เมื่อระบบ 'รีพอร์ต' ของเฟซบุ๊กถูกกล่าวหาปล่อยปละละเลยรูปอนาจารเด็ก

Posted: 10 Mar 2017 11:10 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

สะเทือนความน่าเชื่อถือ 'ระบบรีพอร์ต' ของเฟซบุ๊ก เมื่อบีบีซีรายงานว่าในเฟซบุ๊กมีการปล่อยปละละเลยการรายงานเรื่องรูปภาพของเด็กที่ส่อไปในทางเพศและส่งตัวอย่างรูปที่ถูกรีพอร์ตแล้วยังไม่ถูกนำออกให้เฟซบุ๊กดู แต่กลับถูกตัวแทนเฟซบุ๊กนำเรื่องนี้ไปฟ้องตำรวจต่ออ้างว่าบีบีซีส่งต่อภาพอนาจารเด็ก ทั้งที่ตัวแทนเฟซบุ๊กเป็นผู้ขอตัวอย่างเอง


ที่มาของภาพประกอบ: Jason Howie/Flickr

10 มี.ค. 2560 สื่อบีบีซีรายงานว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เฟซบุ๊กปล่อยปละละเลยการรายงานเกี่ยวกับภาพของเด็กที่ถูกสื่อออกมาในเชิงกระตุ้นเร้าทางเพศ โดยปล่อยให้เนื้อหาเหล่านี้ยังคงมีอยู่ต่อไป

ดาเมียนส์ คอลลินส์ ประธานคณะกรรมการด้านวัฒนธรรม สื่อ และการกีฬา ของสหราชอาณาจักรกล่าวว่าเขามีความสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความมีประสิทธิภาพของระบบพิจารณาเนื้อหาของเฟซบุ๊ก จากที่มีกรณีการรายงานรูปล่วงละเมิดเด็กแต่จำนวนร้อยละ 80 ของที่ถูกรายงานไม่มีการนำรูปออก โดยมีการเผยแพร่รูปล่วงละเมิดเด็กดังกล่าวผ่านทางกลุ่มในเฟซบุ๊ก

นอกจากนี้หลังจากที่ทางสื่อบีบีซีส่งภาพตัวอย่างการล่วงละเมิดเด็กไปให้แต่ทางเฟซบุ๊กกลับไปแจ้งตำรวจให้เอาผิดนักข่าวบีบีซีรวมถึงยกเลิกการให้สัมภาษณ์โดยอ้างว่า "มันเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่ใครก็ตามจะส่งต่อรูปภาพการล่วงละเมิดเด็ก" โดยที่คอลลินส์แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่ามันเป็นเรื่องพิศดารที่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ทางการเอาผิดบีบีซีในเรื่องนี้

เฟซบุ๊กมีนโยบายนำเนื้อหาที่มีลักษณะอนาจารออกจากเว็บไซต์ของตัวเองโดยระบุว่าพวกเขาไม่อนุญาต "เนื้อหาโป๊เปลือยหรือเนื้อหาที่มีนัยยะส่อไปในทางเพศ" และสนับสนุนให้ผู้ใช้งานรายงานเนื้อหาเหล่านี้ให้เว็บไซต์ทราบได้

หลังจากที่มีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้จากบีบีซีเมื่อปีที่แล้วบริษัทเฟซบุ๊กยืนยันว่าพวกเขาพัฒนาระบบการรายงานเรื่องเหล่านี้แล้ว ในการสืบสวนสอบสวนปีที่แล้วบีบีซีพบว่ามีกลุ่มลับของคนผู้มีความใคร่ต่อเด็ก (paedophiles) แลกเปลี่ยนรูปแบบนี้กัน โดยที่ข้อมูลของบีบีซีทำให้ตำรวจสามารถจับกุมตัวชายผู้หนึ่งในกรณีนี้ได้

อย่างไรก้ตามบีบีซีพยายามพิสูจน์ข้ออ้างเรื่องระบบรีพอร์ตหรือระบบรายงานของเฟซบุ๊กโดยการรายงานภาพ 100 ภาพที่ผิดหลักแนวทางเฟซบุ๊กอย่างรูปในเชิงโป๊เปลือยของเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี แต่มีเพียง 18 รูป จาก 100 รูป ที่ถูกนำออก ระบบโต้ตอบอัตโนมัติของเฟซบุ๊กตอบกลับว่ารูปอีก 82 รูปที่เหลือไม่ได้ละเมิดมาตรฐานชุมชนเฟซบุ๊ก

นอกจากนี้บีบีซียังตรวจพบว่ามีบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นคนที่เคยถูกตัดสินในข้อหาเกี่ยวกับคดีทางเพศต่อเด็กมาก่อนทั้งๆ ที่เฟซบุ๊กมีกฎห้ามไม่ให้ผู้ที่ถูกตัดสินเกี่ยวกับคดีล่วงละเมิดทางเพศมีบัญชีรายชื่อเฟซบุ๊ก และแม้ว่าจะมีการรายงานผ่านระบบรีพอร์ตไปแล้วแต่เฟซบุ๊กก็ยังคงไม่นำบัญชีรายชื่อเหล่านี้ออกไป

คอลลินส์กล่าวว่าเรื่องเหล่านี้ชวนให้ตั้งคำถามว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กจะสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาได้โดยได้รับการตอบรับที่มีประสิทธิภาพหรือไม่

ทางด้านแอนน ลองฟิลด์ กรรมาธิการด้านเด็กของอังกฤษกล่าวว่าเธอรู้สสึกผิดหวังมากที่ยังคงมีเนื้อหาในเชิงกระทำทางเพศกับเด็กคงอยู่ในเฟซบุ๊ก และระบบการตรวจสอบพิจารณาของเฟซบุ๊กไร้ประสิทธิภาพ ชวนให้ตั้งคำถามว่ามนุษย์เป็นผู้ตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าระบบตรวจสอบของเฟซบุ๊กไม่ได้นำบริบทของเนื้อหาเข้าไปพิจารณาด้วย

สมาคมป้องกันการกระทำทารุณในเด็กของอังกฤษ (NSPCC) แสดงความกังวลในเรื่องนี้เช่นกันโดยระบุว่าการที่เฟซบุ๊กล้มเหลวในการนำเนื้อหาล่วงละเมิดเด็กออกจากเว็บไซต์ซึ่งขัดข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองเด็ก นอกจากนี้ยังชวนให้ตั้งคำถามว่าพวกเขามองงว่าเนื้อหาแบบไหนกันแน่ที่ไม่เหมาะสมหรืออันตราย

เฟซบุ๊กออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ในเวลาต่อมาระบุว่าพวกเขาได้ตรวจสอบเนื้อหาที่ถูกอ้างว่าเกี่ยวข้องกับพวกเขาแล้วและในตอนนี้ได้นำเนื้อหาเหล่านั้นออกไป แต่ในแถลงการณ์ของพวกเขาก็อ้างว่าที่นำบีบีซีไปแจ้งความต่อหลังจากที่บีบีซีส่งรูปภาพที่เป็นปัญหาให้เฟซบุ๊กดูนั้นเป็นการ "ทำตามมาตรฐานอุตสาหกรรม" ของพวกเขาเท่านั้น

จากที่ก่อนหน้านี้ไซมอน มิลเนอร์ ผู้อำนวยการของเฟซบุ๊กเป็นผู้ยื่นข้อเสนอยอมตกลงให้สัมภาษณ์กับบีบีซีโดยมีเงื่อนไขว่าบีบีซีจะต้องยกตัวอย่างโดยนำเนื้อหาที่บอกว่าเป็นปัญหานำเสนอให้พวกเขาดูด้วย แต่เมื่อบีบีซีทำตามเงื่อนไขแล้วกลับถูกแจ้งดำเนินการทางกฎหมาย

เดวิด จอร์แดน พูดถึงการที่เฟซบุ๊กนำเรื่องนี้ไปแจ้งต่อตำรวจว่าเป็นสิ่งที่พิลึกพิลั่นเพราะนั่นหมายความว่าเนื้อหาที่ถูกมองว่าผิดเหล่านี้เป็นเนื้อหาที่ถูกส่งเข้าเฟซบุ๊กก่อน ปรากฎในเฟซบุ๊ก และถูกแจ้งเพื่อให้จัดการกับรูปภาพที่ไม่เหมาะสม มาก่อนแล้วจอร์แดนคาดเดาว่าอาจจะเป็นเพราะฝ่ายบริหารของเฟซบุ๊กลังเลหรือไม่อยากให้สัมภาษณ์รวมถึงถกเถียงในเรื่องที่ว่าทำไมถึงปล่อยให้รูปเช่นนี้ยังคงอยู่ในเฟซบุ๊ก

ทางด้านหน่วยงานอาชญากรรมของอังกฤษก็ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่ากำลังมีการสืบสวนกรณีที่บีบีซีถูกฟ้องในเรื่องนี้หรือไม่



เรียบเรียงจาก

Facebook failed to remove sexualised images of children, BBC, 07-03-2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.