ปธ.กรรมการสิทธิฯ งง เหตุมี กสม.ลาออก เพราะบรรยากาศการทำงานไม่เอื้อสร้างสรรค์

Posted: 09 Apr 2017 09:17 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

วัส ไม่ทราบความหมาย เหตุมี กสม.ลาออก เพราะบรรยากาศการทำงานไม่เอื้อ ชี้ทุกองค์กรย่อมมีปัญหา แต่ต้องร่วมกันแก้ไข หนุนความคิดที่ว่า กสม.ต้องทำหน้าที่เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องแท้จริง ถ้ารับใช้ต่างชาติ บ่อนทำลายประเทศ ย่อมเป็นที่เคียดแค้นชิงชังของ ปชช. และอยู่ไม่ได้


วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. (ที่มาภาพ เว็บ กสม.) 

9 เม.ย. 2560 จากกรณี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการสิทธิฯ แล้ว โดยให้เหตุผลว่าบรรยากาศไม่เอื้อต่อการทำงานที่สร้างสรรค์ นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (9 เม.ย.60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ได้เผยแพร่คำชี้แจงของ วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. โดยระบุว่าเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปทราบถึงปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ถูกต้องครบถ้วน ประธาน กสม. ขอชี้แจงให้ทราบดังนี้

ต่อ คำถาม บรรยากาศการทำงานอย่างไรจึงไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์นั้น ประธาน กสม. ตอบ ไม่ทราบว่ามีหมายความอย่างไร คงมีรายงานข่าวในสื่อสังคมรายหนึ่งว่า ต้องรอให้ฝุ่นหายหรือจางลงก่อน

สำหรับคำถามที่ว่า กสม. และสำนักงาน กสม. มีปัญหาในการทำงานหรือไม่ นั้น ประธาน กสม. ตอบ ทุกองค์กรในสังคมระดับประเทศและระหว่างประเทศรวมทั้งองค์กรแห่งนี้ย่อมมีปัญหาในการทำงาน ดังนั้น บุคคลในแต่ละองค์กรจึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่มีให้ลุล่วงไปได้ จึงจะเป็นผลดี

ต่อคำถามว่า ในการทำงานของ กสม.บางครั้งเสียงข้างน้อยไม่ยอมรับมติเสียงข้างมากจริงหรือไม่ วัส ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ในการทำงานของ กสม. ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 3) ส่วนใหญ่มีมติเอกฉันท์ น้อยครั้งที่มีมติไม่เอกฉันท์ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของทุกองค์กร การขอให้ระบุมติของที่ประชุม ในรายงานผลการตรวจสอบหรือพิจารณาของ กสม. ในกรณีนี้ให้ตรงตามข้อเท็จจริง ย่อมสามารถกระทำได้ ในการทำงานของ กสม. ชุดที่สองถึงขนาดให้ระบุรายละเอียดของการลงมติในรายงาน หรือจะมีหมายเหตุข้างท้ายรายงาน ( Footnote) ในหน้าที่มีการลงนามด้วยก็ได้

ขณะที่ คำถามที่ว่า กสม. ต้องทำหน้าที่เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องแท้จริง ถ้าประพฤติตนรับใช้ต่างชาติ บ่อนทำลายประเทศชาติของตน ย่อมเป็นที่เคียดแค้นชิงชังของประชาชน และอยู่ไม่ได้ ประธาน กสม. ตอบว่า เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้

ต่อกรณีคำถาม กสม. พ้นจากตำแหน่งในกรณีใดบ้าง ประธาน กสม. ตอบว่า เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้ว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจพ้นจากตำแหน่งได้ 2 กรณี คือ โดยสมัครใจ คือการลาออก และโดยไม่สมัครใจ เช่น ขาดคุณสมบัติ ถูกถอดถอน หรือครบวาระ การลาออกเป็นเรื่องดุลพินิจเฉพาะตัว ไม่อาจที่จะบีบบังคับหรือเรียกร้องให้มีการลาออกได้ และมีผลทันที

ต่อคำถามที่ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา จะสามารถดำเนินการสรรหาบุคคลมาเป็น กสม. แทนได้หรือไม่ นั้น ประธาน กสม. ตอบว่า ไม่สามารถดำเนินการสรรหาได้ กรณีก่อนวันที่ 5 เม.ย. 2560 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 40/2559 ลงวันที่ 13 ก.ค. 2559 ให้งดเว้นการสรรหา กสม. รวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระอื่น และให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ดังกล่าว ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่เหลืออยู่ และแม้ว่าต่อมาเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นนับจากวันที่ กสม. ลาออก จะมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 23/2560 ลงวันที่ 6 เม.ย. 2560 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 40/2559 ลงวันที่ 13 ก.ค. 2559 ก็ตาม แต่ยังคงให้งดเว้นการสรรหาก กสม. รวมทั้งกรรมการการเลือกตั้งและผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อไปดังเดิมจนกว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนั้นจะมีผลใช้บังคับ โดยอาจใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.