ความร่วงโรยอุตฯสิ่งทอขนาดกลาง เมื่อบริติชไทยซิน ลอยแพคนงาน กับสัญญาณตั้งแต่ปี45

Posted: 04 Mar 2017 03:42 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

นี้ไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่คาดไม่ถึงแต่อย่างใด เมื่อบริษัทบริติช-ไทยซินเทติคเท็กสไทล์ จำกัด บริษัทขนาดกลางสัญชาติไทย-จีน ตั้งอยู่ที่ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ประกอบกิจการประเภทตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก มีนายเคียน หว่า ถั่ม และนางณิชา ก่อเกษม เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2515 หรือดำเนินการมากว่า 45 ปี ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 100 ล้านบาท และมาเพิ่มทุนจดทะเบียนในปี 2547 เป็น 160 ล้านบาท ต้องปิดตัวลง และเลิกจ้างคนงานจำนวน 107 คน เป็นคนไทย 85 คน แรงงานข้ามชาติจากพม่าอีก 22 คน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป (ทั้งนี้สมัยที่บริษัทแห่งนี้รุ่งเรืองเคยมีคนงานมากถึง 1,000 คน กำลังการผลิต 400,000 ตัว/เดือน) ด้วยเหตุผลว่าบริษัทขาดทุนจนไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวไว้ได้อีกต่อไป และบริษัทจะผ่อนจ่ายเงินค่าชดเชยเป็นจำนวน 8 งวด 8 เดือน โดยเริ่มจ่ายงวดแรกในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงงวดที่ 8 วันที่ 1 พฤษภาคม 2561

คนงานแทบทั้งหมดที่นี่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยกลางคน ที่ต่างก็เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ มี “นิภา มองเพชร” เป็นประธานสหภาพแรงงาน สังกัดกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ที่มีประธานกลุ่ม คือ “สัพพัญญู นามไธสง” องค์กรสมาชิกในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

การเลิกจ้างครั้งนี้ยังมาพร้อมกับความไม่ชัดเจนต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นการปิดประกาศเรื่องการหยุดกิจการของบริษัทไม่มีผู้มีอำนาจลงนาม , รายละเอียดการจ่ายเงินค่าชดเชยเลิกจ้างให้กับลูกจ้าง กระทั่งปิดประตูล็อคอาคารโรงงาน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นี้คือการเลิกจ้างคนงานอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อ 2 มีนาคม 2560 ระบุว่า บริษัทแห่งนี้อยู่ในสถานะ “พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด” ซึ่งแปลว่า “บริษัทแห่งนี้ล้มละลาย” นี้ย่อมแปลว่า อำนาจในการจัดการทรัพย์สินต่างๆของบริษัทแห่งนี้ตกอยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น อีกทั้งไม่นับว่า “ทรัพย์สินทั้งหมดเมื่อนำออกขายแล้ว เมื่อเทียบกับหนี้ที่คงอยู่ก็ยังไม่พอชำระได้เลยด้วยซ้ำ”

(1) โรงงานขาดทุนมา 15 ปีแล้ว ตั้งแต่ 2545

กรมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ในปี 2559 สิ่งทอเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนในการส่งออกต่ำมากและลดลงเรื่อยๆ ต้องเผชิญกับปัญหาการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงความอ่อนแอของกำลังซื้อในตลาดโลก ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความต้องการในการผลิตเครื่องนุ่งห่มของประเทศไทย

เฉกเช่นเดียวกับบริษัทบริติช-ไทยซินเทติคเท็กสไทล์ อย่างน้อยมีข้อมูลเชิงวิชาการที่ยืนยันชัดเจนว่า บริษัทแห่งนี้มีแนวโน้มที่จะต้องปิดตัวเองลงมาตั้งแต่ปี 2545 งานวิชาการเรื่องหนึ่งชื่อว่า “การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจผ้ายืดและเสื้อสำเร็จรูปในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างปี พ.ศ.2545- 2549” ของนางประภาศรี พึ่งบัว มหาวิทยาลัยธนบุรี เผยแพร่เมื่อกรกฎาคม 2551 ระบุชัดว่า

§ บริษัทอยู่ในลักษณะที่ขาดทุน มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมเฉลี่ยประมาณร้อยละ123 สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทมีผลการดำเนินการติดลบเนื่องมาจาก 1) หนี้สินระยะยาวซึ่งยืมมาเพื่อซื้อเครื่องจักร และลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 2) การคำนึงถึงสภาพคล่องมากเกินไป ทำให้ต้องรับภาระค่าดอกเบี้ยจ่ายที่สูง เนื่องจากธุรกิจผ้ายืดและเสื้อสำเร็จรูป ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงมีความสามารถในการทำกำไรได้น้อย

§ บริษัทอยู่ในสภาพที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งไม่สามารถแบกรับสภาวะหนี้สินและการจ่ายดอกเบี้ยได้ ส่งผลต่อความไว้วางใจจากสถาบันการเงินในการให้เงินกู้

§ ในช่วงปี พ.ศ.2545–2546 บริษัทสามารถจัดหาเงินทุนระยะสั้นได้ 210.82 ล้านบาท โดยนำไปใช้เงินทุนระยะสั้น 20.80 ล้านบาท และยังได้นำไปใช้พยุงการขาดทุน 201.70 ล้านบาท

§ ในช่วงปี พ.ศ. 2547–2548 ได้จัดหาแหล่งเงินทุนระยะสั้น 116.67 ล้านบาท จากแหล่งเงินทุนระยะยาว 5.50 ล้านบาท นำไปใช้จ่ายเงินทุนระยะสั้น 37.04 ล้านบาท และได้นำไปชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนถึง 84.40 ล้านบาท

§ ในช่วงปีพ.ศ. 2548–2549 ได้จัดหาแหล่งเงินทุนระยะสั้น 292.59 ล้านบาท และนำไปใช้จ่ายเป็นเงินทุนระยะสั้น 58.71 ล้านบาท และได้นำส่วนเกินจากแหล่งเงินทุนระยะสั้นไปพยุง ผลการดำเนินงานที่ขาดทุน 80.99 ล้านบาท และจ่ายคืนเงินทุนระยะยาว 63.00 ล้านบาท

§ นี้จึงหมายความว่า ได้นำเงินทุนระยะสั้นและเงินทุนระยะยาวไปใช้ในการพยุงผลการดำเนินงานและส่วนเกินได้นำไปใช้คืนเงินทุนระยะยาว ซึ่งจะทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายในด้านดอกเบี้ยค่อนข้างสูงและเสี่ยงต่อการสร้างหนี้ด้วย

§ แนวโน้มของอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทมีอัตราส่วนที่ลดลงระหว่างปี พ.ศ. 2545 – 2549 แสดงว่าแนวโน้มสภาพคล่องของบริษัทลดลงตลอดและยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราส่วนถัวเฉลี่ยของธุรกิจผ้ายืด และเสื้อสำเร็จรูปในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครโดยรวมด้วย

§ บริษัทมีภาวะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างสูง เนื่องจากไม่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ และต้นทุนในการผลิตที่สำคัญอีกอย่าง ก็คือ ต้นทุนทางด้านแรงงาน เพราะธุรกิจนี้ต้องใช้แรงงานค่อนข้างสูง ดังนั้นต้นทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ต้นทุนแรงงาน ถ้าควบคุมการผลิตไม่ดีก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย และค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย เนื่องจากบริษัทมีหนี้สินระยะยาวเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก เนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงิน ทำให้ต้องมีแบกภาระด้านดอกเบี้ยในแต่ละปีสูง และยังต้องมีการคืนเงินต้นทุก ๆ ปี และถ้าทำผิดสัญญาก็ต้องมีเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอีก จึงมีผลทำให้ผลการดำเนินงานขาดทุนอย่างมาก

§ ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีอุปสรรค เพราะว่ามีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ ซึ่งในตลาดยังมีความต้องการใช้สินค้าอยู่ แต่ความสามารถในการทำกำไรค่อนข้างน้อยมาก คือ สามารถทำกำไรขั้นต้นประมาณร้อยละ 10 เป็นปริมาณค่อนข้างต่ำ

§ ปัญหาของธุรกิจทั้งสภาพการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงทั้งในและนอกประเทศ , มีการนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศที่มีราคาต่ำมาก , ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงโดยเฉพาะด้านค่าแรงงาน , สถาบันการเงินมักไม่ให้การสนับสนุนในการขยายตลาด , การดำเนินงานเพื่อก่อให้เกิดกำไรค่อนข้างยาก

นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (สยท.) สรุปว่านี้คือ “การบริหารที่ผิดหลักการอย่างมาก เพราะไปกู้เงินมาจ่ายหนี้ระยะสั้น ยอมเสียดอกเบี้ยเพื่อไปจ่ายหนี้ระยะสั้น ทั้งๆที่การกู้เงินต้องนำมาลงทุน แต่กลับไปใช้หนี้แทน

การลงทุนในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ก็ไม่ทำให้เกิดรายได้เพิ่ม เท่ากับนอนกอดหนี้

เมื่อมาดูงบการเงินปี 2558 ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแจ้งไว้ ก็เห็นว่ามีหนี้สินเกินทุนเกือบ 10 เท่า เป็นหนี้สินหมุนเวียน (ต้องชำระใน 1 ปี) ขายทรัพย์สินทั้งหมดยังไม่พอใช้หนี้

งบกำไรขาดทุนมีรายได้น้อยกว่าต้นทุนขาย ผลิตสินค้าออกมาก็ขาดทุนแล้ว ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขาย บริหาร และดอกเบี้ย ทำให้กำไรสุทธิติดลบ ไม่มีเงินใช้หนี้

มีลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้น 14 % = 83 ล้านบาท แสดงว่าการเรียกเก็บเงินจากการขายสินค้ายากขึ้น มีหนี้สินหมุนเวียน คือ ต้องชำระใน 1 ปี เพิ่มขุึ้น 5 % = 813 ล้าน เงินที่ได้มายังไม่พอใช้หนี้ รายได้จากการขายก็ขาดทุน ส่งผลให้ยอดขาดทุนสะสมมากเกือบ 500 ล้าน"

(2) สัญญาณเตือนภัยบริษัทขึ้นสีแดงเป็นระยะๆ

(2.1) ปี 2554 นายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมจนต้องรับสภาพหนี้กับสำนักงานประกันสังคม

เมื่อปี 2554 สหภาพแรงงานบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ ได้เข้าร้องเรียนสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร กรณีที่นายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม จนทำให้สำนักงานประกันสังคมต้องเรียกทางนายจ้างไปรับสภาพหนี้ และให้ส่งเงินสมทบที่ค้างจ่ายให้ครบ เพราะส่งผลต่อลูกจ้างที่ไม่สามารถขอรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ครบเต็มจำนวน เพราะการค้างจ่ายเงินในส่วนของนายจ้าง ทั้งๆที่นี้คือ ข้อจำกัดของสำนักงานประกันสังคมสมุทรสาครโดยตรง ที่มีข้อบกพร่องที่ยอมปล่อยให้นายจ้างละเมิดกฎหมายไม่นำส่งเงินสมทบตั้งนานหลายปีมาก

(2.1) ปี 2558 ยุบแผนกย้อมผ้า เลิกจ้างคนงาน 79 คน

ต้นพฤศจิกายน 2558 บริษัทได้หยุดงานชั่วคราวและจ่ายค่าจ้างลูกจ้างตามมาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เฉพาะแผนกย้อมเท่านั้น และต่อมา 1 สัปดาห์ต่อมา บริษัทได้แจ้งเรื่องยุบแผนกย้อมทั้งหมด เลิกจ้างคนงานจำนวน 79 คน โดยเป็นพนักงานรายเดือน 20 คน รายวัน 44 คน และแรงงานข้ามชาติ 15 คน โดยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งนี้สหภาพแรงงานมองว่า “ข้อตกลงสภาพการจ้างของสหภาพฯที่ทำไว้ระหว่างสหภาพแรงงานกับบริษัทว่า เมื่อพนักงานเกษียณอายุ 55 ปี บริษัทต้องจ่ายเงินเกษียณอายุเทียบเท่าเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และบริษัทต้องจ่ายเงินพิเศษเพิ่มให้พนักงานที่เกษียณอายุอีก 6 เดือนตามอัตราค่าจ้างสุดท้าย ซึ่งลูกจ้างกลุ่มนี้ที่ถูกเลิกจ้างอายุใกล้เกษียณตามที่สภาพการจ้างกำหนดไว้ ทำให้ต้องถูกเลิกจ้างแบบนี้”

(2.3) กรกฎาคม 2559 นายจ้างให้ลูกจ้างเขียนใบสมัครงานใหม่กับบริษัทแห่งใหม่

เมื่อกรกฎาคม 2559 บริษัทได้ให้ลูกจ้างจำนวน 220 คน เขียนใบสมัครงานใหม่โดยให้ไปเป็นลูกจ้างของบริษัทบอนนิงตั้น จำกัด โดยแจ้งทางวาจาว่าบริษัทบอนนิงตั้น จำกัด จะรับสภาพการจ้างเดิมของลูกจ้างทั้งหมด 220 คน อย่างไรก็ตามลูกจ้าง 220 คนนี้ต้องไปเขียนใบสมัครใหม่ภายในวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2559 และภายในวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2559 เท่านั้น ส่วนลูกจ้างที่ไม่มาเขียนใบสมัครใหม่ ทางบริษัทก็ไม่รู้จะมีงานให้ทำต่อไปหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้นายจ้างไม่มีกล่าวถึงการคุ้มครองแรงงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยสัญญาจ้างแรงงาน หรือไม่แต่อย่างใด

(2.4) ธันวาคม 2559 เลิกจ้างคนงาน 83 คนงาน อ้างประสบภาวะวิกฤติไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจต่อไปได้อีก จ่ายค่าชดเชยแบบแบ่งจ่าย

1 ธันวาคม 2559 บริษัทได้ทยอยเรียกลูกจ้างเข้าไปพบและบอกเลิกสัญญาจ้างลูกจ้างจำนวน 83 คน ทั้งลูกจ้างรายวัน รายเดือน และแรงงานข้ามชาติ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป โดยระหว่างวันที่ 2 -15 ธันวาคม 2559 บริษัทจะจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติ ทั้งนี้บริษัทไม่ได้เรียกคณะกรรมการสหภาพแรงงานเข้าปรึกษาหารือในเรื่องดังกล่าวนี้ โดยแบ่งจ่ายเงินค่าชดเชยเป็น 4 งวด งวดแรกวันที่ 15 ธันวาคม 2559 จ่ายให้ 70 เปอร์เซ็นต์ งวดที่ 2 จ่ายให้ 10 เปอร์เซ็นต์ งวดที่ 3 จ่ายให้ 10 เปอร์เซ็นต์ และงวดที่ 4 จ่ายให้ 10 เปอร์เซ็นต์

(3) กฎหมายคุ้มครองแรงงานประเทศไทย ความไร้ประสิทธิภาพและไม่ใช่ดาบอาญาสิทธิ์

ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่นี้คือความรับผิดชอบของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสมุทรสาคร ที่ย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ในการเข้าไปดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ โดยเฉพาะค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินค้างจ่ายต่างๆนานา เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด แม้ว่าวันนี้ย่อมไม่เห็นฝั่งที่ลูกจ้างจะก้าวข้ามไปถึงก็ตาม ซึ่งในเรื่องนี้ชฤทธิ์ มีสิทธิ กล่าวไว้อย่างชัดเจนและละเอียดมากแล้วในเรื่องนี้ http://aromfoundation.org/2017/เสวนาสิทธิ-ความยุติธรร-2/

อย่างไรก็ตามอีกประเด็นที่สำคัญ คือ วันนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่สามารถเป็นเกราะคุ้มกันภัยให้ลูกจ้าง และเป็นดาบอาญาสิทธ์เอาผิดนายจ้างที่ละเมิดสิทธิแรงงานได้อีกต่อไป โดยเฉพาะการปิดโรงงานกะทันหัน ไม่มีความชัดเจนในการจ่ายชดเชยต่างๆ และส่งผลให้ลูกจ้างต้องตกงานเฉียบพลัน ดังกรณีที่เกิดกับสหภาพแรงงานบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์อยู่ในขณะนี้

เหล่านี้จึงคือจุดอ่อนมากของกฎหมายคุ้มครองแรงงานประเทศไทย ที่ยังถูกใส่ใจ ได้รับการหยิบยกมาพูดถึง และตระหนักกันน้อยมาก

(3.1) นายจ้างไม่ต้องขออนุญาตเลิกจ้างต่อเจ้าหน้าที่รัฐ

เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานประเทศไทย ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีโอกาสเข้าไปควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจในการเลิกจ้างลูกจ้างของนายจ้าง ว่ามีเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเหตุผลอื่นๆใดที่สมควรจริงๆ ซึ่งถ้าหากไม่มีเหตุผลอันสมควรในการเลิกจ้าง เจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีอำนาจที่จะยับยั้งการเลิกจ้างนั้นได้ และเมื่อมีเหตุผลเพียงพอในการปิดกิจการ นายจ้างต้องควรแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 60 วัน ก่อนที่จะเลิกจ้าง เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจที่จะพิจารณาถึงเหตุผลในการเลิกจ้าง และเสนอคำสั่งไปยังอธิบดีเพื่อมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตการเลิกจ้างนั้นได้ต่อไป เช่น กฎหมายของประเทศอังกฤษกำหนดให้มีการแจ้งล่วงหน้าไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้ายจ้างแจ้งล่วงหน้า 21 วัน หากเลิกจ้างเกินกว่า 10 คนขึ้นไป เป็นต้น

(3.2) การเลิกจ้างเป็นการใช้ดุลยพินิจของนายจ้างโดยตรง

เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้กำหนดเหตุอันควรเลิกจ้างไว้ในกฎหมาย ทำให้นายจ้างจึงมักใช้ดุลยพินิจของนายจ้างโดยตรงในการเลิกจ้างลูกจ้าง ดังนั้นควรมีการกำหนดมาตรการกลั่นกรองเหตุผลของการเลิกจ้าง ก่อนที่จะมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นจริง โดยรัฐควรดำเนินการให้มีการออกกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน หรือเกี่ยวข้องกับมูลเหตุของการเลิกจ้าง ซึ่งอาจจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน เข้ามามีอำนาจควบคุมการเลิกจ้างดังกล่าว โดยกำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนที่จะมีการเลิกจ้าง เพื่อให้มีการตรวจสอบมูลเหตุที่แท้จริงของการเลิกจ้างที่นายจ้างอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจ อันจะทำให้การเลิกจ้างเป็นไปโดยมีเหตุอันสมควรอย่างแท้จริง

(3.3) ไม่มีการกำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกจ้างในการหางานใหม่ที่เหมาะสม

ทั้งนี้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 158 กับข้อแนะฉบับที่ 166 ว่าด้วยกรเลิกจ้างโดยนายจ้างเป็นฝ่ายริเริ่ม ในส่วนของการเลิกจ้างเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเหตุผลอื่นที่คล้ายคลึงกัน ได้กำหนดให้นายจ้างควรปรึกษาหารือกับตัวแทนลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผลกระทบที่อาจจะมีขึ้น รวมถึงมาตรการเพื่อขจัดหรือบรรเทาผลกระทบที่อาจจะมีขึ้น เช่น การจัดหางานอื่นให้ลูกจ้างทำ หรือในส่วนของการบรรเทาผลกระทบของการเลิกจ้าง ก็ได้มีการกำหนดให้นายจ้างควรจะช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง หางานใหม่ที่เหมาะสม โดยอาจจะช่วยเหลือในการติดต่อโดยตรงกับนายจ้างอื่นๆเท่าที่จะกระทำได้ แม้ลูกจ้างจะต้องถูกเลิกจ้าง แต่ลูกจ้างอาจจะได้รับความคุ้มครองจากการถูกเลิกจ้างในกรณีดังกล่าวนี้ได้ แม้จะมีโอกาสไม่มากนักก็ตาม ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด

วันนี้ประเทศไทยก้าวสู่งสังคมสูงวัยอย่างเป็นทางการ อย่างน้อยสมาชิกสหภาพแรงงานบริติชไทยซินเทติคเท็กสไทล์ที่ถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ต่างก็เป็นแรงงานหญิงที่มีอายุค่อนข้างมาก แน่นอนการก้าวเข้าสู่งานใหม่ในภาคอุตสาหกรรมจึงมิใช่เรื่องง่าย ต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติตั้งแต่แรกเริ่มกระบวนการเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง การถูกปฏิเสธการจ้างงานด้วยเหตุแห่งอายุ นี้จึงสะท้อนถึงความไม่เสมอภาคทางโอกาสในการทำงานอย่างยิ่ง

บางทีดิฉันก็นึกไม่ออกว่า สังคมสูงวัยในอนาคตที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีงานทำ เพราะข้อจำกัดทางกฎหมายจ้างงานจะมีสภาพอย่างไร ท่ามกลางความนิ่งเฉยและดูดายของกระทรวงแรงงานเพียงนี้ !



หมายเหตุ : มีการแก้ไขชื่อบทความจากเดิมชื่อ “ความร่วงโรยของอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดกลาง” เมื่อบริติชไทยซิน สมุทรสาคร ปิดตัวลอยแพคนงานหญิง สัญญาณเตือนตั้งแต่ปี 45

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.