คดียังเหลือที่ศาลทหาร “ยากแต่ยังต้องหวัง” เมื่อคิดจะพาพลเรือนกลับศาลยุติธรรม

Posted: 05 Mar 2017 11:27 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

วงเสวนา “Do the right thing : เราจะพาพลเรือนกลับศาลยุติธรรม” ในงานนิทรรศการของ iLaw แม้ คสช.จะยกเลิกคดีใหม่ไม่ต้องขึ้นศาลทหารแล้วแต่คดีเก่ายังเหลือเพียบ นักกฎหมายต่างประเทศระบุไทยทำผิดหลักสากล กรรมการสิทธิฯ เคยแนะให้ยุติการดำเนินการแล้ว กฤษฎางค์ ทนายความรุ่น 6 ตุลาฯ ประเมิน “ยาก” ที่ทหารจะยอมแต่ยังต้องหวัง


เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2560 iLaw หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนจัดงานนิทรรศากร “ใครๆ ก็ไปศาลทหารได้ Military Court for everyone” ตั้งแต่วันที่ 3-5 มี.ค.2560 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในวันสุดท้ายเป็นวงเสวนาหัวข้อ “Do the “right” ting : เราจะพาพลเรือนกลับศาลยุติธรรม” โดยเป็นการมองไปข้างหน้าว่า ในขณะที่ยังคงมีคดีของพลเรือนค้างอยู่ในศาลทหารหลายคดีและยังมีกระบวนการพิจารณาคดีอยู่ในเวลานี้ จะมีหนทางใดหรือไม่ในการทำให้ให้คดีทั้งหลายกลับไปสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ วงเสวนามีวิทยากรคือ คิงสลีย์ แอบบ็อท จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความและอดีตนักกิจกรรมยุค 6 ตุลาฯ

กฤษฎางค์ นุตจรัส: ความเป็นไปได้ “ยาก” ที่พลเรือน “หัวกะทิ” ที่เหลืออยู่จะขึ้นศาลปกติ


กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความที่ทำคดีให้ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และอดีตนักกิจกรรมยุค 6 ตุลาฯ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่จะพูดต่อไปนี้ไม่ได้แปลว่าศาลทหารไม่ดีหรือศาลพลเรือนดี แต่ต้องการบอกว่ามันเป็นการไม่เหมาะสม ไม่ยุติธรรม ที่นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร เพราะว่าแม้ศาลทหารเป็นองค์กรที่ต้องมีและมีอยู่ทุกประเทศ มีความจำเป็น แต่สิ่งที่เราสู้มา 30-40 ปี คือการเอาพลเรือนในคดีการเมืองขึ้นศาลทหารนั้นเป็นเรื่องของการใช้อำนาจที่เป็นเผด็จการ สิ่งที่ศาลทหารต่างจากศาลพลเรือน คือ ตุลาการรัฐธรรมนูญศาลทหารถูกแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งไม่ต้องถามถึงความเป็นธรรมต่อพลเรือน ตัวอย่างเช่น จำเลยกำลังทะเลาะกับ คสช. แต่คนตัดสิน คือ ลูกน้อง คสช. เพราะแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม การจัดการทั้งหมดจึงอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม เพราะฉะนั้นความไม่เป็นธรรมจึงเกิดขึ้นอยู่แล้ว

การที่ทนายความต่อสู้ว่า การต่อสู้ของจำเลยเป็นธรรม มีความชอบธรรม เนื่องจากจำเลยสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ศาลไม่เคยฟังเลย สิ่งเหล่านี้อย่าว่าแต่ศาลทหารเลย ศาลพลเรือนก็ไม่ฟัง เพราะเขาถือว่า คสช. เป็น องค์รัฏฐาธิปัตย์ ใครก็ตามเมื่อปฏิวัติรัฐประหาร ได้อำนาจรัฐแล้วพอออกคำสั่งมากลายเป็นกฎหมายหมด ความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิด ผิดทั้งกฎหมาย ผิดทั้งหลักนิติปรัชญา ผิดศีลธรรม ผิดหลักความถูกต้อง ผิดหลักความยุติธรรม แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อเราอยู่บนโลกที่คนกลัวอำนาจเกินไป มีใครกล้าที่จะเอาผิด คสช.

สิ่งเหล่านี้ล้วนเคยเกิดขึ้นมาในอดีต ยกตัวอย่างหนึ่ง ตอนนั้นตัวเองอยู่ธรรมศาสตร์ปีสอง เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีการควบคุมตัวแกนนำ คุณสุธรรม แสงประทุมกับเพื่อนๆ นักศึกษา 17 คนขึ้นศาลทหาร และมี 1 คน ศาลอาญา การขึ้นศาลทหารในขณะที่มีการประกาศกฎอัยการศึกนั้นไม่สามารถแม้แต่จะแต่งตั้งทนายความได้ จำเลยซึ่งเป็นพลเรือนต้องขึ้นศาลทหารโดยไม่มีทนายความ ห้ามแต่งตั้งทนายความ แล้วห้ามอุทธรณ์ ฎีกา ปกติแล้วพลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหารแต่เนื่องด้วยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองซึ่งก็คือคณะปฏิวัติในขณะนั้นประกาศว่าถ้าพลเรือนกระทำความผิดฐานความมั่นคงให้ขึ้นศาลทหาร เหตุการณ์ในครั้งนั้น คุณสุธรรม แสงประทุม และเพื่อนๆ ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดในเช้าวันที่ 6 ตุลา ในขณะนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2517 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ จนกระทั่งถูกจับและเกิดการรัฐประหารในช่วงเย็นวันที่ 6 ตุลาฯ แล้วก็มีการออกคำสั่งให้ขึ้นศาลทหาร คุณสุธรรมกับเพื่อนในขณะนั้นแม้ไม่มีทนายความ พวกเขาก็ยังสู้ เขาใช้สิทธิในการต่อสู้ภายใต้รัฐธรรมนูญ คุณจะเอากฎหมายคำสั่งย้อนหลังของคณะรัฐประหารมาใช้อย่างไร เป็นการออกคำสั่งที่ไม่มีความชอบธรรม ในที่สุดแล้วเมื่อมีการรัฐประหารซ้อนขึ้นมา มีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายทำให้สามารถแต่งตั้งทนายความได้ และนำมาสู่การนิรโทษกรรม

ในฐานะคนที่เห็นภาพของบ้านเมืองไปในลักษณะนี้ เราต้องกดดัน นอกจากนักศึกษาและประชาชนคนรักประชาธิปไตย ตนเองยังไม่เห็นองค์กรใดๆ ที่เคลื่อนไหว ไม่เห็นองค์กรใดจะเป็นจะตายในเรื่องที่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิมนุษยชน วันนี้เรามีคอนเซ็ปท์แค่จะเอาพลเรือนกลับศาลพลเรือน แต่ไม่ได้แปลว่าการปฏิรูประบบยุติธรรมจะสำเร็จผล เมื่อพลเรือนกลับศาลยุติธรรมก็เป็นแค่ก้าวหนึ่งเท่านั้น เราต้องรอคอยการเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ

ถามว่าจะทำอย่างไรให้พลเรือนที่เหลืออยู่กลับสู่ศาลพลเรือน ตอบว่ายาก เพราะคณะรัฐประหารได้เก็บคนที่เป็นหัวกะทิให้ขึ้นศาลทหารทั้งหมด แล้วทุกคนอยู่ในกำมือเขาหมดแล้ว เขาไม่ปล่อยให้คนเหล่านี้ไปเป็นอันตรายต่อสถานะความมั่นคงของพวกเขา สิ่งที่เราทำได้ คือ ภายใต้การกดดันของระหว่างประเทศ ภายใต้แรงกดดันของเราเท่านั้นที่จะทำให้พลเรือนกลับสู่ศาลพลเรือนได้ เพราะสิ่งนี้ขัดกับข้อกฎหมาย จริงๆ แล้วนับตั้งแต่มีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก สิทธิในการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารหมดไปแล้ว เมื่อคุณเลิกกฎอัยการศึกก็จะต้องนำพลเรือนกลับไปพิจารณาคดีตามปกติ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ซึ่งศักดิ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญย่อมสูงกว่า คำสั่ง คสช. อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ คำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนยังมีอยู่ทั้งที่จริงมันต้องถูกยกเลิกไปแล้วนับตั้งแต่มีประกาศใช้ พ.ร.บ การชุมนุมสาธารณะ ตามหลักกฎหมายแล้ว กฎหมายใหม่ย่อมยกเลิกกฎหมายเก่า

“จริงๆ ทั้งสองตัวอย่างนี้มันจะต้องถูกยกเลิกไปแล้วหากเรามีศาลยุติธรรมที่กล้าหาญ กรรมการสิทธิฯ ที่กล้าหาญ อัยการที่กล้าหาญ เราคงต้องรอคนที่กล้าหาญ เราต้องมีความหวังเพราะหากไม่มีความหวัง ไม่สู้กันวันนี้ สิ่งเหล่าก็จะเกิดขึ้นกับลูกหลานเรา”

คิงสลีย์ แอบบ็อท: การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารขัดหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

หากถามว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารตามหลักเกณฑ์ของศาลทหารไทยถือว่าชอบธรรมหรือไม่ คำถามแบบนี้ตอบยากเหมือนกัน แต่จะถามกลับว่า พลเรือนควรขึ้นศาลทหารไทยตั้งแต่แรกหรือเปล่า เอาเข้าจริงรัฐบาลไทยก็เคยทำสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองซึ่งปัจเจกชนทุกคนต้องขึ้นศาลที่มีคณะผู้เชี่ยวชาญในคดี

ตามมาตรฐานสหประชาชาติ หรือมาตรฐานระดับสากล ศาลทหารหากจะมีควรถูกใช้เพื่อดำเนินกับบุคลากรทางทหารที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทหาร ซึ่งในสนธิสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ลงนาม คือพลเรือนจะต้องไม่ขึ้นศาลทหาร ตัวอย่างทั่วโลกก็มีแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน ศาลพลเรือนมีไว้เพื่อพลเรือน ส่วนศาลทหารมีไว้เพื่อทหาร อย่างเช่นแถบแอฟริกาและยุโรปจะเป็นไปตามแนวนี้ ฉะนั้นจะให้อธิบายอย่างไรต่อคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐบาลไทยในการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร ในเมื่อในทางสากลเขาไม่ได้เป็นอย่างนี้

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลไทยได้รายงานเรื่องนี้กับสหประชาชาติโดยให้เหตุผลเหมือนเดิม คือ มีความจำเป็นที่จะต้องธำรงไว้ซึ่งความสงบสุขของสังคมและเพ่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อดูเหตุผลนี้แล้วมีคำถามสำหรับประเทศไทยว่า เรื่องที่ควรมีความเป็นห่วงในเรื่องของปลอดภัยในตอนนี้คงต้องเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทำไมพลเรือนที่นั่นถึงขึ้นศาลพลเรือน ประชาชนที่นั่นก็เป็นประชาชนธรรมดาทั่วไป แต่ไม่ได้ขึ้นศาลทหาร ทั้งๆ ที่มันมีเรื่องประเด็นความปลอดภัย

มันความไม่สอดคล้องกันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะรัฐบาลทหารออกคำสั่งลงมาเป็นคำสั่งของทหารโดยแท้ แล้วพอเกิดประเด็นที่มีการกล่าวหาว่ามีการละเมิดคำสั่งหรือกฎหมายดังกล่าว คนที่ดำเนินการสอบสวนก็เป็นเจ้าหน้าที่ของฝ่ายทหาร แล้วนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร คนที่จะพิจารณาคดี คือ ตุลาการศาลทหาร ซึ่งมาจากกระทรวงกลาโหมที่เป็นของรัฐบาล ระบบเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการสากลและไม่ควรจะเป็น

เมื่อปีที่แล้วมีกระบวนการของสหประชาชาติเรียกว่า กระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน หรือ UPR ซึ่งในปีนั้นมีประเทศต่างๆ ทั้งหมด 12 ประเทศที่ให้ความเห็นและแนะนำให้ประเทศไทยยุติเรื่องการใช้ศาลทหารกับพลเรือน จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยผจญปัญหาจากความกดดันในประเทศและจากเวทีระหว่างประเทศด้วย แต่ความจริงคนที่จะทำให้มันหยุดเรื่องนี้ได้ก็คือรัฐบาลไทยเอง หวังว่าความกดดันเหล่านี้จะมากเพียงพอ เพราะจริงๆ ประเทศไทยก็มีชื่อเสียงในด้านสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคและระดับโลกในหลายเรื่อง แต่หลังจากนี้จะต้องมีคนมาบอกรัฐบาลไทยว่าถ้าทำอย่างนี้ผิดต่อมาตรฐานระหว่างประเทศ ทำไมไม่โอนคดีที่ค้างอยู่ให้กับศาลพลเรือนให้หมด เพราะกลไกของประเทศไทยก็มีศาลพลเรือน หรือศาลยุติธรรม ที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว คำถามถึงรัฐบาลก็คือ คุณจะปล่อยให้คนมาวิจารณ์ทำไม

สำหรับเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้จะมีการทบทวนสถานการณ์ว่าประเทศไทยได้ทำตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ หรือเวที ICCPR ซึ่งจะมีกรรมการ UN คอยทบทวนว่าประเทศไทยได้ทำตามมากน้อยแค่ไหน เพราะการเป็นภาคีต้องผ่านกระบวนการนี้ สำหรับประเทศไทยก็จะมีคำถามเกี่ยวกับศาลทหารว่ามีความเป็นอิสระ เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญมากแค่ไหน เมื่อสิ้นสุดกระบวนการทางกรรมการ UN ก็จะมีเอกสารปิดท้ายที่มีคำแนะนำว่ารัฐบาลไทยควรจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และหวังว่ารัฐบาลจะนำไปพิจารณาอย่างจริงจังและนำไปปฏิบัติใช้จริง

อังคณา นีละไพจิตร: ศาลทหารไม่ควรมีอำนาจในการดำเนิดคดีพลเรือน

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า โดยหลักแล้วการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ นั้นหากเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม หรือศาลทหารก็แล้วแต่ กรรมการสิทธิฯ ต้องหยุดปฎิบัตหน้าที่โดยทันที แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้กรรมการสิทธิฯ จะหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่ทางผู้เสียหายสามารถที่จะขอให้กรรมการสิทธิฯ เข้าไปเป็นพยานในชั้นศาลได้หรือขอเรียกเอกสารการตรวจสอบของกรรมการสิทธิฯ เข้าไปประกอบในการพิจารณาคดีได้

กรรมการสิทธิฯ ชุดที่ผ่านมาถึงชุดปัจจุบันมีความกังวลในเรื่องการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร หลังจากมีการรัฐประหารในปี 2557 ก็มีข้อร้องเรียนจำนวนมากทั้งเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เรื่องกระบวนการในศาลทหาร การเข้าถึงความยุติธรรมต่างๆ จนกระทั่งประมาณปี 2558 ก่อนกรรมกรสิทธิฯ ชุดที่สองจะหมดวาระ คณะกรรมการชุดที่สองไม่ได้มีการรายงานแต่มีข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีในหลายๆ เรื่อง ซึ่งก็มีเรื่องศาลทหารอยู่ด้วย

โดยเนื้อหาสำคัญที่คณะกรรมการสิทธิฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้น คือ การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นการไม่สอดคล้องกับมาตรา 14 ของกติกาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พลเมืองทุกคนจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม ต้องยึดหลักการสันนิฐานว่าทุกคนคือผู้บริสุทธิ์ก่อนที่จะมีคำพิพากษา นอกจากนนี้ผู้ต้องหาจะต้องมีสิทธิในการต่อสู้ทางคดีอย่างเต็มที่

นอกจากนั้นเรามีข้อกังวลเกียวกับกระบวนการยุติธรรมของศาสทหารซึ่งตรงนี้เป็นหลักสากล ต้องการให้รัฐมนตรีตระหนักถึงหลักสากลด้วย ในเรื่องขอบเขตอำนาจของศาลทหารในการดำเนินคดีของพลเรือน โดยหลัการแล้วศาลทหารไม่ควรมีขอบเขตอำนาจในการดำเนิดคดีของพลเรือน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.