'ซูจี' เพิ่มบทบัญญัติของตัวเองลงในร่างกฎหมาย 'เฮทสปีช' ของเมียนมาร์

Posted: 11 Apr 2017 12:01 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เมียนมาร์มีปัญหาการปลุกปั่นยุยงให้เกิดความเกลียดชังต่อศาสนาอยู่จริง แต่ร่างกฎหมายต่อต้านเฮทสปีชหรือ "คำพูดสร้างความเกลียดชัง" ฉบับใหม่ก็มีคนวิจารณ์ว่ากลัวจะถูกนำมาอ้างใช้ผิดๆ โดยอองซานซูจีที่ปรึกษาแห่งรัฐได้เพิ่มเติมบทบัญญัติของตัวเองลงไปด้วย หลังจากหารือกับนานาชาติแล้วตามคำบอกเล่าของพรรครัฐบาล

อิระวดีรายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า อองซานซูจี ที่ปรึกษารัฐของเมียนมาร์เพิ่มเติมบทบัญญัติของตัวเองลงในร่างกฎหมายต่อต้านเฮทสปีชหรือ "คำพูดสร้างความเกลียดชัง" โดยที่รัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนาและวัฒนธรรมเปิดเผยว่าซูจีได้ปรึกษากับประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกเพื่อขอคำแนะนำในการร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้

การเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการเติมเข้าไปขณะที่ร่างกฎหมายอยู่ในร่างที่ 4 มีเนื้อหาระบุว่ากฎหมายฉบับนี้จะอนุญาตให้ตำรวจปฏิบัติการทางกฎหมายต่อใครก็ตามที่แพร่กระจายข้อความสร้างความเกลียดชัง อย่างไรก็ตามนิยามของคำว่าเฮทสปีชในร่างกฎหมายของเมียนมาร์ยังไม่มีความชัดเจนนัก

ในระดับสากลแล้วคำว่าเฮทสปีช (hate speech) คือการใช้ถ้อยคำกล่าวโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยฐานของคุณลักษณะของบุคคลนั้นๆ เช่น เพศสภาพ, พื้นเพทางชาติพันธุ์, ศาสนา, เชื้อชาติ, ความพิการ หรือรสนิยมทางเพศ กฎหมายที่ห้ามเฮทสปีชในบางประเทศจะระบุห้ามการสื่อในเชิงยุยงให้เกิดความรุนแรงหรือการปฏิบัติอย่างมีอคติต่อกลุ่มบุคคลที่มีคุณลักษณะตามที่ได้รับการคุ้มครอง

ในเมียนมาร์นั้นมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์หัวรุนแรงกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า มะบ๊ะต๊ะ มักจะใช้วาจาในเชิงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังต่อชุมชนชาวมุสลิม

อ่องโก (Aung Ko) รมว.กระทรวงกิจการศาสนาและวัฒนธรรมกล่าวว่า พระส่วนใหญ่ในกลุ่มมะบ๊ะต๊ะ "มีศีลธรรมและปัญญาธรรม" และบอกอีกว่า "มี(พระ)จำนวนเล็กน้อยเท่านั้นที่สอนโดยใช้วาจาให้เกิดความเกลียดชัง"

อย่างไรก็ตามกลุ่มจับตามองเฮทสปีชที่มีฐานในย่างกุ้ง “โนเฮทสปีชโปรเจกต์” (No-Hate Speech Project) เปิดเผยว่าเมื่อชาวเมียนมาร์สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็มีการใช้ถ้อยคำเผ็ดร้อนในการพูดถึงเชื้อชาติและศาสนาอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ในร่างที่สามของกฎหมายเฮทสปีชของเมียนมาร์ระบุว่าการตีพิมพ์หนังสือ เผยแพร่ออกอากาศ หรือถ่ายทอดสดวิดีโอ และเผยแพร่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงทางอินเทอร์เน็ตในเชิงยุยงให้เกิดความเกลียดชังทางศาสนาจะถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี

อย่างไรก็ตาม เนโพนลัต (Nay Phone Latt) สมาชิกสภาภาคย่างกุ้งผู้ที่เคยรณรงค์โครงการ "วาจาดอกไม้" เพื่อต่อต้านเฮทสปีชกล่าวว่าเขากังวลว่าอันตรายของกฎหมายนี้คืออาจจะมีคนนำมาใช้ในทางที่ผิดเพื่อเป็นการแก้แค้นส่วนตัว อย่างไรก็ตามเขาเห็นด้วยว่ากฎหมายนี้ควรจะลงโทษผู้ที่สร้างความขัดแย้งและก่อปัญหาให้กับสังคมเท่านั้น เขายังเสนออีกว่าควรจะมีการเพิ่มบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการต่อต้านเฮทสปีชลงไปในกฎหมายคอมพิวเตอร์แทนการเขียนกฎหมายใหม่แยกออกมาเลย

ในการร่างกฎหมายนี้กลุ่มผู้นำศาสนาต่างๆ และกลุ่มส่งเสริมมิตรภาพระหว่างศาสนาของเมียนมาร์ต่างก็มีส่วนในการกำหนดเกณฑ์ร่างกฎหมายนี้ในเบื้องต้นก่อนที่จะดำเนินการร่วมกับกระทรวงกิจการศาสนาและวัฒนธรรมจนเป็นร่างกฎหมายออกมา


เรียบเรียงจาก

Daw Aung San Suu Kyi Alters Draft of Hate Speech Law, Irrawaddy, 03-04-2017
https://www.irrawaddy.com/news/burma/daw-aung-san-suu-kyi-alters-draft-hate-speech-law.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Hate_speech

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.