ชุมชนบ่อแก้วยืนยันทำกินบนผืนดินเดิม แม้จะถูกคำสั่งออกจากพื้นที่

Posted: 20 May 2017 05:23 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประชุมเตรียมการผลิตเกษตรอินทรีย์ ยืนยันจะทำกินบนผืนดินเดิม แม้จะถูกคำสั่งออกจากพื้นที่



20 พ.ค. 2560 ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ประชุมเตรียมการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ แม้ในวันที่ 2 มิ.ย.2560 ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องรับมรดกความ หลังจากนั้นคำพิพากษาศาลฎีกา ออกมาอย่างไร แม้ศาลจะพิจารณาโดยมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ สมาชิกชุมชนบ่อแก้วต่างเคารพคำพิพากษาศาล แต่ยืนยันจะร่วมทำกินอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และตามมติที่ได้ร่วมแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายกับภาครัฐ เป็นการต่อไป

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2560 ภายหลังจากที่ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วเข้ารับฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ตามที่ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา คดีระหว่างองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องขับไล่ นายนิด ต่อทุน จำเลยที่ 1 พร้อมพวกรวม 31 คน ในข้อหากล่าวหาจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม

แต่ทั้งนี้ ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 13 เสียชีวิต ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกให้ทายาทของผู้เสียชีวิตมารับมรดกความ ศาลจึงได้อนุญาตตามที่ทนายจำเลยขอ โดยได้มีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคดีออกไป และศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอรับมรดกความของทายาท จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 13 ในวันที่ 2 มิ.ย.2560 เวลา 10.00 น.ที่จะถึงนี้

นายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ในวันที่ 2 มิ.ย.2560 ตามที่ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องรับมรดกความ หลังจากนั้นคำพิพากษาศาลฎีกา จะมีคำสั่งออกมาอย่างไร ทั้งตนเองและสมาชิกชุมชนบ่อแก้วต่างเคารพคำพิพากษาศาล แต่ยืนยันจะร่วมทำกินอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และตามมติที่ได้ร่วมแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายกับภาครัฐ เป็นการต่อไป ต่อไป

นายนิด บอกอีกว่า ในวันนี้ 20 พ.ค.2560 นัดหมายสมาชิกชุมชนบ่อแก้วเตรียมประชุมร่วมกันเพื่อการยกระดับการพัฒนาระบบการผลิต“เกษตรกรรมอินทรีย์” ไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามเป้าหมายที่วางแผนร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี หลังจากเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2552 เข้ายึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมาได้ เช่น บริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยวิถีชีวิตการผลิตในรูปเกษตรอินทรีย์ จำพวกกล้วย ข่า ตะไคร้ งา ถั่วแดง ข้าวโพดและพืชผักบางชนิด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสวนป่ายูคาลิปตัส ภายหลังจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.อ.ป. นำเข้ามาปลูก นับแต่ปี 2521 นอกจากจะทับซ้อนที่ดินทำกินชาวบ้าน และส่งผลกระทบต่อผู้เดือดร้อนกลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกินเพราะถูกอพยพออกจากพื้นที่แล้วนั้น สภาพแวดล้อมธรรมชาติและผืนดินเกิดความเสื่อมโทรมจากการปลูกสร้างสวนป่ายูคาฯ ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมากกับการผลิตของชาวบ้านที่ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการผลิตของชุมชนบ่อแก้วสามารถพึ่งตนเองในระดับครอบครัว โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก และสามารถนำออกขายเป็นรายได้ในครัวเรือน

ถือเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านจะถูกอพยพจากที่ทำกินเดิมอีก หรือไม่ ซะตากรรมชีวิตชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ที่ตั้งรกรากถือครองทำประโยชน์มาแต่บรรพบุรุษ จะออกมาในรูปแบบใด ไม่เพียงแต่จำเลยที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 31 ราย แต่รวมทั้งบริวาร และวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านจะมาพลันสูญสลายไปทั้งหมด และผู้ได้รับผลกระทบกว่า 300 ชีวิต ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเป็นเด็กๆและผู้เฒ่าผู้แก่ สังคมจะคิดอย่างไร ในแนวทางที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา

ที่มาของผลกระทบความเดือดร้อน
องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.อ.ป.เข้ามาปลูกป่ายูคาฯทับที่ดินทำกินเมื่อปี 2521 ได้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ในบริเวณเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ อย่างไรก็ตาม การปลูกสร้างสวนป่าไม่ได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย คือบริเวณป่าเหล่าไฮ่ แต่ได้นำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกทับที่ดินทำกินชาวบ้าน จนนำมาสู่ปัญหาส่งผลกระทบให้หลายครอบครัวถูกอพยพออกจากที่ทำกิน ชาวบ้านจึงได้ออกมาเคลื่อนไหวมานับแต่นั้น กลายเป็นข้อพิพาทและมีการบังคับ ข่มขู่ คุกคาม ระหว่าง อ.อ.ป.กับชาวบ้าน

ต่อมาในวันที่ 17 ก.ค. 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจึงเข้าปฏิบัติการยึดพื้นที่พร้อมกับจัดตั้ง ชุมชนบ่อแก้ว ขึ้นมาเพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ และเพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตทางการเกษตรเกษตรอินทรีย์ และเป็นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมและเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมของชุมชน

นอกจากนี้ เพื่อรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสารจากรัฐบาล ภายหลังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า ตามที่ชาวบ้านมีข้อเรียกร้อง คือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่

การต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ส่งผลสู่การถูกดำเนินคดี
ผลการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในสิทธิที่ดินทำกิน กลับกลายเป็นที่มาของการถูกดำเนินคดี โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ใช้กระบวนการทางกฎหมาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขับไล่ นายนิด ต่อทุน และพวกรวม 31 คน เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2552 ข้อกล่าวหาว่าจำเลยและบริวารได้กระทำการบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งขับไล่ออกจากพื้นที่ พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และไม้ผลไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้

แต่ด้วยความที่ชาวบ้านมีหลักฐาน ร่องรอย การถือครองที่ดินที่ชัดเจน มาแต่ปี 2496 เช่น หลักฐานประเภทใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ สค. 1 ใบแจ้งการครอบครอง และร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาท อีกทั้งความไม่เป็นธรรมที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินได้สร้างปัญหาผลกระทบให้กับการดำรงชีวิต ดังนั้น ชาวบ้านต่างยืนยันจะปักหลักอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมของบรรพบุรุษ และเพื่อรักษาผืนดินให้ดำรงอยู่สืบต่อไปถึงลูกหลาน

เมื่อการต่อสู้เรียกร้องจากการถูกละเมิดสิทธิด้านที่ดินทำกิน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในวันที่ 28 เม.ย.2553 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลย ที่ 1 ถึง 31 และบริวารออกจากพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร กับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ที่ได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาท ซึ่งจำเลยได้อุทธรณ์ และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้ชั่วคราว แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ยื่นคำให้การแก้อุทธรณ์และคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีชั่วคราว กระทั่งวันที่ 13 ธันวาคม 2553 ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีการบังคับคดีชั่วคราวตามที่จำเลยยื่นคำร้อง และโจทก์ได้วางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อติดหมายบังคับคดีในพื้นที่พิพาท ในวันเดียวกัน

ทำให้ชาวบ้านได้เคลื่อนไหว โดยการเดินเท้าทางไกลจากคอนสาร ถึง กทม. ในวันที่ 4 ก.พ. – 16 มี.ค. 2554 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการให้ ออป.ถอนการบังคับคดี และเร่งประกาศพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว

ผลการเจรจาระหว่างผู้แทนชาวบ้านกับ อ.อ.ป. ในวันที่ 2 มีนาคม 2554 นำมาสู่ข้อตกลง 3 ข้อคือ 1. ออป.จะไม่เร่งรัดบังคับคดี 2. การนำพื้นที่จำนวนประมาณ 1,500 ไร่ ไปดำเนินการโฉนดชุมชน ให้ผู้แทน ออป. สำนักนายกรัฐมนตรี และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน และ 3. การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว ให้นำข้อกำหนดของ ออป.มาปรับปรุงให้เกิดการยอมรับร่วมกัน แต่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนให้แต่อย่างใด นอกจากจำนวนพื้นที่เดิม (ประมาณ 86 ไร่) ที่ชาวบ้านร่วมกันยึดเข้ามาได้ในวันที่ 17 ก.ค.2552

กระทั่ง ในวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม 2555 จำเลยได้ฏีกา

ผลกระทบหลังจาก คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557
ชุมชนบ่อแก้ว จะได้รับผลกระทบอีกครั้ง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2557 เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดประกาศ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 ให้ รื้อสิ่งปลูกสร้าง ผลอาสิน อพยพออกจากพื้นที่ ภายใน 30 วัน ชาวบ้านจึงเดินทางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์การสหประชาชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อหาระบุว่า ขอให้ทบทวนพิจารณายกเลิกสั่งที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่

ต่อมา ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในวันที่ 7 ต.ค. 2557 ณ อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล มติที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร โดยให้มีการชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งจนกว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไปนอกจากนี้ได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายนโยบาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) มาโดยตลอด โดยมีมติให้มีชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งจนกว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป

และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ครั้งที่ 1/2558 ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยผลการประชุมดังนี้

วาระที่ 3.1 กรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ มติที่ประชุม : เห็นชอบกรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ดังนี้

1) การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน ควรคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง

2) แนวทางในการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ยุติ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุ ให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป

3) การดำเนินการหากติดขัดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนตามความเหมาะสม

4) การดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เป็นต้น

5) ขอให้คณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้น นำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาไปประกอบการพิจารณาด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.