ไทยพีบีเอสแจงลงทุนหุ้นกู้ซีพีเอฟ ยันไม่กระทบการทำสื่อสาธารณะ

Posted: 13 Mar 2017 07:05 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

13 มี.ค. 2560 กรณีมีกระแสข่าวว่าไทยบีพีเอสลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. ระบุว่า ปัจจุบันไทยพีบีเอสลงทุนในเงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้ง ตราสารหนี้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเพิ่งลงทุนในบริษัทดังกล่าวเป็นครั้งแรก แต่ยืนยันว่า การลงทุนตราสารหนี้ในบริษัทดังกล่าวไม่กระทบการทำงานสื่อสาธารณะ

ทั้งนี้ ผอ.ไทยพีบีเอส กล่าวด้วยว่า แม้ไทยพีบีเอสจะได้รับการจัดสรรงบประมาณบริหารองค์กรปีละ 2,000 ล้านบาท แต่จำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการบริหารองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการแพร่ภาพและการกระจายเสียงจึงจำเป็นต้องนำเงินรายได้ที่ได้รับจากค่าเช่าโครงข่ายมาบริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามพระราชบัญญัติ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2551 มาตรา 11 วรรค 7 ซึ่งกำหนดให้ไทยพีบีเอส สามารถนำผลตอบแทนที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์การโดยว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินดำเนินการและคณะกรรมการนโยบายรับทราบมาโดยตลอด

"ไทยพีบีเอสเน้นความมีอิสระโดยไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับเอกชนต่างๆ ได้ การบริหารเงินตรงนี้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเหมือนกับกรณีไปฝากธนาคาร ปกติไทยพีบีเอสไม่ได้เอาเงินของตัวเองใส่เซฟไว้แล้วเอาไปใช้ เราได้นำเงินไปฝากธนาคารของรัฐและเอกชน ครั้งนี้ก็คือการนำเงินไปซื้อตราสารหนี้ซึ่งก็ได้ดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงและเมื่อไปซื้อก็เป็นการซื้อผ่านธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์เลยและเขาก็ไม่สามารถที่จะมีอิทธิพลกับไทยพีบีเอสได้

"ไทยพีบีเอสไม่มีโฆษณาจึงไม่มีอิทธิพลกับเรา ก็อยากให้ประชาชนได้พิสูจน์ด้วยผลงานว่าไทยพีบีเอสได้ติดตามข้อมูลทั้งของรัฐและเอกชนอย่างเข้มข้น โดยไม่มีอิทธิพลที่จะมามีส่วนให้การทำงานของไทยพีบีเอสที่จะขาดความอิสระหรือบกพร่องจากการเป็นสื่อสาธารณะได้เลย" กฤษดา กล่าว

ด้านสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การลงทุนดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบกฎหมาย แต่อาจจะมีประเด็นที่ไทยพีบีเอสอาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะ

"การไปลงทุนในกิจการใดๆ แม้ว่าจะไม่เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นเพียงตราสารหนี้ซึ่งมีฐานะทำให้เป็นเจ้าหนี้ ซึ่งแท้จริงไม่ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เพียงแต่ว่าสังคมจะมองได้ว่าการไปลงทุนกับกิจการอื่นนั้นทำให้ไปมีความสัมพันธ์พิเศษ ซึ่งโดยทั่วไปไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น

"สำหรับองค์กรสื่อก็อาจจะต้องระมัดระวังอยู่บ้างว่าจะมีผลต่อภาพลักษณ์หรือความรู้สึก แม้ว่าในทางปฏิบัติจะไม่ได้มีความสัมพันธ์อย่างจริงจังก็ตาม" สมเกียรติ กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.