"สมชาย นีละไพจิตร" ยังอยู่: การต่อสู้ภาคต่อและแรงบันดาลใจสู่ทนายรุ่นเยาว์

Posted: 12 Mar 2017 05:39 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เรื่องราวของทนายความรุ่นเยาว์ ทนายความชนเผ่าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการคลุกคลีทำงานกับทนายสมชาย สำนักงานที่ไม่มีเงินแต่มีข้าวแบ่งกันกิน เรื่องเล่าจากครอบครัวที่สะท้อนการต่อสู้กับการต่อต้านการบังคับสูญหายที่ไม่หยุดหย่อน ไม่ย่อท้อ และขยายสู่ความพยายามแก้ปัญหาในระดับกฎหมาย โครงสร้าง แม้ยังต้องเดินต่ออีกยาวไกลนัก


วันที่ 11 มี.ค. 2560 กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อรำลึกถึง 13 ปี แห่งการสูญหายไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร “สมชาย ไหน ไหน สมชาย 13 ปี” และการประกาศรางวัล สมชาย นีละไพจิตร ปี 2560 โดยในปี 2560 นี้ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นผู้คว้ารางวัลประจำปี ส่วนรางวัลผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนน่ายกย่องประจำปี 2560 มีจำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 2. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ผู้ปกป้องสิทธิชุมชนจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย 3. กลุ่มแรงงานชาวพม่า 14 คน ที่ฟ้องและถูกฟ้องจากบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ

เมื่อกระบวนการยุติธรรมไร้คำตอบ ปล่อย “โชคชะตา” รับผิดชอบผู้ถูกบังคับสูญหาย

อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “งานคือชีวิตของ สมชาย นีละไพจิตร และชีวิต คืองานของครอบครัว นีละไพจิตร” ว่า การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เขาอาจถูกมองว่าเป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหา บางคนอาจคิดว่าปัญหาจะหมดไป ถ้าสมชายหายไป แต่เราคงประจักษ์ว่าถึงแม้วันนี้เขาไม่อยู่ แต่ก็มีคนอีกมากมายที่ลุกขึ้นมา มีชาวบ้านมากมายที่คิดว่า 13 ปีก่อนพวกเขายังอยู่กับความกลัว ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง แต่วันนี้เรามีคนเล็กคนน้อยมากมายที่ขึ้นมายืนอยู่ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะตรวจสอบและตามหาความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ

“ดิฉันคิดว่าถ้าสมชาย นีละไพจิตร ยังอยู่ในวันนี้ เขาจะดีใจ และภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาได้ทำมา และดิฉันก็รู้สึกเสียใจ ผิดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อปลายปี 2558 ศาลฎีกามีการพิพากษาว่า จำเลยที่เป็นตำรวจ 5 คนไม่มีความผิด เพราะไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ที่สำคัญศาลยังเห็นว่าครอบครัวไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิในการที่จะเป็นผู้เสียหายเพื่อทวงถามหาความเป็นธรรมให้กับสมชาย”

“สำหรับดิฉันแล้วกระบวนการยุติธรรมไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงต่อสิ่งที่เกิดขึ้น กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มองถึงความรู้สึก ไม่ได้มองถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กระบวนการยุติธรรมจะยืนอยู่ได้อย่างไรในเมื่อคนเล็กคนน้อยยังถูกเอารัดเอาเปรียบ คนเล็กคนน้อยยังไม่ได้รับความเป็นธรรม”

เมื่อไม่นานมานี้ในฐานะที่ตนเองเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นผู้ที่ดูแลว่าด้วยเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยจึงได้เชิญเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมมาเพื่อจะถามว่า กรณีของบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกรอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี) หายไปประมาณ 3 ปี แล้ววันนี้จะให้ทำอย่างไร หลังจากที่กรรมการคดีพิเศษไม่รับให้เป็นคดีพิเศษและตำรวจก็ยุติการสอบสวนแล้ว ต่อไปจะทำอย่างไร กระทรวงยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมต้องมีข้อเสนอแนะที่จะบอกว่าจะให้ทำอย่างไร แต่ปรากฏว่าไม่มีใครตอบ

“สิ่งที่เกิดขึ้นจึงทำให้ดินฉันในฐานะของเหยื่อได้เรียนรู้ว่าในการบังคับให้คนสูญหายว่า วันนี้ยังคงความคุลมเครือ วันนี้ถ้าหากบังคับให้คนสูญหาย คนที่จะต้องรับผิดชอบ หรือสิ่งที่จะต้องรับผิดชอบก็คงเป็นคำว่า “โชคชะตา” หรือเป็นเวรเป็นกรรมของคนๆ นั้นเอง ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมปฏิเสธความรับผิดชอบ ดิฉันเชื่อว่า ถึงแม้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะไม่สามารถนำตัวผู้ถูกบังคับสูญหายให้กลับคืนมาได้ แต่กระบวนการยุติธรรมไทยก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธในการให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อและครอบครัว”

เมื่อกระบวนการยุติธรรมยังยอมรับ “การซ้อมทรมาน”


พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตัวเองไม่เคยรู้จักทนายสมชายเป็นการส่วนตัว แต่ช่วงที่ทนายสมชายหายตัวไป ตนรู้ว่ามีการสูญหายเนื่องจากนั่งรถเมล์ผ่านเห็นมีการติดป้ายหน้าสภาทนายความ โดยในช่วงแรกจะมีการนับวันที่ทนายสมชายหายตัวไป จึงเกิดความสงสัยว่าทนายสมชายเป็นใคร

ช่วงนั้นมีกำลังเรียนเรื่องสืบสวนสอบสวนในคดีอาญา ทางมหาวิทยาลัยเชิญอาจารย์ที่เป็นอาจารย์พิเศษมาจากข้างนอก และอาจารย์ที่ถูกเชิญมาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ท่านเล่าว่าท่านเคยทำคดีหนึ่งซึ่งมีทนายสมชายเป็นทนายในคดีนั้นด้วย จริงๆ ท่านพูดเชิงปฏิเสธว่า ไม่มีใครอุ้มทนายสมชายหรอก ถ้าใครที่อยากจะอุ้มทนายสมชายก็อาจจะเป็นเขาเอง เพราะว่าทนายสมชายเป็นคนทำให้คดีความมั่นคงหลุดไป หรือไม่ได้รับการลงโทษ ตำรวจคนนั้นก็รู้สึกว่าทนายสมชายไปช่วยผู้กระทำความผิด ซึ่งตอนที่เราฟังตอนนั้นเรารู้สึกโกรธมากว่าทำไมคณะเลือกอาจารย์แบบนี้มาสอนนักศึกษา ในฐานะที่เป็นนักศึกษากฎหมายในตอนนั้นก็รู้ว่าทนายความไม่ว่าจำเลยจะกระทำความผิด หรือไม่กระทำความผิด ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทุกคนมีสิทธิที่จะมีตัวแทนทางกฎหมาย ดังนั้นในการทำหน้าที่ทนายความ ไม่ใช่ทนายความเป็นตัวความเสียเอง ทนายความจะทำหน้าที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องจริงจะเป็นอย่างไรมันก็ขึ้นอยู่กับศาลที่จะตัดสิน แต่ว่าเมื่อศาลตัดสินยกฟ้อง แสดงว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แสดงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แสวงหาหลักฐานมาอย่างเพียงพอที่จะพิสูจน์กับศาลได้

หลังจากเรียนจบปี 2551 ก็เริ่มจากงานอาสาสมัครนักกฎหมายที่เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมัยนั้นเป็นช่วงรัฐบาลทหารปี 2550 หลังจากที่ประเทศไทยให้สัตยาบันกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เมื่อไทยเป็นภาคี องค์กรที่ทำงานอยู่ก็มีความสนใจว่าจะทำให้เรื่องราวของการต่อต้านการซ้อมทรมานเข้ามาเป็นกฎหมายไทยได้อย่างไร เพราะว่าในระบบกฎหมายบ้านเรา เวลาเราไปเป็นภาคีกับกฎหมายต่างประเทศยังไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้โดยตรง เพราะต้องนำมาเป็นกฎหมายภายในก่อน องค์กรเราก็พยายามที่จะร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการป้องกันการซ้อมทรมาน นั่นทำให้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมก็ทำงานร่วมกับมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมด้วย ทำให้ได้เห็นปัญหาการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีปัญหาหลายอย่าง หากเราเป็นนักกฎหมายทั่วไปเราจะรู้ว่า การทรมานพยานนั้นถือว่าเป็นหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบ แต่พอไปถึงศาลเวลาต่อสู้คดี ศาลก็จะยังคงรับฟังหลักฐานนั้น แล้วบอกว่าเรื่องการทรมานเป็นอีกคดีหนึ่ง

เรื่องการทรมานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นว่ามีการทำร้ายร่างกาย แต่เพราะว่ามันเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนนั้นกลับเป็นผู้กระความผิดเสียเอง ตรงนี้ทำให้ปัญหาการทรมานรวมทั้งการอุ้มหายมีความยากลำบากที่เราจะต้องผลักดันกฎหมายและเรียกร้องโทษที่สูงมากกว่าการซ้อมทรมานหรือการทำร่างกายทั่วไป เพราะมันเป็นเรื่องร่างกายบวกกับเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้วย

เรามี พ.ร.บ.ไม่ให้บังคับบุคคลสูญหายในปี 2555 และเมื่อวาน สมช.พึ่งมีมติว่าจะมาให้สัตยาบันอนุสัญญาไม่ให้บังคับบุคคลสูหาย แต่ว่าตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2560 รวม 10 ปีในความพยายาม ต้องบอกว่าทุกภาคส่วน เหยื่อที่เสียหายที่ร้องเรียนว่ามีการทรมาน มีการอุ้มหายเกิดขึ้น เราเห็นความกล้าหาญของเขา รวมถึงหัวหอกในเรื่องของการรณรงค์เรื่องการอุ้มหายก็ต้องถือว่าเป็นคุณูปการของครอบครัวนีละไพจิตรที่ผลักดันประเด็นนี้มาตลอด ทนายสมชายเองก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่พยายามเรียกร้องสิทธิของคนที่ถูกกระทำ และถือว่าเป็นตัวอย่างให้กับรุ่นน้องในความกล้าหาญที่จะทำหน้าที่ตามวิชาชีพ

ลายมือยุ่งเหยิง ศึกแย่งกระเป๋า และข้าวหมกไก่


วาสนา ภัทรนันทกุล ทนายความกลุ่มชาติพันธ์ ทนายความสายเลือดอาข่า กล่าวว่า เจออาจารย์สมชายครั้งแรกเมื่อปี 2543-2544 ตอนไปสอบตั๋วทนายความ อาจารย์เป็นผู้มาบรรยายให้กับผู้ไปสอบใบอนุญาตทนายความ และทุกคนจะต้องไปฝึกงาน ปกติสภาทนายความจะสุ่มส่งไป แต่ตนจะไปฝึกงานกับอาจารย์สมชาย พอแจ้งไปอาจารย์ตอบว่า ไม่ๆ ไม่รับผู้หญิง เรียกว่าถูกปฏิเสธตั้งแต่วันแรกที่เจอกันวันที่ท่านไปบรรยาย แต่อย่างไรก็อยากจะไปเป็นทนายความกับอาจารย์ จึงพยายามที่จะไปอยู่กับอาจารย์และตามหาว่ามีใครบ้างที่พอจะฝากตนไปฝึกงานกับอาจารย์ได้บ้าง สุดท้ายอาจารย์ก็ได้รับไว้

วันที่ไปสำนักงานครั้งแรกอาจารย์ก็จะบอกว่าที่นี่ไม่มีเงินเดือน ที่นี่จะอยู่กันแบบพี่น้อง จะอยู่กันแบบมีอะไรก็แบ่งกันกิน อาจารย์จะมีสมุดนัดอยู่ 2 เล่ม เล่มหนึ่งอาจารย์จะถือติดตัว อีกเล่มหนึ่งอาจารย์จะเอาไว้ที่สำนักงาน ทุกคนในสำนักงานจะรู้ว่าวันนี้อาจารย์มีคดีที่ไหนบ้าง วันต่อไปอาจารย์มีคดีที่ไหนบ้าง และจะจดไว้ในสมุดนัดส่วนตัวของเรา หลังจากนั้นก็จะตามอาจารย์ไปทุกเช้าโดยเราจะไปถึงก่อนอาจารย์

อาจารย์ขับรถฮอนด้าสีเขียว มาถึงอาจารย์จะจอดด้านหลังสำนักงาน ทุกคนก็จะดูว่ามาถึงแล้วหรือยัง สำนักงานอยู่ตรงข้ามศาลรัชดา จะต้องข้ามสะพานลอยเพื่อที่จะไปศาล บางทีก็ไปศาลแพ่ง บางทีก็จะไปศาลอาญา พออาจารย์มาถึงปุ๊บ เราก็จะบอกว่า “หนูถือกระเป๋าให้ค่ะอาจารย์” อาจารย์ก็ตอบว่า “ไม่ต้อง คุณเป็นผู้หญิง” เรียกว่าจะมีศึกการแย่งกระเป๋าอยู่ทุกวัน บางวันก็แย่งสำเร็จ บางวันก็แย่งไม่ได้ ซึ่งกระเป๋าใบนี้จะหนักประมาณ 5 กิโลกว่า

อาจารย์เขาจะไม่สอนว่าต้องทำอย่างนั้นหรือย่างนี้ แต่เราจะสามารถเรียนรู้จากตัวอาจารย์เอง อยากรู้อะไรก็ตามอาจารย์ไปแล้วก็ดูเอาเอง มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยถามอาจารย์ว่า จะเป็นทนายความที่ดีที่และเก่งเหมือนอาจารย์ต้องทำอย่างไรบ้าง อาจารย์ก็บอกว่า ไม่มีคำตอบ แต่อีก 20 ปี ข้างหน้าคุณจะรู้คำตอบเอง

อาจารย์เป็นคนใจดี สำนักงานจะมี 2 ชั้น ปกติอาจารย์จะอยู่ชั้นสอง ที่นั่นมีทนายความอยู่ 3 รุ่น รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง และรุ่นเล็ก ซึ่งตนจะเป็นรุ่นเล็กที่สุดแล้ว เวลาจะเขียนสำนวนอาจารย์ก็จะร่างด้วยดินสอใส่กระดาษ พอเขียนเสร็จแล้วก็จะเรียกรุ่นเล็กสุดอย่างเราเป็นคนพิมพ์ดีด สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ ตนก็จะไปรับเอกสารกับอาจารย์เพื่อที่จะพิมพ์คำฟ้อง คำร้อง หรือคำแถลงต่างๆ ซึ่งอาจารย์จะเป็นคนร่างให้ในปีแรกที่ตนไปอยู่ พอหลังๆ อาจารย์ไม่ร่างให้แล้ว ให้ไปทำเองและส่งให้อาจารย์อีกทีหนึ่ง

ครั้งแรกที่อาจารย์ให้ ลายมืออาจารย์ยิ่งกว่านายแพทย์ อ่านไม่ออก รุ่นที่สามก็อ่านไม่ออก ก็จะไปหารุ่นที่สองให้ช่วยอ่าน บางครั้งรุ่นที่สองก็อ่านได้ แต่ถ้าอ่านไม่ได้ก็ต้องไปหารุ่นแรก พอรุ่นแรกอ่านไม่ออก ก็จะขึ้นไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็ให้ไปถามพี่รุ่นแรกคนหนึ่งที่จะอ่านลายมืออาจารย์ออก ปรากฏว่าพี่เขาก็อ่านไม่ออก ก็ไปบอกอาจารย์อีกครั้งว่าพี่เขาก็อ่านไม่ออกเหมือนกัน อาจารย์ก็จะเขียนใหม่ให้ พอเขียนใหม่ก็อ่านไม่ออกอีก แล้วอาจารย์ก็บอกถ้าอย่างนั้นคุณก็เขียนไป ปกติลายมืออาจารย์จะเป็นเอกลักษณ์ที่อ่านไม่ค่อยได้

ทุกวันที่อาจารย์มาสำนักงานก็จะซื้อกับข้าวมาด้วย ซึ่งหลังๆ ไม่ค่อยซื้อกับข้าวมาแล้ว แต่จะซื้อข้าวหมกไก่มาแทน วันไหนที่อาจารย์เข้ามาสำนักงานพวกเราก็จะได้กินข้าวหมกไก่ แต่วันไหนที่อาจารย์ไม่เข้าพวกเราก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ในสำนักงานจะมีอยู่กัน 5 คน ตนจะเป็นรุ่นน้องสุดที่จะต้องไปหาซื้อกับข้าวฝั่งศาลรัชดา วันไหนที่อาจารย์เข้ามาตนจะเป็นคนที่ดีใจที่สุดเพราะไม่ต้องไปซื้อข้าวให้กับรุ่นพี่

“ตั้งแต่วันนั้นก็สาบานกับตัวเองว่าเราจะทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของชนเผ่า”

มิงจู อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชนชนเผ่าอาข่า กล่าวว่า ครั้งแรกที่พี่น้องชนเผ่าลงมาชุมนุมเรียกร้องสิทธิของตนเองที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ปี 2541-2542 และต่อสู้กันจนมาถึงปี 2545 เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องอยากจะขอสัญชาติ เพราะเราอยากพิสูจน์สถานะบุคคล

ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ากฎหมายเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าทำไมเราเป็นคนไทยแล้วทำไมเขาถึงมาไล่จับเรา อยู่บ้านดีๆ ก็มาเผาหมู่บ้าน ลงมาข้างล่างก็ไม่มีบัตร มีแค่กระดาษสามนิ้วก็จับ พี่น้องก็เดือดร้อน แล้วถ้าขายที่ขายผลผลิตไม่ได้เขาก็จับอีก เอาเป็นว่าจับทุกอย่าง และหากไม่มีเงินจ่ายเขาก็ให้เอาผู้หญิงไปขัดดอกให้เขา เราต้องขายนา ขายบ้าน ขายช่อง ขายทุกอย่างที่เรามีเพื่อจะได้ถูกปล่อยตัว

ที่ต่อสู้คือไม่ได้ไปต่อสู้ไปฆ่าไปแกงใคร แต่เราเรียกร้องสิทธิเพื่อที่จะขอมีบัตรประชาชน เพราะไม่มีบัตรประชาชนเราจะเดินทางก็ไม่ได้ จะรักษาพยาบาลก็ไม่ได้ ไปไหนก็ไม่ได้ แปลว่าเราไม่มีตัวตนของความเป็นมนุษย์ หรือตัวตนในสังคมเลย

มีอยู่วันหนึ่ง มีหลายเผ่ามาชุมนุมหน้าศาลากลางเชียงใหม่ แต่พวกเขาพูดภาษาไทยไม่ได้ เขาก็บอกให้เราช่วยมาเป็นล่ามแปลให้ เขาบอกว่าเขาไม่มีบัตร ตำรวจก็มาจับเขา ไปไหนมาไหนก็จับเขา ด้วยความที่เราไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร ก็มาแจ้งเรื่องไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและไปสภาทนายความ แล้วทางสภาทนายความก็มอบหมายให้อาจารย์สมชายลงมา

อาจารย์สมชายก็นั่งอยู่หัวโต๊ะ และพวกเราที่ไปประมาณ 10 กว่าคนก็ได้นั่งอยู่ตรงนั้น อาจารย์ถามว่าคดีมันเริ่มกันอย่างไร อะไร แบบไหน

ทุกครั้งเราไปหาทนาย เขาก็จะถามเกี่ยวกับเงินก่อนว่าคุณจะจ้างเขาเท่าไร แต่อาจารย์สมชายจะไม่ถาม พออาจารย์ไม่ถาม เราก็ถามว่าอาจารย์รับค่าทนายเท่าไร อาจารย์บอกว่าแล้วคุณมีเท่าไร เราบอกว่าตอนนี้ไม่มี แต่จะไปหามาให้ถ้าต้องการ สุดท้ายเราไม่ทันได้ให้ค่าตอบแทนอาจารย์ แต่อาจารย์ให้เงินเรา 1,500 บาท บอกว่าเอาไว้เป็นค่ารถกลับ

ทำให้เราคิดว่า อาจารย์คนนี้ทำไมไม่เหมือนคนอื่น และหลังจากวันนั้นสาบานกับตัวเองว่าเราจะทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของชนเผ่า และคนที่เดือดร้อนจากการถูกรังแกของสังคมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

“ไม่ต้องพูดเก่ง แต่ขอให้มีจิตใจจะช่วยเหลือเขาจริงๆ”

วัชรินทร์ นิลสกุล กรรมการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวในวงพูดคุยถึงประสบการณ์ที่เคยมีร่วมกับสมชาย นีละไพจิตรว่า ยังจำได้ดีว่าเคยบอกอาจารย์สมชาย นีละไพจิตร ว่าตัวเองคงจะเป็นทนายไม่ได้ เพราะพูดไม่ค่อยเก่ง อาจารย์ตอบว่าไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง แต่ขอให้ตั้งใจทำงานและมีจิตใจที่จะช่วยเหลือเขาจริงๆ

หลังจากที่ฝึกงานกับอาจารย์เสร็จ อาจารย์ก็เรียกพวกเราทั้ง 3 คนที่ฝึกงานกับอาจารย์ไปพบ แต่จะเรียกเข้าไปกันทีละคน ตอนนั้นอาจารย์มอบเงินให้กับคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งอาจารย์มอบเสื้อสูทให้ ส่วนตนเองนั้นอาจารย์มอบเสื้อครุยให้ ซึ่งเสื้อตัวนี้อาจารย์น่าจะยังไม่ได้ใส่ เพราะอาจารย์พึงสั่งตัดมา คงตรงกับจังหวะพอดีอาจารย์ก็เลยมอบให้ตน แล้วอาจารย์ก็บอกตนว่าลองไปทำดูนะ จึงบอกอาจารย์ไปว่า ตัวเองไม่รู้จักทนายที่ไหนเลย ขออยู่กับอาจารย์ต่อได้หรือไม่ อาจารย์ก็บอกว่าได้แต่ที่นี่ไม่มีค่าจ้างให้ คำตอบตอนนั้นก็คือ “ขอทำต่อครับ”

หลังจากนั้นอาจารย์ก็เริ่มให้ทำคดี แต่ก็ไม่บอกไม่สอนอะไร เพราะอาจารย์ให้เราเรียนรู้กับอาจารย์มาแล้วปีกว่า ตอนเช้าอาจารย์เอาเอกสารคดีมรดกให้ทำ บอกแค่ว่าวันนี้อาจารย์ไม่ไปศาลนะ ให้เราไปศาลแพ่งคนเดียวทั้งที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จึงถามอาจารย์ว่าต้องถามอย่างไรบ้าง อาจารย์ก็ตอบว่าในคำร้องมันมีหมดแล้ว ครั้งนั้นเป็นวันแรกที่เราไม่รู้อะไรเลยแต่ต้องไปศาลคนเดียว โชคดีที่เสื้อครุยที่ใส่ไปดูใหม่เอี่ยมอยู่ ศาลก็เลยช่วยเหลือในการตรงไหนที่เราถามไม่ครบ

คดีแรกที่ได้ทำร่วมกับอาจารย์สมชายคือ คดีระเบิดซี4 ถูกจับมา 3 คน อาจารย์เข้าไปยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังไว้แต่แรกเลย สุดท้ายมี 2 ใน 3 ที่ไม่มีใครยืนยันว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด หลังจากนั้นตัวเองก็ทำคดีความมั่นคงต่อมาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นทนายร่วมกับอาจารย์

ส่วนวิถีชีวิตอาจารย์เท่าที่จำได้ ทุกครั้งที่อาจารย์มาสำนักงาน อาจารย์จะซื้อกับข้าวใส่ถุงติดมือมาด้วย แล้วพวกตนก็จะหุงข้าวกินกันตอนเที่ยงพร้อมกับอาจารย์ ยกเว้นวันจันทร์กับวันพฤหัส เพราะว่าอาจารย์ถือศีลอด จึงไม่กินข้าวกับพวกเรา อาจารย์จะเป็นคนเรียบง่าย ไม่ค่อยมีอะไรมาก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.