ASEAN Weekly: สหรัฐอเมริกายุคโดนัลด์ ทรัมป์ และภาวะอำนาจนำเอเชีย-แปซิฟิก

Posted: 09 Mar 2017 07:25 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กดติดตามรับชมคลิปใหม่ๆ ได้ที่

9 มี.ค. 2560 - ASEAN Weekly เทปนี้พูดคุยกับ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาหลังยุคบารัก โอบามา เข้าสู่ยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นห้วงที่จีนกำลังขยายอำนาจ
โดยดุลยภาค เสนอว่า สหรัฐอเมริกาซึ่งประสบภาวะตกต่ำทางการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งตกต่ำด้วยตัวเอง และตกต่ำโดยเปรียบเทียบเมื่อเทียบกับมหาอำนาจอื่น ดังนั้นเมื่อมีผู้บริหารชุดใหม่ก็ย่อม คิดฟูมฟักให้ตัวเองลดความตกต่ำ ให้กลับมาเข้มแข็งผงาดขึ้น สหรัฐอเมริกาก็จะทำ 2 สิ่งเพื่อให้กลับมามีกำลังวังชามากขึ้น และกลับมาโลดโจนทยานขับเคี่ยวกับคู่แข่งอีกครั้ง
ด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาจะพบทั้งความเปลี่ยนแปลงและความสืบเนื่อง ทั้งนี้ประธานาธิบดีอาจเป็นผู้กุมกลไกหลักของนโยบายต่างประเทศ ทั้งการตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่ปรึกษาความมั่นคงชุดใหม่ กลุ่มผลประโยชน์ใหม่ ซึ่งมีโลกทัศน์และนโยบายที่ปรับเปลี่ยน และบุคลิกที่คาดเดาไม่ได้ของทรัมป์ก็อาจสร้างความหวือหวาหลายประการ
ดังนั้นนโยบายต่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ จึงอาจมีทั้งความเปลี่ยนแปลงและความสืบเนื่อง เราอาจจะเห็นการลดขนาดกิจกรรมทางการทูตในบางพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้ถอนกำลังฮวบฮาบ หรือลด ปฏิบัติการทางทหาร หรือการทูตอย่างฮวบฮาบ เพราะมีประเพณีปฏิบัติในทางการทูตว่าสหรัฐอเมริกาพยายามเข้ามาถ่วงดุลอำนาจกับจีนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือรักษาฐานอำนาจในเอเชีย-แปซิฟิกที่เป็นกระดานหมากรุกทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้สหรัฐอเมริกามีประเพณียุทธศาสตร์ของรัฐที่ได้ชื่อว่าเป็นเอกอภิมหาอำนาจของโลก ในยุคหลังสงครามเย็นสหรัฐอเมริกามีความเป็นหนึ่งในเวทีการเมืองโลก และต้องการรักษาความคงเส้นคงวานี้ แม้กระทั่งในยุคที่จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกาก็พยายามหาทางลดทอนเพื่อไม่ให้จีนขึ้นมาท้าทายภาวะเอกอภิมหาอำนาจของตน


ที่มาของภาพปก: กองทัพสหรัฐเมริกาที่ฐานทัพยองซาน กรุงโซล ระหว่างลำเลียงอุปกรณ์เพื่อติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธระบบ THAAD สำหรับเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2017 หลังจากที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยไกลหลายหน (ที่มา: Flickr/U.S. Pacific Command)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.