Posted: 16 Jun 2017 03:23 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ระบบการศึกษาในปัจจุบันเปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ควรพัฒนาทักษะที่ตัวผู้เรียนมากกว่าเน้นเนื้อหาสาระของการเรียน เทคโนโลยีเปลี่ยนบทบาทครูเป็นผู้สนับสนุนมากกว่าผู้สอน ย้ำ การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่แค่เรื่องของโรงเรียน

สืบเนื่องจากวันที่ 11 มิ.ย. 2560 จัดงานเสวนา “การศึกษาเพื่อเตรียมคนเป็นพลเมืองโลก” หลังฉายภาพยนตร์ Most Likely to Succeed ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระเป็นพิธีกร

เนื้อหาของภาพยนตร์เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียนไฮเทค โรงเรียนใต้กำกับของรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการเรียนในรูปแบบทำงานโปรเจคท์และจัดนิทรรศการ โดยเล่าเรื่องราวชีวิตของเด็กผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบการเรียนใหม่ ทั้งยังตั้งคำถามกับระบบการศึกษาเดิมในการวัดผลและประเมินอีกด้วย

ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่าในภาพยนตร์เป็นการตั้งคำถามกับระบบการศึกษาว่าเป็นไปแค่การสร้างแรงงานและผู้บริโภคหรือไม่ ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีสารสนเทศที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งเด็กรุ่นใหม่ที่โตมากับเทคโนโลยีดิจิตอล เข้าถึงยุคที่ทุกๆ คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยตนเอง ทำให้ทักษะการใช้ข้อมูลมีความสำคัญต่อยุคสมัยปัจจุบัน

อรรถพล กล่าวว่า บริบทของอินเทอร์เน็ตมีผลกระทบอย่างมาก เมื่อก่อนการเป็นครูต้องมีความรู้เพื่อถ่ายทอดให้กับเด็ก ในโลกยุคใหม่ กำแพงการเข้าถึงความรู้ถูกทลายลง เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้เข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งครูต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทจากผู้จัดสรรความรู้ให้กับเด็กสู่การสนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยความสำคัญในปัจจุบันอยู่ที่ตัวทักษะ ไม่ใช่ความรู้ การสอนมีหลากหลายแบบ เช่น เรียนผ่านกรณีศึกษา ประเด็นปัญหาสังคม การทำโครงการ หรือการเรียนผ่านสถานการณ์จริงของโลก ทั้งหมดเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้กระทำในการเรียน และครูเป็นผู้สนับสนุนในการเรียนมากยิ่งขึ้น โดยในภาพยนตร์จะกำหนดชัดเจนว่า ครูจะเป็นคนตั้งคำถามและผู้กำหนดข้อตกลงร่วมกันในห้องเรียน

อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงประกอบด้วย การให้ค่าการศึกษาเป็นผลประโยชน์สาธารณะ เพราะการพัฒนาการศึกษานอกจากโรงเรียนแล้ว ยังเป็นเรื่องของเด็กและผู้ปกครองที่จะร่วมมือแก้ไขพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน มีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีความหวังร่วมกันว่าจะพัฒนา พร้อมทั้งมีมุมมองการศึกษาที่เน้นสร้างความเป็นธรรม และมีการกระจายอำนาจและการเสริมสร้างความเข้มแข็งท้องถิ่นในการจัดการศึกษา ยกตัวอย่าง การให้เทศบาลลงเงินช่วยเหลืออุดหนุนการศึกษาเด็กในชนบท เป็นต้น

อรรถพล กล่าวทิ้งท้ายว่า นวัตกรรมการศึกษามีเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ พร้อมทั้งมีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งนี้ทุกๆคนต้องมีส่วนในการรับผิดชอบร่วมกัน โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมและเป้าหมาย การเคารพในความหลากหลาย และการเชื่อมโยงกันระหว่างกลไก นอกจากนี้ ความไว้เนื้อเชื่อใจก็เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 21

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.