ถอดประสบการณ์ในศาลทหาร หวั่นไม่อาจเป็นอิสระทางการเมือง

Posted: 05 Mar 2017 11:49 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ไอลอว์จัดเสวนา "ก้าวแรกในศาลทหาร Military Court at first sight” ประสบการณ์ในศาลทหารจากจำเลย ทนาย และผู้สังเกตการณ์ ชี้ศาลทหารไม่อาจเป็นอิสระทางการเมือง แนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจน สืบพยานที่ยืดเยื้อ

6 มี.ค. 2560 เมื่อวันที่ 3 มี.ค. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จัดงานนิทรรศการ " Military Court for Everyone: ใครๆ ก็ไปศาลทหารได้" ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในกิจกรรมคือ การเสวนาหัวข้อ "ก้าวแรกในศาลทหาร Military Court at first sight" เพื่อเล่าประสบการณ์จริงในศาลทหาร โดยมี ภาวิณี ชุมศรี หัวหน้าฝ่ายคดี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, รินดา พรศิริพิทักษ์ พลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหาร และคัคนางค์ ไกท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมือง คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจําประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ดำเนินรายการโดยอานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ไอลอว์

อานนท์ ชวาลาวัณย์ - รินดา พรศิริพิทักษ์ - คัคนางค์ ไกท์ - ภาวิณี ชุมศรี


ภาวิณี ชุมศรี: ศาลทหารกับแนวทางปฏิบัติที่ไม่ชัดเจนและการสืบพยานที่ยืดเยื้อ

ภาวิณีกล่าวว่า ศาลทหารควรมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่หวั่นไหวไปตามบริบทของสังคมข้างนอก เช่น คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่คนติดตามเยอะ ศาลไม่ให้ถ่ายผลการพิจารณา หรือกรณีนักศึกษา มีการปิดประตูไม่ให้ประชาชนที่สนใจเข้าฟังตั้งแต่ประตูศาลหลักเมือง ขณะที่ในเอกสารระบุว่าเป็นการพิจารณาปกติ ซึ่งความจริงกรณีนี้เป็นยิ่งกว่าการพิจารณาคดีลับ และกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดี

สำหรับประสบการณ์ในศาลทหาร ภาวิณีเห็นว่า ต้องเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น เดิมทนายพบผู้ต้องหาได้ในห้องพักทนายพลเรือน มีการคุยกับลูกความ ให้ความช่วยเหลือ ปรึกษา และเซ็นเอกสารใบอนุญาต แต่วันหนึ่งอาจจะเปลี่ยนไปอยู่ในห้องขังข้างล่าง ต้องขออนุญาต อ้างไม่ได้ว่าที่ศาลพลเรือนไม่ได้เป็นแบบนี้ เพราะเขาจะบอกว่าที่นี่คือศาลทหาร สำเนาเอกสาร เช่น รายงานกระบวนพิจารณา บางทีคัดถ่ายไม่ได้ ศาลให้เหตุผลว่า ทนายอยู่ในห้องพิจารณาแล้ว ไม่จำเป็นต้องคัดถ่าย แต่บางวันก็ให้ถ่าย ไม่แน่ใจว่ามีมาตรฐานอะไร

หรือการยื่นขอประกันตัว ไม่ว่าอย่างไรต้องเอาผู้ต้องหาไปไว้ที่เรือนจำก่อน ซึ่งทำให้การดำเนินการปล่อยตัวเป็นไปด้วยความล่าช้า บางกรณีต้องรอเจ้าหน้าที่เดินทางมาจากศาลเอาหมายอนุญาตประกันตัวมา พอหลังๆ จึงมีการเปลี่ยนแปลงให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เอาหมายไปก่อนได้ ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ศาล

ภาวิณีตั้งคำถามว่า ความผิดฐานไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ไม่มีในประมวลกฎหมายอาญา กฎอัยการศึกก็ไม่ได้กล่าวไว้ มีแต่ในประกาศ-คำสั่ง คสช.เท่านั้น นอกจากนี้ ถามด้วยว่ากรณีโพสต์แสดงความคิดเห็นแต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการยุยงปลุกปั่นสร้างความไม่สงบ ตามมาตรา 116 คนเหล่านี้ควรต้องถูกดำเนินคดี ต้องไปเรือนจำถูกตรวจร่างกายจริงๆ หรือ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีการปรับปรุงกฎดังกล่าว

ภาวิณีตั้งข้อสังเกตว่า นกระบวนการพิจารณาคดีไม่มีการบันทึกจากปากคำของจำเลยเอง แต่ผู้พิพากษาจะเป็นคนสรุปความลงในเครื่องอัดเสียงแล้วจดบันทึก เมื่อเวลาผ่านไปคำพิพากษาหรือสำนวนขึ้นไปยังศาลสูง ศาลจะได้แต่สิ่งที่จดบันทึก ไม่ได้บรรยากาศและถ้อยคำจริงๆ ว่าพูดอย่างไร คำบางคำ เช่น “รัฐประหาร” “มีทหารควบคุมตัวไป” “ประชาธิปไตย” “เผด็จการ” ศาลจะพยายามหลีกเลี่ยง เวลาทนายเขียนคำร้องเหล่านี้ ศาลจะให้แก้ ซึ่งทนายจะถามความเห็นของจำเลย จำเลยบางคนก็ยอมแก้ เพราะกลัวโดนฟ้องข้อหาละเมิดอำนาจศาล

นอกจากนี้ ยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาสืบพยานที่แน่ชัดเหมือนศาลพลเรือน การสืบพยานจึงยืดเยื้อออกไป มีพยานฝ่ายโจทก์ ตำรวจ ทหาร ที่อ้างติดราชการ จำเลยที่ไม่ได้ประกันตัวและติดคุกมาแล้วก็ต้องรอต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภาวิณีกล่าวว่าศาลทหารก็มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในบางเรื่อง เช่น แต่เดิมศาลใช้การจดเวลาพยานเบิกความซึ่งทำให้ล่าช้า แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นระบบที่เมื่อพูดแล้วจะเปลี่ยนเป็นตัวหนังสือ

รินดา พรศิริพิทักษ์: ประสบการณ์กับศาลทหาร

รินดา ถูกจับจากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท เธอถูกตั้งข้อหาฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เธอถูกฝากขังที่เรือนจำเป็นเวลา 3 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว

“ตอนขึ้นศาล ได้แต่จับมือคนที่เป็นที่พึ่งของเราให้แน่นๆ ทนายวิ่งเข้าวิ่งออก เราไม่รู้สึกอะไรนอกจากกลัว ที่สุดทนายบอกต้องได้รับประกันตัววันนี้แน่นอน คดีนี้ไม่มีทางถูกขังหรอก แต่ถูกสั่งเข้าเรือนจำตอนพลบค่ำ ศาลไม่ให้ประกันตัว เหตุอาจเพราะข่าวดังมาก เข้าไปใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ ในเรือนจำ ตอนโดนตรวจร่างกาย เข้าใจว่ากลัวเรื่องครอบครองยาเสพติด แต่สำหรับเราถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นรุนแรง แทบจะหมดความเป็นมนุษย์ ถูกตรวจซ้ำๆ ถึงสามครั้งติดกัน เป็นครั้งแรกในชีวิตที่สวดมนต์ตลอดคืนจนหลับ”

เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องพลเรือนขึ้นศาลทหาร รินดากล่าวว่า พิสูจน์ได้ว่าประชาชนของประเทศนี้ไมได้อยู่ในการคุ้มครองทางกฎหมาย สิทธิของเราไม่ได้เป็นของเรา เราคือประชาชนแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่อาจยอมรับได้เลย


คัคนางค์ ไกท์: ศาลทหารไม่อาจเป็นอิสระทางการเมือง

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดี ทางสหภาพยุโรปมีความกังวลต่อเรื่องนี้ ทางสหภาพฯ ทำหน้าที่คล้ายสถานทูตซึ่งทำงานตามหลักปฏิญญาสากล พลเรือนไม่ควรถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เพราะ ไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินคดีที่เป็นธรรม และปฏิญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยให้สัตยาบันในปี 2549 นอกจากนี้ ศาลทหารอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมจึงไม่อาจเป็นอิสระทางการเมือง ขณะที่ตุลาการศาลพลเรือนไม่ได้ขึ้นตรงกับกระทรวงใด อีกทั้งตุลาการศาลพลเรือนต้องมีความเชี่ยวชาญด้านคดีพลเรือน ซึ่งศาลทหารไม่มี

เมื่อถามถึงข้อแตกต่างของบรรยากาศระหว่างศาลพลเรือนและศาลทหาร คัดนางค์กล่าวว่า ในศาลพลเรือนสามารถเดินเข้าไปสังเกตการณ์ได้เลย แต่ศาลทหาร บางทีห้องเล็กมาก สมาชิกของสหภาพยุโรปซึ่งมากันเป็นกลุ่มเข้าไปไม่ได้ทั้งหมด หลังๆ มีการส่งจดหมายแจ้งไปก่อน แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบกลับ และบางทีตุลาการทหารสั่งพิจารณาคดีลับ

คัคนางค์ กล่าวว่า การปกป้องจำเลยที่เป็นนักกิจกรรม นักสิทธิมนุษยชน หรือทนาย ซึ่งถูกละเมิดสิทธิ บางคนถูกดำเนินคดี ฆาตกรรม ถูกบังคับให้สูญหาย หลังการแสดงความเห็น หรือการชุมนุมโดยสันติ เป็นหัวใจสำคัญ ยังมีคดีที่ค้างอยู่อีกซึ่งทางสหภาพยุโรปจะประสานกับสถานทูตต่างๆ เพื่อสังเกตการณ์คดีเหล่านี้ต่อไป

“ช่วงแรกที่ไทยอยู่ใต้กฎอัยการศึก ศาลทหารไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ปี 2558 มีการอุทธรณ์ได้ แต่เป็นการอุทธรณ์จากศาลทหารหนึ่งมาอีกศาลทหารหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่เป็นธรรมมากขึ้น บทลงโทษที่รุนแรงมากกว่าศาลพลเรือน” คัคนางค์กล่าวและว่า แม้ ตอนนี้จะยุติการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารแล้ว แต่มีจำนวนคดีอีกไม่น้อยที่ยังค้างอยู่ในนั้น ควรย้ายกลับมาศาลพลเรือน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.