเผชิญ เรื่องแรกคือคนเรากำลังสูญเสียการควบคุมข้อมูลส่วนตัว เรื่องที่สองคือการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ผ่านทางเว็บทำได้ง่ายมาก และเรื่องนี้สามคือการโฆษณาทางการเมืองควรจะมีความโปร่งใสและสร้างความเข้าใจมากกว่านี้


ทิม เบอร์เนอร์ส ลี ที่มูลนิธิ World Wide Web Foundation
ที่มา: Scott Henrichsen/John S. and James L. Knight Foundation/Wikipedia

15 ก.พ. 2560 เบอร์นเนอร์ส-ลี ผู้คิดค้นระบบเวิร์ลไวด์เว็บ (WWW) เขีบนในบทความระบุว่าเป็นเวลา 28 ปีมาแล้วที่เขาได้นำเสนอเกี่ยวกับระบบเวิร์ลไวด์เว็บโดยที่จินตนาการว่าผู้คนทุกคนจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้จากทุกที่และมีโอกาสเข้าถึงข้อมูล เข้ามามีส่วนร่วมได้ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนวัฒนธรรมใด

เบอร์นเนอร์ส-ลี ระบุว่าแม้ในหลายๆ แง่เว็บไซต์ต่างจะตอบสนองในเรื่องดังกล่าวได้ แต่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเขาก็เป็นกังวลว่ามีเรื่อง 3 เรื่องที่ต้องแก้ไขเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเพื่อให้มันกลับมาเป็นเครื่องมือรับใช้มนุษย์ทุกผู้ทุกนามได้

ปัญหาประการที่ 1 พวกเราสูญเสียการควบคุมข้อมูลส่วนตัวของพวกเรา


ผู้คิดค้นระบบเวิร์ลไวด์เว็บระบุถึงโมเดลทางธุรกิจของเว็บไซต์จำนวนมากที่บริการเนื้อหาฟรีแต่ต้องแลกมาด้วยการให้ข้อมูลส่วนตัวกับพวกเขา ผู้ใช้มักจะทำข้อตกลงผ่านเอกสารข้อตกลงและเงื่อนไขที่ยาวและดูน่าสับสน แต่หลักๆ แล้วผู้ใช้ก็มักจะไม่คิดอะไรมากถ้าข้อมูลของตัวเองบางส่วนถูกเก็บไปเพื่อแลกกับบริการฟรี แต่สิ่งที่ผู้คนไม่ทันคิดคือ การปล่อยให้ข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาถูกเก็บอยู่ในที่ๆ เรามองไม่เห้น ทำให้เราสูญเสียการควบคุมข้อมูลตัวเองไปในแง่ว่าจะแชร์ใครและแชร์เมื่อไหร่ นอกจากนี้เรายังเรียกร้องกับบริษัทต่างๆ ไม่ได้ด้วยว่าข้อมูลไหนที่เราไม่อยากแชร์บ้าง

เบอร์นเนอร์ส-ลี ระบุอีกว่าการเก็บข้อมูลของพวกเรายังอาจจะถูกบริษัทหรือรัฐบาลนำไปใช้ในเชิงการจับตามองพวกเราและออกกฎหมายสุดโต่งที่จะเหยียบย่ำสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิด้านอื่นๆ ของพวกเรา ในกรณีที่เป็นรัฐบาลกดขี่ข่มเหงอาจจะถึงขั้นมีการจับกุมหรือใช้ความรุนแรงกับคนที่รัฐบาลมองว่าเป็นศัตรูทางการเมือง หรือแม้กระทั่งกับรัฐบาลที่ไม่ได้โหดร้ายมากเท่าการจับตามองก็อาจจะส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในแง่ที่ทำให้คนเซนเซอร์ตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้อินเทอร์เน็ตแย่ลงเพราะไม่สามารถกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนในเรื่องสำคัญๆ อย่างสุขภาวะ เพศวิถี หรือศาสนา ได้


ปัญหาประการที่ 2 การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ผ่านทางเว็บทำได้ง่ายมาก

ในยุคที่ผู้คนหันมาเสพข้อมูลข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือเว็บค้นหามากขึ้น การที่เว็บไซต์ต้องการทำเงินจากจำนวนคลิกของเราทำให้พวกเขาต้องการให้ได้รับการแสดงผลผ่านโซเชียลมีเดียได้บ่อยครั้งขึ้น การจะแสดงผลบ่อยครั้งขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียที่มาจากการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เอง ทำให้โซเชียลมีเดียพวกนี้มีแนวโน้มจะนำเสนอลิงค์เว็บไซต์ที่พวกมันคำนวนเอาเองว่าเราจะกดคลิกดู โดยไม่สนใจว่าลิงค์ข่าวเหล่านั้นจะเป็นข่าวปลอมหรือเป็นข้อมูลเท็จหรือไม่ ซึ่งมักจะเป็นเนื้อหาที่แสดงการตื่นตูมเกินเหตุหรือดูน่าประหลาด หรือออกแบบมาเพื่อสอดรับกับอคติของผู้อ่าน และบางครั้งเรื่องหลอกลวงก็แพร่กระจายลามไปทั่วราวกับไฟป่า คนที่คิดไม่ซื่อก็จะใช้ตรงจุดนี้มาเอาเปรียบระบบเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อความได้เปรียบทางการเงินหรือทางการเมืองของตัวเอง


ปัญหาประการที่ 3 การโฆษณาทางการเมืองในโลกออนไลน์ต้องมีความโปร่งใสและสร้างความเข้าใจมากกว่านี้

เรื่องของระบบจัดเรียงข้อมูลหรืออัลกอริทึมจากการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้คนทำให้เบอร์นเนอร์ส-ลี มองว่าเป็นการทำให้การโฆษณาทางการเมืองเป็นอุตสาหกรรมที่ซับซ้อนขึ้น ขณะเดียวกันการจัดการข้อมูลเช่นนี้ก็ทำให้คนรณรงค์ทางการเมืองทำสื่อโฆษณาตั้งเป้าสื่อสารกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยตรงได้ และบางครั้งก็ถูกนำมาใช้ผิดๆ เช่นการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือการสกัดกั้นคนอื่นจากการทำแบบสำรวจ หรือแม้กระทั่งการพูดแบบหนึ่งกับคนกลุ่มหนึ่งแล้วพูดแบบหนึ่งกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นระชาธิปไตยหรือไม่


ขึ้นอยู่กับทุกคนที่จะช่วยปกป้องอินเทอร์เน็ตที่ผู้คนร่วมกันสร้างขึ้นมา

จากปัญหาเหล่านี้ทำให้เบอร์นเนอร์ส-ลีเสนอทางออกว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหลายควรจะช่วยกันเรียกร้องความสามารถในการควบคุมข้อมูลข่าวสารของตัวเองกลับคืนมามาอยู่นมือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีให้ควบคุมข้อมูลส่วนตัวได้หรือการเปลี่ยนวิธีการสร้างรายด้แบบใหม่ อีกทั้งยังต้องช่วยกันต่อสู้กับการออกกฎหมายสอดแนมของรัฐบาล ต้องช่วยกันตอบโต้ข้อมูลลวงต่างๆ และเรียกร้องให้ตัวกลางสื่ออย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กช่วยแก้ปัญหานี้ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้มีการรวมศูนย์การตัดสินใจแค่คนกลุ่มเดียวว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง เบอร์นเนอร์ส-ลีเสนอว่าน่าจะมีความโปร่งใสในด้านการทำอัลกอริทึมมากขึ้นเพื่อให้ผู้คนเข้าใจว่าการตัดสินใจของพวกเขาส่งผลอย่างไรกับชีวิต อีกทั้งควรเพิ่มความโปร่งใสในการรณรงค์ทางการเมืองด้วย

เบอร์นเนอร์ส-ลีระบุว่ามูลนิธิเว็บฟาวน์เดชันที่ต่อสู้เพื่อคุ้มครองการใช้เว็บไซต์ของทุกคนได้วางยุทธศาสตร์ 5 ปีฉบับใหม่เพื่อศึกษาวิจัยปัญหาเหล่านี้ถึงระดับรายละเอียดรวมถึงแสวงหาทางออกนโยบายเชิงรุกเพื่อให้เกิดแนวร่วมสร้างความก้าวหน้าทำให้เว็บไซต์เป็นอำนาจและโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน

แต่ลำพังแค่พวกเขาอย่างเดียวก็คงไม่ประสบความสำเร็จถ้าปราศจากผู้คนที่ใช้เว็บด้วย เบอร์นเนอร์ส-ลีระบุว่าแม้ตัวเขาจะเป็นผู้คิดค้นเว็บแต่สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาทั้งหลายอย่างเว็บล็อก ข้อความทวิต รูปถ่าย วิดีโอ แอพพลิเคชัน และเว็บเพจต่างๆ ล้วนมาจากการร่วมกันสร้างของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนับล้านเองที่ก่อรูปสังคมชุมชนออนไลน์ขึ้นมา นอกจากนี้เป็นประชาชนทั้งหลายเองที่รวมตัวกันต่อสู้กับการพยายามลิดรอนสิทธิการเข้าถึงเว็บไซต์และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประท้วงในไนจีเรียที่ต่อต้านกฎหมายลิดรอนเสรีภาพโซเชียลมีเดีย การลุกฮือประท้วงการปิดอินเทอร์เน็ตบางพื้นที่ในแคเมอรูน การส่งเสริม ความเป็นกลางทางเน็ต (Net neutrality) ในอินเดียและสหภาพยุโรป รวมถึงการจัดตั้งองค์กรอย่าง W3C เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและความมั่นคงทางเทคโนโลยี

"เป็นพวกเราทั้งหมดทั้งมวลที่ร่วมกันสร้างเว็บแบบที่มีอยู่ทุกวันนี้ และในตอนนี้มันก็ขึ้นอยู่กับพวกเราที่จะสร้างเว็บในแบบที่เราต้องการ เว็บ...สำหรับทุกคน" เบอร์นเนอร์ส-ลีระบุในบทความ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.