ก.แรงงาน แจงเวทีสิทธิฯ ยูเอ็น ยันดูแลแรงงานต่างด้าวทัดเทียมหลักสากล

Posted: 16 Mar 2017 11:02 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ก.แรงงาน แจงบนเวทีประชุมสิทธิมนุษยชนยูเอ็น ย้ำ ดูแลแรงงานต่างด้าวทัดเทียมหลักสากล พร้อมนำเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงทะเล



16 มี.ค.2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานระบุว่า สุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลการชี้แจงจากเวทีการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รอบของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13 - 14 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมี วิวัฒน์ ตังหงส์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะ เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงานได้นำเสนอรายงานตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ 2 ด้วยวาจา ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

วิวัฒน์ ได้รายงานว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าและผู้ที่ผ่านการตรวจสอบสัญชาติและปรับสถานะมีเอกสารประจำตัวและได้รับใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสิ้นจำนวน 1.3 ล้านคน และมีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ขึ้นทะเบียนถือบัตรอนุญาตทำงานชมพู และได้รับการผ่อนผันชั่วคราวให้พักอาศัยและทำงานในประเทศไทย ตามระยะเวลาที่กำหนด หรือจนกว่าจะเดินทางออกจากประเทศไทย จำนวน 1.4 ล้านคน แรงงานต่างด้าวทั้งสองกลุ่มได้รับการคุ้มครองสิทธิในการทำงานภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้รับค่าจ้างและความคุ้มครองเช่นเดียวกับคนไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ถือบัตรอนุญาตทำงานสีชมพูที่ยังไม่มีเอกสารประจำตัวที่ออกให้โดยประเทศต้นทางจะยังไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในระบบประกันสังคมได้ แต่จะได้รับการดูแลการรักษาพยาบาลตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข กรณีแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารประจำตัวสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนและได้รับการคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมเช่นเดียวกับคนไทย นอกจากนี้ในปี 2559 รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรชมพูสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง เพื่ออยู่ร่วมกับครอบครัวในเดือนเมษายน ระหว่างเทศกาลปีใหม่ตามประเพณีของอนุภูมิภาค และเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยต่อได้ ขณะที่ในปี 2560 รัฐบาลไทย ยังได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรชมพูเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวได้เป็นเวลา 20 วันในเดือนเมษายน

ทั้งนี้ ผู้แทนกระทรวงแรงงานยังได้นำเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงทะเล ได้แก่ การยกร่าง พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว กฎกระทรวง สภาพการทำงานบนเรือประมง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการออก Sea Book ให้แก่คนงานบนเรือประมง การดำเนินการตามพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 และข้อมูลการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง ช่องทางการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ความคืบหน้าในการลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านแรงงานและข้อตกลงด้านการจ้างงาน และความพยายามของรัฐบาลไทยในการเจรจากับประเทศต้นทางเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำเข้าแรงงานต่างชาติแบบรัฐต่อรัฐ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.