ชมรมสิงห์น้ำตาลฯ มมส.ลงศึกษาวิถีชุมชนดอนฮังเกลือ จ.ร้อยเอ็ด

Posted: 10 Mar 2017 09:46 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

นักศึกษาชมรมสิงห์น้ำตาลอาสา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงมาศึกษาชีวิตชุมชนดอนฮังเกลือและชุมชนใกล้เคียง ถือเป็นโรงครัวใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนมาหลายชั่วอายุคน นอกจากนี้ยังมีอีกชุมชนที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ทำกินมาอย่างยาวนาน


บึงเกลือ หรือที่เรียกว่า “ทะเลอีสาน” บนเนื้อที่กว่า 5 พันไร่ ผืนน้ำใหญ่กว้างสุดตา ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในชุมชน ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และชุมชนใกล้เคียงมาหลายชั่วอายุคน เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งน้ำที่มีความหลากหลายในระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และถือเป็นโรงครัวใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชุมชนมาหลายชั่วอายุคน นอกจากนี้ยังมีอีกชุมชนที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ทำกินมาอย่างยาวนาน จึงเป็นทีสนใจของนักศึกษาชมรมสิงห์น้ำตาลอาสา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ลงมาศึกษาชีวิตชุมชนดอนฮังเกลือ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา


นายอรรถพล สิงพิลา นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าถึงความรู้สึกที่ได้ลงพื้นที่ชุมชนดอนฮังเกลือ ว่า ทั้งนี้เป็นโอกาสดีในการได้ลงมาสัมผัสพื้นที่ชุมชนด้วยตนเอง ทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ รวมทั้งการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ที่ประชาชนทุกคนควรได้รับด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียม เพราะการลงพื้นที่นอกห้องเรียนครั้งนี้ ได้รับรู้ถึงความรู้สึกที่หดหู่ เศร้าใจ โดยได้รับฟังเสียงเล่าจากชาวบ้านต่อกรณีปัญหาผลกระทบที่ชาวบ้านชุมชนดอนฮังเกลือ ได้รับความเดือดร้อนนั้น สืบเนื่องจากนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ภายหลังในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านถูกประกาศเป็นที่สาธารณประโยชน์ดอนฮังเกลือ ต่อมาหน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ออกจากพื้นที่ทำกินเดิม อย่างไรก็ตามชาวบ้านร่วมกันต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง เพราะความเป็นจริงพื้นที่บึงเกลือที่ชาวบ้านอยู่นั้นเป็นที่ทำกินสืบทอดมานับแต่บรรพบุรุษ



“จริงๆแล้วชอบพื้นที่ชุมชนดอนฮังเกลือมาก เพราะนอกจากการต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ดิน ชาวบ้านที่นี่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ในบึงน้ำมีปลาหลายชนิด ให้ชุมชนได้จับหาเพื่อเลี้ยงชีพไปแต่ละวัน ซึ่งเป็นชุมชนที่อุดมสมบูรณ์น่าอยู่ อีกทั้งชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลพันธุ์ปลาขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งพักอาศัยและเพื่อเป็นการขยายพันธุ์ปลาไม่ให้สูญหาย และสิ่งที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชีวิตของชาวบ้านที่เดือดร้อนโดยตรงนั้น มีความรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างมาก เสมือนเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กลับคืนสู่ชุมชน เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นปกติสุข เพราะหากชาวบ้านไม่ได้ร่วมกันเรียกร้องต่อสู้ วิถีชีวิตของชุมชนซึ่งมีรายได้จากการหาปลามาหล่อเลี้ยงชีวิตครอบครัว รวมทั้งอาชีพเกษตรกรรม ก็คงสูญหายไปกับสายน้ำและผืนดิน ที่เป็นทั้งชีวิตและโรงครัวใหญ่ของชุมชน” อรรถพล บอกทิ้งท้าย


ด้านนางสาววริศรา แนวสุภาพ นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยความรู้สึกว่า พอได้ลงมาพื้นที่จึงได้รับรู้ว่ายังมีอีกหนึ่งพื้นที่ ที่มีการต่อสู้เรียกร้องในสิทธิที่ดินทำกิน ซึ่งชาวบ้านต่อสู้มาอย่างยาวนาน จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการที่จะได้ลงมาศึกษาต่อไปอีกในภายหน้า เพราะมีความรู้สึกดีที่ได้เห็นถึงความเชื่อมั่นและศรัทธาในอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องในเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ที่ถูกกดขี่ และได้เห็นอุดมการณ์ที่เข้มแข็งของชุมชน และที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ เป็นชุมชนที่มีการจัดสรรปันส่วนในพื้นที่ทำกินในด้านการเกษตรให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ในแหล่งน้ำที่ชุมชนดำเนินชีวิตด้วยการหาจับสัตว์น้ำนั้น ยังมีการอนุรักษ์พันธ์ปลาร่วมกันอีกด้วย



“ทั้งนี้ ในที่ทำกินของชุมชนได้ถูกประกาศเป็นที่สาธารณประโยชน์ ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบางครั้งก็ถูกละเลยจากสังคม หากไม่ใช่เป็นผู้ที่ประสบกับปัญหาด้วยตัวเอง ก็ไม่มีทางเข้าถึงปัญหาเหล่านี้ นอกจากได้ศึกษาอยู่ในเฉพาะห้องเรียน ซึ่งไม่สามารถสัมผัสถึงปัญหาที่แท้จริงได้มากนัก จึงถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาลงพื้นที่ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆแต่สิ่งที่ได้สัมผัสคือ ได้เรียนรู้ถึงสภาพวิถีการดำเนินชีวิต ที่สำคัญได้รู้สึกถึงความสัมพันธ์กับพ่อแม่พี่น้องในชุมชนดอนฮังเกลือเป็นอย่างดียิ่ง ได้เข้าใจถึงปัญหาในอีกมุมหนึ่งที่ต่างจากการศึกษาที่อยู่แต่ในห้องเรียน เพราะเป็นเพียงแค่ได้รับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ หรือรู้เพียงแค่ปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของผู้ที่ได้รับผลกระทบของชุมชน ” วริศรา เผยถึงความรู้สึกทิ้งท้าย

ทางด้านนายทองสา ไกรยนุช ชาวบ้านชุมชนดอนฮังเกลือ ต.บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด (สมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน คปอ.)ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านชุมชนดอนฮังเกลือ กว่า 20 ครอบครัว ร่วมกันประกอบอาชีพ โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งบนผืนดินและในผืนน้ำ กล่าวคือ บนผืนดิน ชุมชนทำการเกษตรด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล เช่น ช่วงฤดูฝนทำการปลูกข้าว หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็มาปลูกพืชผักต่างๆ เช่น พริก มะนาว ข้าวโพด แตง ถั่ว เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินให้ได้อย่างสมประโยชน์ คุ้มค่า มีความต่อเนื่องอย่างสูงสุด นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันฟื้นฟูและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมทั้งบนผืนดินและในน้ำให้เกิดความสมบูรณ์และยั่งยืน


นายทองสา บอกอีกว่า ด้านทรัพยากรทางน้ำในบึงเกลือ หรือที่เรียกว่า “ทะเลอีสาน” บนเนื้อที่กว่า 5 พันไร่ ได้ประกอบอาชีพการประมงมาหลายชั่วอายุคน ด้วยการจับสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู และปลาอีกหลากหลายพันธุ์ เช่น ปลาช่อน ปลาตะเพียนขาว ปลาคล้าว ปลาชะโด ปลาดุก และปลากด มาบริโภคในครัวเรือน ส่วนหนึ่งได้นำออกขายเป็นรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว ถือเป็นปกติของการดำเนินชีวิต โดยสิ่งที่หามาได้ทั้งทำกินเองและขาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินไปหาซื้อจับจ่ายในท้องตลาดให้มากนัก ถือเป็นการประหยัดรายจ่ายไปในตัวด้วย ส่วนการดูแลรักษาทั้งทรัพยากร และสัตว์น้ำ ชุมชนร่วมกันจัดบริเวณในบึงเกลือประมาณ 1 ไร่ เพื่อทำโรงเรียนอนุรักษ์พันธุ์ปลา โดยให้ปลาตัวเล็กได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ชาวบ้านร่วมกันเขตไว้ เพื่อให้ปลาได้มีการขยายพันธุ์ ไม่ให้สูญพันธุ์ เพราะในหนองน้ำนั้นมีความหลากหลายในระบบนิเวศ และถือเป็นโรงครัวใหญ่เพื่อรักษาไว้ให้เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตทั้งในสมาชิกของชุมชน และชุมชนใกล้เคียงให้เกิดความยั่งยืนสืบไป




“ด้านปัญหาผลกระทบที่ได้รับความเดือดร้อน แม้ชุมชนจะอาศัยอยู่ที่นี่มาแต่บรรพบุรษ ประกอบอาชีพหารายได้มาเลี้ยงชีวิต แต่ก็มีความขัดแย้งกับ อบต.บึงเกลือ มานับแต่ปี 2535 ด้วย อบต. อ้างว่าเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ดอนฮังเกลือ พยายามขับไล่ออกจากพื้นที่ จึงได้ร่วมกันลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน ด้วยหวังว่าให้ผืนดินตกทอดไปถึงลูกสู่หลาน กระทั่งได้ผลักดันทางนโยบายร่วมกับองค์กรภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ เพื่อให้ภาครัฐดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เพื่อชุมชนได้ถือกรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการที่ดินในสิทธิรวมหมู่ในการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน” ชาวบ้านชุมชนดอนฮังเกลือ กล่าวเพิ่มเติม

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.