วันสตรีสากล 'บูรณาการแรงงานสตรี' ขอรัฐกำหนดสัดส่วนหญิง-ชาย 50:50 ในคณะกรรมการทุกมิติ

Posted: 08 Mar 2017 01:02 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และเครือข่าย ร้องรัฐรับรองอนุสัญญา ILO ฉ.183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา เพิ่มวันลาคลอด เป็น 120 วันโดยได้รับค่าจ้าง กำหนดให้มีสัดส่วนหญิง-ชาย 50:50 ในคณะกรรมการทุกมิติ และกำหนดวันที่ 8 มีนา เป็นวันหยุดราชการ


8 มี.ค. 2560 เนื่องในวันสตรีสากล รายงานข่าวจาก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ระบุว่า วันนี้ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ขบวนผู้หญิงปฎิรูปประเทศไทย (We Move) โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายแรงงานหญิง มากกว่า 20 กลุ่มทั่วประเทศจัดงานเฉลิมฉลองวันสตรีสากล ปี 2560 ในงานนี้สตรีมากกว่า 800 คนได้เดินรณรงค์จาก ข้างศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ ไปยังห้องประชุม บมจ. กสท โทรคมนาคม เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักว่าการพัฒนาประเทศนั้น “คุณภาพชีวิตคนทำงานหญิง ต้องยั่งยืนและมีความเสมอภาคระหว่างเพศ”

นิไลมล มนตรีกานนท์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีกล่าวว่าในขณะที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าปฎิรูปประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความปรองดอง ความสมานฉันท์กับทุกฝ่าย และกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ผู้หญิงทุกภาคส่วน ควรที่จะเข้าไปมีบทบาทร่วมกัน กำหนดอนาคตตนเอง

เจนนี่ ลูนมาค (Ms. Jenni LUNDMARK, Attache) เจ้าหน้าที่ฝ่ายความร่วมมือโครงการ สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปในประเทศไทย หนึ่งในผู้สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ และผู้สนับสนุนการพัฒนาสตรีผ่านองค์กรภาคประชาสังคมบางแห่ง ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาสิทธิสตรีว่า สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่สนับสนุนสิทธิสตรี และมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในสิทธิที่เท่าเทียมและความเสมอภาคทางโอกาสระหว่างชายหญิง เป็นค่านิยมพื้นฐานของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปและถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการเข้าร่วมของประเทศสมาชิก สหภาพยุโรปยึดหลักในการปฏิบัติการร่วมกันทั่วโลกว่าสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน และสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

สุณีย์ ไชยรส อดีตคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ คือผลประโยชน์ของชาติ ปัจจุบัน ผู้หญิงไม่เพียงแต่ต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับผู้ชาย เช่น ความยากจน การไม่มีที่ดินทำกิน ปัญหาการถูกแย่งชิงฐานทรัพยากรจากนโยบายของรัฐ การถูกลิดรอนสิทธิชุมชน การไม่มีส่วนร่วมในการจัดการและการตัดสินใจ การเข้าไม่ถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และความไม่ปลอดภัยจากความรุนแรงในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้

ข้อความตอนหนึ่งของ คำประกาศเจตนารมณ์วันสตรีสากล ของเครือข่ายกลุ่มนี้ระบุว่า ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะ เช่นความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ การค้ามนุษย์ ที่มีสาเหตุจากอคติทางเพศ และการปิดกั้นโอกาสที่เท่าเทียมบนหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งยังขาดมาตรการที่ปฏิบัติได้จริงในการส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับในทางการเมืองการบริหาร และ การกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ

ทางกลุ่มสตรีทั้งหมดต้องการให้สังคมตระหนักว่า ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง ต่อผู้ใช้แรงงานในระบบ นอกระบบ ทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการฐานทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ น้ำในขอบเขตทั่วประเทศ ผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ครอบครัวที่ถูกอุ้มหายจากการต่อสู้ ผู้หญิงผู้พิการ กลุ่มผู้หญิงชนเผ่า กลุ่มผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสี่ยงภัยความรุนแรง กลุ่มผู้หญิงชาวไร่ ชาวนากลุ่มผู้หญิงคนจนเมืองคนสลัม กลุ่มผู้หญิงเยาวชน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ รวมถึงปัญหาของเด็ก ๆ ลูกๆ และ ครอบครัวที่ผู้หญิงต้องดูแล

ในวันสตรีสากลปีนี้กลุ่มสตรีเหล่านี้จึงได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐดำเนินการ รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา และเพิ่มวันลาคลอดของแรงงานจากเดิม 90 วันเป็น 120 วันโดยได้รับค่าจ้าง ให้สิทธิผู้หญิงทุกคนในการตรวจมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมฟรี จ่ายเงินอุดหนุนให้กับลูกแรงงานนอกระบบ ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปีทุกคน จ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แรงงานหญิงนอกระบบหลังคลอดบุตร ระยะเวลาเท่ากับที่แรงงานในระบบได้รับ รวมทั้งให้ลูกจ้างเอกชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจชาย ลาไปดูแลภรรยาและบุตรหลังคลอด โดยได้รับค่าจ้าง 30 วัน จัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน อย่างทั่วถึง มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดศูนย์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน กำหนดให้มีสัดส่วนหญิง-ชาย 50:50 ในคณะกรรมการทุกมิติ และ กำหนดวันที่ 8 มีนา เป็นวันหยุดราชการและวันหยุดตามประเพณี


สำหรับรายละเอียด คำประกาศเจตนารมณ์วันสตรีสากลของเครือข่ายนี้มีดังนี้


คำประกาศเจตนารมณ์วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2560

พี่น้องหญิงชายและทุกเพศสภาพอันเป็นที่รัก และเคารพยิ่งทั้งหลาย


ขบวนผู้หญิงทั่วโลกได้ร่วมรำลึกเฉลิมฉลองวันที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้มายาวนานมากกว่า 100 ปี ใน “วันสตรีสากล” 8 มีนาคม 2560 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับ องค์กรเครือข่าย หลากหลายอาชีพ จากทุกกลุ่มพื้นฐานการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีงาม จัดกิจกรรมวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันมีพลัง สืบทอดเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานของคนงานหญิง และเพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ในยุคสมัยปัจจุบัน ให้ไปสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศและคุณภาพชีวิตที่ดีที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วันสตรีสากล มีกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนงานหญิง โรงงานสิ่งทอในสหรัฐอเมริกา จากสภาพการทำงานที่เลวร้าย จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และปรับปรุงสภาพการทำงาน รวมทั้งลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง หรือระบบสามแปด การประท้วงหลายครั้งจบลงด้วยการใช้ความรุนแรงต่อคนงานหญิง

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องได้ขยายตัวและได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก ดังนั้น ในเวทีการประชุมสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ “คลาร่า เซทกิ้น” ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อสู้และผู้นำคนหนึ่งของสมัชชา จึงได้เสนอให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ดังกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งต่อมาสหประชาชาติได้รับรองวันสตรีสากลนี้

ผู้หญิงแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างใช้วันสตรีสากลเป็นสัญลักษณ์ เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในการต่อสู้ และแสดงความมุ่งมั่นที่จะขจัดอุปสรรคที่ยังมีอยู่ ซึ่งในประเทศไทยได้ขยายตัวเป็นพลังของขบวนหญิงชาย และทุกเพศสภาพ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นคน พลังกว้างขวางเพิ่มจากแรงงานในระบบอุตสาหกรรม ไปสู่คนทำงานหญิงหลากหลายสาขาอาชีพ และชาวไร่ชาวนาเกษตรกร นำมาสู่การเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมของหญิงชาย สิทธิมนุษยชน และคุณภาพชีวิตของทุกคน

ผู้หญิงผู้ทุกข์ยากจำนวนไม่น้อยทั้งในเมืองและชนบท ที่ต่อสู้ เพื่อชีวิตของตน เพื่อความเป็นธรรม ถูกจับกุม คุมขัง เสียสละเลือดเนื้อชีวิต ให้แก่ความบ้าคลั่งของระบอบทุนนิยมที่มุ่งแต่แสวงหากำไร กดขี่ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบเรามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน.

.แต่ผู้หญิงยังไม่ยอมแพ้ ยังต่อสู้อยู่ กลุ่มทุนอิทธิพล และผู้มีอำนาจทั้งหลาย จงรับรู้ไว้ด้วยว่า ประชาชนหญิงชายไม่ได้ยอมจำนนอย่างง่ายๆ เพราะพวกเธอและเขากำลังต่อสู้เพื่อรักษาชีวิตของตน รักษาอนาคตของลูกหลาน...

วันนี้เรามารวมพลังกันเพื่อส่งเสียงความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของพี่น้องผู้หญิงทุกภาคส่วนที่ถูกกระทำถูกละเมิดสิทธิ เพื่อย้ำเตือนถึงพลังแห่งความต้องการการเปลี่ยนแปลง เสียงของเราจะไปถึงพี่น้องของเรา ถึงประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทย และถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง นั่นก็คือรัฐบาล เสียงของผู้หญิงทุกกลุ่มทุกภาคทุกสาขาอาชีพตั้งแต่ในครัวเรือนในวันนี้ เพื่อนำเสนอ “ยุทธศาสตร์ชาติ กับคุณภาพชีวิตคนทำงานหญิงต้องยั่งยืน และมีความเสมอภาคระหว่างเพศ”

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรประมาณ 64.8 ล้านคนโดยประชากรเพศหญิงมีมากกว่าประชากรเพศชายเกือบ 2 ล้านคน การออกแบบแนวทางการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนระบอบการเมืองและการบริหารประเทศย่อมส่งผลต่อประชากรเพศหญิงอย่างสำคัญ

ปัจจุบัน ผู้หญิงไม่เพียงแต่ต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับผู้ชาย เช่น ความยากจน การไม่มีที่ดินทำกิน ปัญหาการถูกแย่งชิงฐานทรัพยากรจากนโยบายของรัฐ การถูกลิดรอนสิทธิชุมชน การไม่มีส่วนร่วมในการจัดการและการตัดสินใจ การเข้าไม่ถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และความไม่ปลอดภัยจากความรุนแรงในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้

ขณะเดียวกันผู้หญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะ เช่นความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ การค้ามนุษย์ ที่มีสาเหตุจากอคติทางเพศ และการปิดกั้นโอกาสที่เท่าเทียมบนหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งยังขาดมาตรการที่ปฏิบัติได้จริงในการส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับในทางการเมืองการบริหาร และ การกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ

เราต้องการให้สังคมตระหนักว่า ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง ต่อผู้ใช้แรงงานในระบบ นอกระบบ ทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการฐานทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ น้ำในขอบเขตทั่วประเทศ ผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ครอบครัวที่ถูกอุ้มหายจากการต่อสู้ ผู้หญิงผู้พิการ กลุ่มผู้หญิงชนเผ่า กลุ่มผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสี่ยงภัยความรุนแรง กลุ่มผู้หญิงชาวไร่ ชาวนา กลุ่มผู้หญิงคนจนเมืองคนสลัม กลุ่มผู้หญิงเยาวชน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ รวมถึงปัญหาของเด็ก ๆ ลูกๆ ของเรา ครอบครัวของเรา

การนำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของเรา แต่เราไม่เคยท้อถอย รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ต้องฟังเสียงผู้หญิงและทุกเพศสภาพ พวกเราเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอของเราต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องเน้นหลักการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ควายั่งยืนของผู้หญิงทำงาน และต้องมีความเสมอภาคระหว่างเพศ เป็นข้อเสนอที่ชัดเจน ชอบธรรม และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน และต่อการพัฒนาประเทศ

ผู้หญิงเป็นพลังครึ่งหนึ่งของสังคม และได้ร่วมสร้างคุณค่า สร้างสรรค์สังคมไทย เคียงบ่าเคียงไหล่ชายมาตลอดทุกยุคทุกสมัย การจะปฏิรูปประเทศให้ขจัดความเหลื่อมล้ำและปรองดองได้อย่างแท้จริง จึงต้องให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการที่เน้นสิทธิชุมชน การกระจายอำนาจ และการส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน

ที่สำคัญควบคู่ด้วยคือมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ ที่ต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับในกระบวนการปฏิรูปประเทศ การกำหนดนโยบายของรัฐ การออกกฎหมาย ในสัดส่วนที่สะท้อนฐานจำนวนประชากรหญิงที่เป็นจริง นี่จึงจะจะเป็นหลักประกันให้ประชาชนทั้งหญิงชายและทุกเพศสภาพ รวมทั้งกลุ่มเปราะบางหลากหลาย ได้เข้าร่วมคิดร่วมกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่สมดุล ยั่งยืนและเกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคโดยแท้จริง

พี่น้องหญิงชายและทุกเพศสภาพที่รักทั้งหลาย ผู้ที่เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นลูก พี่น้องทุกคนของเรา เราจะไม่ยอมจำนนต่อการกระทำของกลุ่มที่เอาแต่ผลประโยชน์ ไม่ว่ากลุ่มทุน กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการหรืออำนาจพิเศษใดๆ เราจะต้องปกป้องสิทธิความชอบธรรมของตนเอง เราต้องกำหนดอนาคตของ

- รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา

- ให้รัฐเพิ่มวันลาคลอดจากเดิม 90 วันเป็น 120 วันโดยได้รับค่าจ้าง

- รัฐต้องให้ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิตรวจมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมฟรี

- ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้กับลูกแรงงานนอกระบบ ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปีทุกคน

- ให้รัฐจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แรงงานหญิงนอกระบบหลังคลอดบุตร ระยะเวลาเท่ากับที่แรงงานในระบบได้รับ

- รัฐต้องให้ลูกจ้างเอกชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจชาย ลาไปดูแลภรรยาและบุตรหลังคลอด โดยได้รับค่าจ้าง 30 วัน

- รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน อย่างทั่วถึง มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนเวลาเปิด-ปิดศูนย์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน

- รัฐต้องให้ผู้หญิงมีสิทธิมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเอง และในการตัดสินใจจัดการเรื่องฐานทรัพยากร รัฐต้องกำหนดให้มีสัดส่วนหญิง-ชาย 50:50 ในคณะกรรมการทุกมิติ

- รัฐต้องปกป้องคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งหญิงชาย และประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม

- รัฐต้องกำหนดวันที่ 8 มีนา เป็นวันหยุดราชการและวันหยุดตามประเพณี

ฯลฯ

ทุกอย่างไม่ได้มาด้วยการร้องขอ แต่ต้องได้มาจากการรวมพลังต่อสู้ผลักดัน สามัคคีกัน แสดงความกล้าหาญ ในการลุกขึ้นต่อสู้ให้พวกที่กดขี่ ขูดรีดเอาเปรียบเรา ได้รับรู้ว่า เราเป็นคน มีศักดิ์ศรี เราต้องมีสิทธิเสรีภาพ และเราต้องได้รับความเป็นธรรมในทุกๆ ด้าน ต้องมีคุณภาพชีวิจที่ดีและยั่งยืน

พี่น้องหญิงชายและทุกเพศสภาพทั้งหลาย จงภาคภูมิใจในเกียรติภูมิของเรา สามัคคีกันเข้าร่วมการต่อสู้กับแรงงาน คนทำงานทุกรูปแบบ คนยากจน ทั้งหญิง ชาย ทั้งในเมืองและชนบท เราจะไม่หยุดการต่อสู้ จนกว่าสังคมใหม่ที่ดีงามจะเป็นของเรา

ด้วยความเชื่อมั่นพลังการต่อสู้

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และองค์กรเครือข่าย

ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ

สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ

โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เครือข่ายสตรีชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

คณะทำงานวาระชายแดนใต้

เครือข่ายสตรีภาคใต้

เครือข่ายองค์กรสตรีภาคเหนือ

กลุ่มเพื่อนหญิงอำนาจเจริญ

มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต คนพิการ หลากหลายทางเพศ ฯลฯ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.