สหรัฐฯ เตรียมติดตั้งโดรนจู่โจมในเกาหลีใต้-รับมือนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

Posted: 16 Mar 2017 04:50 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

กองทัพสหรัฐฯ เตรียมส่งโดรนจู่โจม "เกรย์ อีเกิลส์" ประจำคาบสมุทรเกาหลี ตอบโต้เปียงยางพัฒนานิวเคลียร์พิสัยไกล-แถมยิงจรวด 4 ลูกตกใกล้ชายฝั่งญี่ปุ่น ขณะที่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เตรียมเยือนเขตปลอดทหาร/เส้นขนานที่ 38 - ด้านสถานทูตเกาหลีเหนือที่ปักกิ่งแถลงเดือดประณามซ้อมรบประจำปีเกาหลีใต้-สหรัฐฯ และการติดตั้งระบบ THAAD ว่าสร้างความตึงเครียดแก่ภูมิภาค


แฟ้มภาพโดรนจู่โจมรุ่น "เกรย์ อีเกิลส์" เผยแพร่โดยสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้ ทั้งนี้กองทัพสหรัฐอเมริกาประจำเกาหลีใต้ประกาศจะติดตั้งโดรนจู่โจม เพื่อรับมือขีปนาวุธของเกาหลีเหนือซึ่งอ้างว่าอยู่ระหว่างพัฒนาเพื่อติดหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเบา (ที่มา: Yonhap)


กองทัพสหรัฐอเมริกาประจำเกาหลี (USFK) เริ่มติดตั้งระบบยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง THAAD ภาพเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2017 (ที่มา: USFK/Flickr)


ภาพไม่ระบุวันที่ของสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) ของทางการเกาหลีเหนือ ระบุว่าเป็นการซ้อมยิงขีปนาวุธโดยหน่วยทหารปืนใหญ่ฮวาซ็อง กองทัพเกาหลีเหนือ โดยภาพถูกเผยแพร่เมื่อ 7 มีนาคม 2017 ในช่วงที่เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาซ้อมรบร่วมประจำปี ซึ่งการซ้อมรบจะกินเวลานาน 2 เดือน และไปสิ้นสุดช่วงปลายเดือนเมษายน (ที่มา: KCNA/Urminzokkiri)

14 มี.ค. 2560 กองทัพสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ (USFK) ประกาศว่าจะมีการนำอากาศยานไร้คนขับหรือ โดรน (Drone) ที่สามารถบรรทุกจรวดแบบเฮลไฟร์ (Hellfire) ในเกาหลีใต้หลังจากเกาหลีเหนือ ภายหลังเกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธสี่ลูกไปตกบริเวณใกล้ชายฝั่งญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

จากกรณีที่รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ออกมาแถลงว่า เกาหลีเหนือสามารถสร้างหัวรบนิวเคลียร์ที่เล็กพอจะติดตั้งไว้ที่ส่วนหัวของขีปนาวุธได้ และกำลังพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missle: ICBM) ที่สามารถยิงไปไกลถึงภาคพื้นทวีปของสหรัฐฯ สร้างความตึงเครียดต่อความมั่นคงในภูมิภาค

ที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐฯ ได้มีมาตรการรับมือต่อภัยคุกคามด้วยการติดตั้งระบบยิงสกัดขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง THAAD (Terminal High Altitude Area Defense System) ในเกาหลีใต้ไปแล้วเมื่อ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด กองทัพสหรัฐฯ ได้วางแผนที่จะนำโดรนจู่โจมรุ่น เกรย์ อีเกิลส์ (Grey Eagles) มาประจำการในเกาหลีใต้เป็นการถาวร โดยทางกองทัพสหรัฐฯ กล่าวว่า การติดตั้งโดรนจะ “เพิ่มพูนสมรรถนะด้านงานข่าวกรอง การสอดส่องตรวจตรา และลาดตระเวน”

เกรย์ อีเกิลส์ เป็นโดรนที่ได้รับการพัฒนามาจากรุ่น พรีเดเตอร์ (Predator drone) เกรย์ อีเกิลส์ ถูกออกแบบมาให้ติดตั้งขีปนาวุธประเภทเฮลไฟร์ จรวดอากาศยานสู่พื้นที่ใช้ต่อต้านยานเกราะได้ถึง 4 ลูก โดยโดรนจะถูกติดตั้งไว้ที่ฐานทัพอากาศคุนซัน เกาหลีใต้

อย่างไรก็ดี มาร์ค โทเนอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงว่าการนำโดรนมาประจำการมีวัตถุประสงค์ในแง่ของการป้องกัน “นอกจากการติดตั้ง THAAD แล้ว โดรนเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อมาตรการการป้องกัน เพื่อตอบโต้กับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเรา - ในที่นี้คือ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น”

ในช่วงเวลาเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเยือนญี่ปุ่น จะเดินทางเยือนเขตปลอดทหารชายแดนเกาหลีใต้-เกาหลีเหนือ ในวันศุกร์นี้ (17 มี.ค.) และจะเยือนเกาหลีใต้เป็นเวลา 2 วัน
เกาหลีเหนือแถลงตอบโต้สหรัฐฯ-เกาหลีเหนือ ซ้อมรบ-ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD

ขณะเดียวกันในวันนี้ (16 มี.ค.) สถานทูตเกาหลีเหนือ ประจำกรุงปักกิ่ง แถลงข่าวตอบโต้การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ด้วย โดยระบุว่าจะทำลายสมดุลทางยุทธศาสตร์ในเอเชีย ทั้งนี้ยอนฮัปรายงานว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตเกาหลีคุมเข้มห้ามนักข่าวเกาหลีใต้เข้าไปทำข่าว โดยเลือกเฉพาะนักข่าวต่างประเทศบางกลุ่มเท่านั้น

พัก มย็องโฮ ทูตเกาหลีเหนือในปักกิ่งระบุด้วยว่า ไม่สามารถยอมรับการซ้อมรบร่วมระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา เพราะสร้างความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี เขายังอ้างด้วยว่าการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THADD เป็นการคุกคามเกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย

ทั้งนี้ปฏิกิริยาดุเดือดของนักการทูตเกาหลีเหนือในวันนี้ และคำขู่เมื่อ 7 มี.ค. ของเปียงยางว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งภาพไม่ระบุวันที่ของสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) แสดงภาพคิม จองอึน ตรวจตราการซ้อมยิงขีปนาวุธโดยหน่วยทหารปืนใหญ่ฮวาซ็อง ของกองทัพเกาหลีเหนือ เกิดขึ้นในช่วงที่เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาซ้อมรบประจำปีภายใต้รหัส "Foal Eagle" ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 1 มีนาคมที่่ผ่านมา โดยสหรัฐอเมริกาส่งทหารฝึกซ้อมรบ 17,000 นาย เกาหลีใต้ส่งทหารซ้อมรบ 300,000 นาย และจะกินระยะเวลาซ้อมรบ 2 เดือนจนถึงสิ้นเดือนเมษายน นอกจากนี้ยังมีฝึกสถานการณ์ซ้อมรบจำลองผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ภายใต้รหัส "Key Resolve" จะกินเวลา 2 สัปดาห์

นักวิชาการความมั่นคงหวั่นภูมิภาคจะเดือดกว่าเดิม ถ้าคุยกันไม่เคลียร์

ต่อแผนการติดตั้งโดรนดังกล่าว เจฟฟรีย์ ลิวอิส ผู้อำนวยการโครงการยกเลิกการสะสมอาวุธในเอเชียตะวันออก สถาบัน Middlebury Institue of International Affairs แคลิฟอร์เนีย ให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ต้องแสดงจุดยืนของการติดตั้งโดรนเพื่อการป้องกันด้วยการไม่ติดตั้งหัวรบให้กับโดรนให้ชัดเจนที่สุด เพราะการมีโดรนที่มีศักยภาพในการจู่โจมก็เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเกาหลีเหนือเช่นกัน ซึ่งอาจยกระดับสถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้เข้าใกล้สภาวะสงครามมากขึ้น

“เกาหลีเหนือกลัวเราจู่โจมเพื่อเอาชีวิต คิม จองอึนเป็นที่สุด … และนั่นจะยิ่งโหมกระพือให้เกาหลีเหนือกระจายอำนาจการยิงขีปนาวุธให้กับเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งที่ลดหลั่นลงมา”

ลิวอิส เชื่อว่า เกาหลีเหนือมียุทธศาสตร์การป้องกันการจู่โจมก่อน (Preemptive Strike) ด้วยการยิงหัวรบนิวเคลียร์เพื่อโจมตีก่อน “สหรัฐฯ วางแผนที่จะโจมตีก่อนที่เกาหลีเหนือจะทำอย่างนั้น และเกาหลีใต้ก็มีแผนที่จะโจมตีเกาหลีเหนือก่อนเราถ้าเราใช้เวลามากไป”



แปลและเรียบเรียงจาก

N.K. embassy in China voices opposition to military drills, THAAD, Yonhap, 2017/03/16

Tillerson to visit DMZ as part of S. Korean tour, Yonhap, 2017/03/16

US to deploy missile-capable drones across border from North Korea, The Guardian, 14 March 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.