ช่องว่างค่าตอบแทนในเกมกีฬา ‘หญิง vs ชาย’

Posted: 05 Mar 2017 04:07 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศเรื่องค่าตอบแทนจากการทำงานยังคงมีอยู่เกือบทุกอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับอุตสาหกรรม ‘กีฬา’ ที่แม้จะมีผู้หญิงเป็นนักกีฬาอาชีพและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกีฬามากขึ้น แต่กระนั้นพบว่าเรื่องค่าตอบแทนของพวกเธอยังสู้นักกีฬาชายไม่ได้


‘กีฬา’ ซึ่งเคยเป็นโลกของผู้ชาย พบปัจจุบันมีผู้หญิงเป็นนักกีฬาอาชีพและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกีฬามากขึ้น แต่กระนั้นพบว่าเรื่องค่าตอบแทนของนักกีฬาหญิงยังสู้นักกีฬาชายไม่ได้ (ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org)

ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศในเรื่องของค่าตอบแทนจากการทำงานยังคงเป็นปัญหาที่เกือบทุกประเทศและเกือบทุกอุตสาหกรรมเผชิญอยู่ ในรายงาน Global Gender Gap Report 2015 ของ World Economic Forum ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่าค่าตอบแทนจากการทำงานของผู้ชายและหญิงจะเท่าเทียมกันภายในปี 2676 (ถ้านับจากปัจจุบันก็อีก 116 ปี) โดยสถานการณ์ ณ ปี 2551 ประมาณการณ์ว่าเฉลี่ยแล้วผู้หญิงมีรายได้เพียง 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ส่วนผู้ชายมีรายได้เฉลี่ย 11,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาในปี 2558 แม้ตัวเลขรายได้จะขยับขึ้นแต่ช่องว่ากลับไม่ลดลง โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงมีรายได้เพียง 11,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่ผู้ชายขยับไปเป็น 21,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ อนึ่งข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุว่า 10 ประเทศที่มีอัตราค่าแรงเฉลี่ยต่อเพศที่เท่าเทียมกันที่สุดคือ ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, ฟินแลนด์, สวีเดน, ไอร์แลนด์, รวันดา, ฟิลิปปินส์, สวิตเซอร์แลนด์, สโลวีเนีย และนิวซีแลนด์
‘เงินรางวัล’ ไม่เท่ากัน


รู้หรือไม่ว่าแชมป์ฟุตบอลโลกทีมชายและทีมหญิงนั้นได้เงินรางวัลไม่เท่ากัน (ที่มาภาพ: wikipedia.org และ FIFA.com)

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำนี้ก็พบในวงการกีฬาด้วยเหมือนกัน โดย vouchercloud.com ได้รวบรวมตัวเลขเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับรายได้ในวงการกีฬาไว้เมื่อปี 2558 โดยในด้านเงินรางวัลนั้น พบว่าทีมแชมป์ฟุตบอลโลก (FIFA World Cup) ทีมชายจะได้รับ 22 ล้านปอนด์ ส่วนทีมแชมป์ฟุตบอลโลกทีมหญิงได้รับเพียง 6 แสนปอนด์, ทีมแชมป์ UEFA Champions League (ชาย) ได้รับ 8.3 ล้านปอนด์ ส่วนทีมแชมป์ UEFA Champions League (หญิง) ได้รับเพียง 2 แสนปอนด์, แชมป์ FA Cup (ชาย) ได้รับเงินรางวัล 1.8 ล้านปอนด์ ส่วนแชมป์ FA Cup (หญิง) ได้รับเพียง 5 พันปอนด์เท่านั้น ในด้านการแบ่งลิขสิทธิ์จากการถ่ายทอดสด พบว่าการแข่งขัน Premier League นั้นมีการแบ่งผลกำไร 97.5 ล้านปอนด์ ส่วนการแข่งขัน Women's Super League นั้นไม่มีเลย ทั้งนี้มูลค่าลิขสิทธิ์ของการถ่ายทอดสด Premier League สูงขึ้นทุก ๆ ปี และจะทะลุ 5.1 พันล้านปอนด์ในปี 2559-2562 (มูลค่าลิขสิทธิ์ของการถ่ายทอดสด Women's Super League นั้น vouchercloud.com ไม่ได้ระบุไว้)
‘รายได้’ ยิ่งห่างไปกันใหญ่


สุดยอดนักชกของทั้งฝ่ายชายและหญิงอย่าง Floyd Mayweather Jr. และ Lucia Rijker รายได้ยังห่างกันแทบจะไม่เห็นฝุ่น (ที่มาภาพ: wikimedia.org [1] และ [2])

ข้อมูลจาก vouchercloud.com ระบุว่าในกีฬาฟุตบอลนั้นขณะที่ Wayne Rooney ได้รับค่าเหนื่อยจากต้นสังกัด 300,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ อีกด้านพบว่า Marta Vieira da Silva หรือ Marta นักฟุตบอลหญิงทีมชาติบราซิลได้รับค่าเหนื่อยเพียง 4,900 ปอนด์ต่อสัปดาห์เท่านั้น ในกีฬามวย Floyd Mayweather Jr. โคตรมวยชาวอเมริกัน ฉายา 'Money' มีรายได้ประมาณการณ์เมือปี 2558 ที่ 409.5 ล้านปอนด์ ส่วน Lucia Rijker นักมวยอาชีพหญิงชาวดัทซ์ ที่มีสถิติชกมวยสากลอาชีพ 17 ครั้ง ชนะ 17 ครั้ง (ชนะน๊อค 14 ครั้ง) สถิติชกมวยคิกบ๊อกซิ่ง 37 ครั้ง ชนะ 36 ครั้ง (ชนะน๊อค 25 ครั้ง) เสมอ 1 ครั้ง มีรายได้ประมาณการณ์ปี 2556 ที่เพียง 27,300 ปอนด์

ส่วนการจัดอันดับนักกีฬาที่รวยที่สุดของ forbes.com เมื่อปี 2558 ก็พบว่าใน 100 อันดับแรกนั้นมีนักกีฬาหญิงเพียง 2 คนเท่านั้นที่ติด 100 อันดับแรก คือ อันดับที่ 40 Serena Williams รายได้รวมต่อปีที่ 28.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าเหนื่อย-เงินรางวัลการแข่งขัน 8.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากรายได้อื่น ๆ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อันดับที่ 88 Maria Sharapova รายได้รวมต่อปีที่ 21.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าเหนื่อย-เงินรางวัลการแข่งขัน 1.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากรายได้อื่น ๆ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งสองคนมาจากวงการเทนนิส ที่จะกล่าวในหัวข้อต่อไปว่าเป็นประเภทกีฬาที่ให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดกีฬาหนึ่ง

ส่วนอันดับ 1 ของการประเมินนี้คือนักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์ Cristiano Ronaldo รายได้รวมต่อปีที่ 88 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าเหนื่อย-เงินรางวัลการแข่งขัน 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากรายได้อื่น ๆ 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในวงการเทนนิสนั้น Roger Federer คือนักกีฬาที่มีรายได้สูงสุด ติดอันดับที่ 4 โดยมีรายได้รวมต่อปีที่ 67.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าเหนื่อย-เงินรางวัลการแข่งขัน 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากรายได้อื่น ๆ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
แต่ตัวอย่างดี ๆ ก็มีนะ


กีฬาเทนนิสให้ความสำคัญเรื่องเงินรางวัล "อย่างเท่าเทียมทางเพศ" มากที่สุดกีฬาหนึ่ง (ที่มาภาพประกอบ: wikipedia.org)

ข้อมูลจาก vouchercloud.com ยังระบุว่าในวงการเทนนิสนั้นถือว่าให้ความสำคัญเรื่องเงินรางวัลที่เท่าเทียมทางเพศ มากที่สุดกีฬาหนึ่ง โดยการแข่งขัน US Open ถือว่าเป็นรายการแข่งขันกีฬาอาชีพรายการแรกของโลกที่ให้เงินรางวัลผู้ชนะประเภทชายและหญิงเท่ากันมาตั้งแต่ปี 2516 และได้กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติให้รายการแกรนด์สแลมทั้ง 4 รายการในปัจจุบันปฏิบัติสืบทอดต่อเนื่องมาโดยการแข่งขัน Wimbledon เมื่อปี 2558 ผู้ชนะทั้งประเภทชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยวจะได้รับเงินรางวัล 1.9 ล้านปอนด์

นอกเหนือจากเทนนิสแล้ว ยังมีประเภทกีฬาที่คำนึงถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศนี้ (เฉพาะเงินรางวัลจากแข่งขัน ไม่นับรวมรายได้อื่น ๆ ของนักกีฬา) อาทิ การแข่งขันนิวยอร์คมาราธอน และลอนดอนมาราธอน (เริ่มให้เงินรางวัลเท่ากันที่นิวยอร์คในปี 2527), การแข่งขันโบว์ลิ่งชิงแชมป์โลก (เริ่มปี 2531), การแข่งขันยิงปืนชิงแชมป์โลก (เริ่มปี 2531), การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดเวิร์ลด์ทัวร์ (เริ่มปี 2535), การแข่งขันยิงธนูชิงแชมป์โลก (เริ่มปี 2549) การแข่งขันไตรกีฬาเวิร์ลด์ซีรีย์แกรนด์ไฟนอล (เริ่มปี 2553) และการแข่งขันกระโดดน้ำชิงแชมป์โลก (เริ่มปี 2556) เป็นต้น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.