ก่อนจะมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1 ปี ภาษีมรดก ไม่สามารถเก็บได้แม้แต่บาทเดียว


Posted: 09 Jun 2017 09:28 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ก่อนจะมีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง วันนี้ Land Watch Thai อยากจะชวนพูดคุยเรื่องภาษีมรดกกันครับ เพราะภาษีมรดกนั้นมีเป้าหมายเพื่อจัดการความเหลื่อมล้ำเช่นเดียวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและเราคิดว่าในตอนนี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีบ้างอย่างที่คล้ายกันอยู่บางเรื่องครับ

ภาษีรับมรดกและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในฐานะของการลดความเหลื่อมล้ำ

แท้จริงแล้วเงินและที่ดินต่างก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าจำกัด ดังนั้นหากสองสิ่งนี้กระจุกตัวอยู่ที่คนส่วนน้อยในจำนวนมากๆ อย่างเช่นประเทศไทย ก็จะส่งผลให้มีคนจำนวนมากมีทรัพย์สินและที่ดินในจำนวนน้อยหรือไม่มีเลย ดังนั้นรัฐในฐานะที่จะต้องดูแลประชาชนทุกคน จึงจำเป็นที่จะต้องก่อให้เกิดการกระจายทรัพย์สินเหล่านั้น และนโยบายทางด้านภาษีนั้นก็ถือว่าเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดการกระจายตัวของทรัพย์สินได้จริงทั้งในทางตรง คือ การเอาภาษีไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และทางอ้อมคือการที่เจ้าของทรัพย์สินเหล่านั้นกระจายการถือครองออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษี

มารู้จักภาษีมรดกกัน

ณ ปัจจุบันภาษีรับมรดกของประเทศไทยถูกบังคับใช้ไปแล้วกว่า 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 โดยการเก็บภาษีรับมรดกนั้นเก็บจากผู้ได้รับมรดก โดยจะเริ่มเก็บจากผู้ที่ได้รับมรดกมากกว่า 100 ล้านบาท และจะเริ่มเก็บจากมูลค่าที่เกิน 100 ล้านบาทเป็นต้นไป ในอัตรา 5% หากผู้ได้รับมรดกเป็นผู้สืบสันดานหรือเป็นบุพการี ของเจ้าของมรดก และอัตรา 10% หากผู้รับมรดกเป็นบุคคลอื่นๆ โดยจะขอยกตัวอย่างให้เข้าใจดังนี้

หากนาย A มีทรัพย์สินมูลค่า 500 ล้านบาท มีลูก 2 คน เมื่อนาย A เสียชีวิต ได้แบ่งมรดกให้ลูกทั้งสองคน คนละ 250 ล้านบาท นั่นแปลว่าลูกทั้งสองของนายเอจะต้องเสียภาษีมรดก 5% ของทรัพย์สิน มูลค่า 150 ล้านบาท(คิดภาษีจากทรัพสินส่วนเกินจาก 100 ล้านบาทแรก) ในกรณีคือเท่ากับ 7.5 ล้านบาท แต่หากนาย A ตัดสินในมอบมรดกนี้ให้กับเพื่อนสนิท เพื่อนสนิทของนาย A จะต้องเสียภาษีรับมรดกในอัตรา 10% ก็จะเท่ากับ 15 ล้านบาท


โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมานั้นพบว่าประเทศไทยไม่สามารถเก็บภาษีมรดกได้เลยแม้แต่บาทเดียว จากข้อมูลผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเบื้องต้นจากกระทรวงการคลังระบุว่า ในปี 2559 รัฐบาลไทยเก็บภาษีได้ทั้งหมด 498,580 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปี 2559 ถึงเกือบ 9 พันล้านบาท แต่ไม่มีภาษีรับมรดกได้แม้แต่บาทเดียว

ปีที่ผ่านมาไม่มีคนรวยได้รับมรดกเลยหรือ

สาเหตุของการที่เก็บภาษีไม่ได้ คงไม่ใช่เพราะว่าไม่มีผู้เสียชีวิตในปีที่แล้วแน่ๆครับ เพียงแต่การกฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดช่องว่างของกฎหมายในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการทยอยโอนทรัพย์สินให้ลูกหลานในขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่ การแบ่งทรัพย์สินที่มูลค่ามากๆ เช่น หากมีที่ดิน มูลค่า 100 ล้าน ก็แบ่งเป็นหลายแปลงและก็ทยอยโอนให้กับลูกหลาน หรือแม้กระทั้งการทำประกันชีวิตที่มีมูลค่าสูงและให้ลูกหลานเป็นผู้รับประโยชน์ ก็สามารถเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีได้เช่นกันเพราะถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากเสียชีวิตแล้ว

แล้วเกี่ยวอะไรกับภาษีที่ดิน

กรณีแบบนี้มันคล้ายๆกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะประกาศใช้ครับ เพราะ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นมีอัตราภาษีที่ดินและสูงปลูกสร้างประเภทที่อยู่อาศัยในกรณีบ้านหลังแรกและที่ดินเกษตรกรรมที่ 50 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้มีการนับรวมทุกแปลงจองเจ้าของที่ดิน ดังนั้นจึงแปลว่า หากนาย A มี ที่ดิน 5 แปลง มูลค่าแปลงละ 20 ล้านบาท รวม 100 ล้านบาท หากแต่ว่าแต่ละแปลงนั้นไม่มีมูลค่าถึง 50 ล้าน จึงไม่ถูกเก็บ

กรณีเช่นนี้อาจจะทำให้รัฐบาลไม่อาจจะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เลยโดยหากว่าเจ้าของที่ดินตั้งใจจะให้ที่ดินของตนเองมีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท เช่น กรณีเจ้าของบริษัทใหญ่ที่มีที่ดินมากกว่า 100,000 ไร่ ได้มีการตั้งบริษัทลูกในเครือกว่า 200 บริษัท เพื่อรับมือกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในขณะนี้

สุดท้ายเราขอยืนยันว่าการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง แต่ถึงอย่างนั้นหากการออกกฎหมายโดยมีช่องว่างมากมายก็เป็นการง่ายที่จะทำให้เกิดการหลบเลี่ยงภาษี อาจจะทำให้โอกาสในการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศเกิดขึ้นได้ยากและหาก พรบ.ฉบับดังกล่าวออกมาน่าผิดหวังด้วยแล้วก็จะเป็นการยากที่จะทำให้เกิดการสนับสนุน กฎหมายภาษีที่ดินที่ดีกว่านี้ในอนาคตเช่นกัน



หมายเหตุ: Land Watch Thai ติดตามปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเด็นที่ดิน และสถานการณ์ปัญหาการแย่งยึดที่ดินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐ รวมถึงการผ่านกฎหมายหรือนโยบายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดิน อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำกินและอยู่อาศัย ที่ทุกคนบนแผ่นดินไทยควรมีสิทธิเสมอกัน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.