'ทนายภาวิณี' รับรางวัลสมชายฯ ย้ำ 'ถ้าคนไม่สู้ ทนายก็ทำอะไรไม่ได้'

Posted: 12 Mar 2017 05:15 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

'ภาวิณี ชุมศรี' ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2560 ระบุ “บทเรียนที่เราได้ในฐานะที่เป็นทนายความคือ ถ้าคนไม่สู้ ทนายก็ทำอะไรไม่ได้ จริง ๆ แล้วมันมาจากความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเขาเอง” ด้าน 'ไผ่ ดาวดิน–ฅนรักษ์บ้านเกิด–14 แรงงานพม่า' ได้รับรางวัลผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนน่ายกย่อง


ภาวิณี ชุมศรี รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2560 จากจอน อึ๊งภากรณ์

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 ในงานรำลึก 13 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประกาศรางวัลนักสิทธิมนุษยชนปี 2560 โดยคณะกรรมการคัดเลือกรายชื่อจากที่ประชาชนร่วมเสนอกว่า 20 รายชื่อ มีมติให้ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2560

สำหรับรางวัลผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนน่ายกย่องประจำปี 2560 มีจำนวนสามรางวัล ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ผู้ปกป้องสิทธิชุมชนจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ อ.วังสะพุง จ.เลย และกลุ่มแรงงานชาวพม่า 14 คน ที่ฟ้องและถูกฟ้องจากบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ
ภาวิณี ชุมศรี เจ้าของรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2560 กล่าวว่า งานของเธอคืองานทนายความ ซึ่งความจริงต้องชื่นชมกลุ่มต่างๆ ที่กล้าหาญออกมาต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรมอย่างกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว จนเสี่ยงถูกดำเนินคดี ถูกสังหารนอกระบบ รวมถึงถูกทำให้หายไป

“บทเรียนที่เราได้ในฐานะที่เป็นทนายความคือ ถ้าคนไม่สู้ ทนายก็ทำอะไรไม่ได้ จริงๆ แล้วมันมาจากความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเขาเอง”


ภาวิณีกล่าวว่า อุปสรรคที่ทำให้การทำงานยากก็คือโครงสร้างของรัฐที่มีความเป็นอำนาจนิยมสูง แม้มีอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่อำนาจเหล่านั้นไม่ทำหน้าที่ถ่วงดุลกัน คือ ฝ่ายบริหารเอนเอียงไปทางฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนที่น่าสะท้อนใจคือฝ่ายตุลาการก็ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการออกกฎหมายที่ไม่ชอบ

ภาวิณีกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ปลายน้ำ คดีต่างๆ ควรได้รับการตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิ และต้องได้รับแรงใจจากคนในสังคมด้วย

ขณะที่ วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งปกป้องชุมชนจากผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวทำนองเดียวกันว่า อุปสรรคที่ทำให้การทำงานปกป้องสิทธิชุมชนเป็นไปอย่างยากลำบากไม่ใช่หน่วยงานรัฐ แต่มาจากคนในชุมชนด้วยกันเอง

“เราเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน เราต่อสู้มาต่อเนื่อง ไปยื่นหนังสือแต่ก็ไม่เป็นผล ชุมชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ตอนแรกคนก็ช่วยเหลือกัน แต่พอโดนทำร้าย โดนคดี ทุกคนก็เริ่มถอย คนอื่นเขาทำมาหากิน แต่ทำไมเราต้องมาวุ่นวายเรื่องเหมือง แล้วกลุ่มก็ถูกมองว่าเป็นกลุ่มต่อต้านหัวรุนแรง เราถูกมองแบบนั้น ก็พยายามสื่อสารกับพี่น้องว่า การที่เราสื่อสารมันไม่ผิด เรามีสิทธิที่จะพูด”

“แต่ถ้าแม้คนในชุมชนเองยังไม่เข้าใจ มันก็บั่นทอนกำลังใจ ถ้าชุมชนไม่ช่วยกันดูแล ก็ยากที่จะเดินหน้าต่อ” วิรอนกล่าว


กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย

วิรอนกล่าวว่า “เรา ‘คิด’ ท้อได้ แต่ท้อไม่ได้ ถ้าเราไม่สู้ มันก็อยู่ไม่ได้” วิรอนกล่าวพร้อมย้ำว่า พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่จะสร้างผลกระทบที่หนักขึ้นกว่าเดิม ในฐานะคนในพื้นที่ จะขอคัดค้านเต็มที่โดยจะใช้ความเข้มแข็งสามัคคีสู้ให้ถึงที่สุด

ด้านพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของ ไผ่ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กล่าวรับรางวัลแทนไผ่ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำว่า คำว่ามนุษยชนมันยิ่งใหญ่ ไผ่เองเป็นเด็กวัยรุ่นที่ได้มองสภาพปัญหาสังคม การที่จะเข้าไปเห็นปัญหาชาวบ้านหรือความเดือดร้อนของคนในหมู่บ้านนั้นมันไม่ใช่สิ่งที่มโนขึ้นมา แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และการต่อสู้มันใช้เวลานาน จะให้รัฐเป็นฝ่ายสำนึกเองนั้นมันยาก เขาจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนมองเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันบ้าง ซึ่งประเทศไทยน่าจะภูมิใจมากกว่าการใช้อำนาจกดขี่จำกัดสิทธิคนอื่น


จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน


​พริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของ ไผ่ จตุภัทร์

“ถ้าเราปล่อยปละละเลยให้แก่อำนาจรัฐโดยไม่ท้วงติง สภาพต่างๆ ก็จะเป็นอย่างทุกวันนี้ ความชอบด้วยกฎหมายมันก็ต้องมีจิตสำนึกด้วย”

ในฐานะแม่ของนักต่อสู้ พริ้มกล่าวว่า “ลูกชายกับแม่ หัวใจเดียวกัน ไผ่เขามีจิตสาธารณะ แม่ภูมิใจในตัวลูกมาก”

ด้านแยแย ตัวแทนกลุ่มแรงงานพม่า 14 คนที่เผชิญหน้าทั้งในฐานะเป็นผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องจากนายจ้างซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมผู้ผลิตไก่รายใหญ่กล่าวว่า ในสภาพการทำงานที่ยากลำบากที่ต้องทำงานเกินเวลา ลูกจ้างทั้ง 14 คนยังถูกนายจ้างเก็บพาสปอร์ตและใบอนุญาตทำงานไว้ เมื่อเธอและเพื่อนพยายามเรียกร้องสิทธิ ก็ถูกฟ้องกลับด้วยข้อหาลักทรัพย์เพราะขโมยใบตอกบัตร รวมทั้งตำรวจเองก็พยายามจะให้เซ็นเอกสารที่มีแต่ภาษาไทยที่เธออ่านไม่ออก ปัจจุบันเธอและเพื่อนๆ ลาออกจากโรงงานแห่งนี้แล้ว แต่ยังมีคดีความอยู่หลายคดี รวมถึงคดีที่กลุ่มแรงงานเป็นฝ่ายฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากการถูกละเมิดเป็นระยะเวลาหลายปี


​แรงงานพม่า 14 คนที่ฟ้องและถูกฟ้องจากบริษัทอุตสาหกรรมไก่ใน จ.ลพบุรี

(อ่านประวัติผู้ได้รับรางวัลทั้งหมดเพิ่มเติมได้ที่นี่)

สำหรับกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ก่อตั้งเมื่อปี 2548 จากส่วนหนึ่งของเงินรางวัลแมกไซไซที่ จอน อึ๊งภากรณ์ได้รับ โดยรางวัลนี้มุ่งเน้นเป็นกำลังใจให้คนทำงานที่เสนอปัญหาการละเมิดและปกป้องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเสนอชื่อ บุคคล กลุ่มบุคคล ผลงานสื่อ และผลงานวิจัย ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

ปัจจุบัน กรรมการกองทุนได้แก่ จอน อึ๊งภากรณ์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประทับจิต นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อังคณา นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.