อีสต์เอเชียฟอรั่มเสนอทางออกอย่างสันติ หลังสหรัฐฯ เคลื่อนกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินกดดันเกาหลีเหนือ

Posted: 11 Apr 2017 07:51 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

บทบรรณาธิการของวารสารเกี่ยวกับเอเชียตะวันออก ชวนทำความเข้าใจเรื่องการขู่สั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ พร้อมประเมินว่าการด่วนโจมตีก่อนจากฝ่ายสหรัฐฯ อาจจะส่งผลกระทบเลวร้ายและเสี่ยงเกินไป สิ่งที่จะปลดล็อกปัญหานี้ได้ควรจะใช้วิธีการทางการทูต และระบบตลาดที่มุ่งประชาชนเกาหลีเหนือมากกว่า

11 เม.ย. 2560 เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นที่เกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐอเมริกาต่อคาบสมุทรเกาหลีกลายเป็นที่จับตามองเมื่อสหรัฐฯ สั่งเคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส คาร์ล วิลสัน จากสิงคโปร์ไปยังคาบสมุทรเกาหลี หลังมีความกังวลเรื่องการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนือ วารสารเชิงวิเคราะห์เอเชียอีสต์เอเชียฟอรัม นำเสนอบทบรรณาธิการเรื่อง เกาหลีเหนือกับอาวุธนิวเคลียร์ และความพยายามปลดอาวุธโดยชาติตะวันตกตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน และวิธีการใดที่จะสามารถ "ปลดอาวุธ" เกาหลีเหนือได้จริง

นับตั้งแต่เกาหลีเหนือประกาศเจตจำนงว่าว่าจะออกจากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-proliferation Treaty) ในปี 2536 ประชาคมโลกก็พยายามอย่างหนักในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ประเทศที่แยกตัวออกจากโลกประเทศนี้

ในปี 2537 เคยมีการพยายามยับยั้งศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ยองเบียน จนทำให้ประเทศสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและสหภาพยุโรป ร่วมกันจัดตั้งองค์กรพัฒนาพลังงานคาบสมุทรเกาหลีเพื่อให้เครื่องปฏิกรณ์น้ำมวลเบา 2 เครื่องแก่เกาหลีเหนือเพื่อพยายามยับยั้งการเพิ่มนิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังมีการหารือ 6 ฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ เพื่อพยายามลดอาวุธนิวเคลียร์จาเกาหลีเหนือแลกกับสนธิสัญญาสันติภาพอย่างถาวร โดยมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพลังงาน รวมถึงการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตให้เป็นอย่างเป็นปกติทั่วไปกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

บทบรรณาธิการอีสต์เอเชียฟอรัมระบุว่าในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ของสหรัฐฯ ได้เน้นใช้ "ความอดทนในเชิงยุทธศาสตร์" คือการใช้แนวคิดปล่อยให้เกาหลีเหนือล่มไปเองจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และรอให้พวกเขามาขึ้นโต๊ะเจรจาเพื่อเลิกพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็กลายเป็นการที่ไม่ได้ทำอะไรกับเกาหลีเหนือ และปล่อยให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธมากขึ้น แนวคิดที่ว่าเกาหลีเหนือจะล่มสลายไปเองก็เป็นแค่ความหวังลมๆ แล้งๆ

ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว อดีตประธานาธิบดีโอบามาก็บอกกับโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีคนใหม่ว่าเกาหลีเหนืออาจจะเป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดที่เขาต้องเผชิญในฐานะประธานาธิบดี ส่วนทรัมป์เคยประกาศแบบคุยโตว่าเขามี "ทุกวิถีทาง" เตรียมพร้อมที่จะยับยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

บทบรรณาธิการของอีสต์เอเชียฟอรัมระบุว่า การเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือเป็นประเด็นที่พัวพันกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ถึงแม้ว่าสงครามเกาหลีจะจบไปแล้วในปี 2496 ด้วยการเจรจาหยุดยิงแต่ทางสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ก็ยังไม่สามารถหารือข้อตกลงสันติภาพแบบถาวรกับเกาหลีเหนือได้ การครอบครองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือยังส่อนัยว่าจะเกิดการครอบครองนิวเคลียร์โดยเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้ด้วย

อิสต์เอเชียฟอรัมประเมินว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกาหลีเหนือไม่ยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ตามคำสั่งของสหรัฐฯ เพราะกลัวว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในอนาคต

เดวิด คัง ศาตราจารย์ด้านธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์นแคลิฟอร์เนียระบุว่า สถานการณ์นิวเคลียร์เกาหลีเหนือคล้ายกับช่วงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากการที่สองฝ่ายต่างก็มองกันและกันว่าเป็นภัย รวมถึงมีการคว่ำบาตรและการกดดันกัน โดยที่คังตั้งคำถามแบบเดียวกับบทบรรณาธิการว่าการคว่ำบาตรจะได้ผลจริงหรือไม่แม้กระทั่งว่าถ้าหากจีนร่วมกดดันทางเศรษฐกิจด้วย เพราะเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่แยกตัวออกมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว การทำให้พวกเขาแยกตัวจากโลกไปอีกคงไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองง่ายๆ

ทางบท บก. อีสต์เอเชียฟอรัมยังระบุอีกว่าการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือจะทำร้ายประชากรทั่วไปในประเทศมากกว่ากลุ่มชนชั้นนำระดับสูงสุด พวกเขาจะอ้างเรื่องการถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติมาเป็นข้ออ้างโฆษณาชวนเชื่อว่าประเทศภายนอกเป็นศัตรูได้มากขึ้นด้วย

แต่ทว่าการใช้กำลังโจมตีเกาหลีเหนือก่อนก็มีความเสี่ยงสูงและอาจจะถึงขั้นเป็นการกระทำบุ่มบ่ามขาดความยั้งคิดในสายตาของอีสต์เอเชียฟอรัม เพราะนอกจากจะไม่รู้ว่าอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออยู่ที่ไหนแล้ว อาจจะทำให้เกาหลีเหนือโต้ตอบกลับใส่เกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นได้ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตคนหลายล้านคน

การคว่ำบาตรธนาคารจีน และธุรกิจจีนที่ทำธุรกรรมกับเกาหลีเหนือก็อาจจะเป็นการกดดันจีนอีกทาง เพื่อให้ทำอะไรกับเกาหลีเหนือมากขึ้น แต่อีสต์เอเชียฟอรัมก็มองว่าในจุดนี้ควรเน้นอาศัยความร่วมมือและการประสานงานมากกว่า ส่วนหนึ่งที่ยังขาดความเข้าใจกันคือ ทางการจีนเองก็มีความไม่พอใจต่อผู้นำคิมจองอึนแห่งเกาหลีเหนือ ขณะที่พ่อของเขาอดีตผู้นำคิมจองอิลเคยมีสายสัมพันธ์ทีดีคอยเข้าหาผู้นำจีนบ่อยครั้ง แต่คิมจองอึนกลับสั่งกวาดล้างหรือประหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือที่ทางการจีนรู้จัก และคิมจองอึนเองก็ไม่ค่อยเข้าหาผู้นำจีนเท่าใด

เมื่อประเมินทางการทูตแล้วอีสต์เอเชียฟอรัมระบุว่าจีนยังคงรั้งรอที่จะบีบเกาหลีเหนือไม่ใช่เพราะว่าจีนมองเกาหลีเหนือเป็นพันธมิตร ความสัมพันธ์ใกล้ชิดแบบประสบการณ์ที่พวกเขาต่อสู้ร่วมกันในสงครามเกาหลีจบไปนานแล้ว แต่ทางการจีนคำนวนแล้วว่าประเทศใกล้เคียงเกาหลีเหนือที่ดูน่ารำคาญยังดีกว่าเกาหลีเหนือเองที่มีสภาพหลังชนฝา และมีโอกาสที่จะล่มสลายลงด้วยความโกลาหลจนทำให้มีผู้ลี้ภัยหลายล้านคนทะลักเข้าสู่เอเชียคะวันออกเฉียงเหนือ นั่นยังไม่รวมว่าอาวุธนิวเคลียร์จะตกไปอยู่ในมือใคร

อีสต์เอเชียฟอรัมเสนอว่าถ้าต้องการหลีกเลี่ยงกรณีความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดข้างต้นนั้น กลุ่มประเทศสมาชิกเจรจา 6 ฝ่ายควรจะทำงานร่วมกันเพื่อให้เกาหลีเหนือหาทางลงแบบนุ่มนวลได้

ขณะที่คังอธิบายในทางเศรษฐกิจว่ารายได้เกาหลีเหนือร้อยละ 40 ในตอนนี้มาจากเศรษฐกิจระบบตลาด สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเกาหลีเหนือมีความผูกโยงกับรัฐบาลของพวกเขาน้อยลงกว่าเมื่อก่อน ทำให้เมื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือเล็งเห็นในเรื่องนี้พวกเขาก็พยายามสร้างอำนาจระบบตลาดเพื่อพยายามควบคุมประชาชนของพวกเขาอีกครั้งเพราะกลัวจะสูญเสียอำนาจการควบคุมของตัวเองไปเมื่อมีคนเข้าสู่ระบบตลาดมากขึ้น

อีสต์เอเชียฟอรัมเสนออีกว่าในระยะยาวควรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดของชาวเกาหลีเหนือที่มีต่อรัฐบาลของตนเองและโลกภายนอก ซึ่งถึงแม้ว่าอาจจะยังมีความเสี่ยงแต่ก็จะช่วยบริการจัดการความตึงเครียดและหลีกเลี่ยงกรณีที่จะก่อให้เกิดหายนะอย่างการใช้อาวุธนิวเคลียร์



เรียบเรียงจาก

Trump’s North Korea conundrum, East Asia Forum, 10-04-2017

http://www.eastasiaforum.org/2017/04/10/trumps-north-korea-conundrum/

North Korea policies the same old, same old, David Kang, East Asia Forum, 09-04-2017

http://www.eastasiaforum.org/2017/04/09/north-korea-policies-the-same-old-same-old/

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.