Posted: 13 Jun 2017 09:01 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ขณะที่เรื่องราวกระแสหลักเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมักจะมีแต่ภาพของผู้ลี้ภัยจากซีเรียหรือตะวันออกกลางจำนวนมากเข้าสู่ยุโรป แต่ทว่าภาพเคลื่อนที่จาก UNHCR สร้างโดยสถานีวิจัย CREATE เผยให้เห็นว่าจริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยไปยังประเทศกำลังพัฒนาถึงร้อยละ 90 รวมถึงปรรเทศอูกันดาซึ่งตนรับผู้ลี้ภัยดี และมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากแอฟริกาที่เดินทางไปที่อื่นแต่ไม่เป็นข่าว


สื่อฟาสต์คอมพานีวิเคราะห์แผนภาพเคลื่อนไหวขององค์กรข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่บันทึกการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานผู้คนตั้งแต่ปี 2543-2558 ที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องราว "วิกฤตผู้ลี้ภัยยุโรป" แบบที่นำเสนอกันในสื่ออาจจะแตกต่างจากที่คนทั่วไปเข้าใจก็ได้ นั่นคือการอพยพย้ายถิ่นเหล่านี้มีต่อเนื่องมานานแล้ว ไม่ได้เพิ่งมีในช่วงวิกฤตเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และผู้อพยพไม่เพียงแค่มาจากตะวันออกกลางเท่านั้นแต่ยังมาจากวิกฤตที่เกิดในแอฟริกาด้วย

แผนภาพเคลื่อนที่ของ UNHCR แสดงให้เห็นจุดสีเหลืองและสีแดงเคลื่อนย้ายอยู่บนแผนที่ โดยที่จุดสีเหลืองแทนจำนวนผู้ลี้ภัย 17 คน เดินทางออกจากประเทศตัวเอง จุดสีแดงแทนผู้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง จากแผนภาพเคลื่อนที่นี้จะเห็นว่ามีผู้ลี้ภัยจากจำนวนมากที่หนีจากประเทศที่มีความขัดแย้งอย่างอัฟกานิสถานหรือซูดานมาตั้งแต่ปี 2544 ในปี 2549 สงครามก็ทำให้ชาวเลบานอนอพยพไปซีเรีย ขณะที่ชาวศรีลังกาก็หนีสงครามกลางเมืองไปอินเดีย ในปี 2550 ความขัดแย้งในโคลอมเบียก็ทำให้มีผู้ลี้ภัยหนีไปอยู่ประเทศใกล้เคียงอย่างเวเนซุเอลา

เข้ามาใกล้แถวบ้านเราในปี 2550 เช่นกันจากปรากฏการณ์ที่พระเมียนมาร์ร่วมกับประชาชนประท้วงเผด็จการทหารจนถูกปราบปรามทำให้บางส่วนหนีมาอยู่ในไทย ในปี 2551 ก็มีผู้ลี้ภัยทิเบตหนีไปที่อินเดีย ขณะที่ชาวอัฟกัน อิรัก และโซมาเลีย ต่างก็หนีออกจากประเทศจำนวนมาก ในปี 2552 เยอรมนีรับผู้ลี้ภัยจากประเทศต่างๆ จำนวนมากรวมถึงอิรัก ปี 2553 มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากออกจากเมียนมาร์อีกครั้ง จำนวนหนึ่งหนีออกมาจากคิวบา จนกระทั่งถึงปี 2555 ถึงจะเกิดสงครามกลางเมืองในซีเรียทำให้มีผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนมากเดินทางไปยังจอร์แดน ในปี 2556 ก็เกิดวิกฤตในยูเครนทำให้มีคนจำนวนหนึ่งอพยพออกจากประเทศและมีคนอพยพมากขึ้นอีกในปี 2557

ในขณะที่มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากซีเรียจริงในปี 2558 แต่ก็มีผู้ลี้ภัยจากที่อื่นๆ ที่เป็นข่าวน้อยกว่าโดยเฉพาะในแอฟริกาอย่างซูดานใต้ เพราะส่วนใหญ่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มุ่งเดินทางไปที่อื่นนอกจากยุโรป แม้ว่าจะมีจำนวนตัวเลขที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ รับผู้ลี้ภัยจำนวนหลายหมื่น แต่ประเทศกำลังพัฒนากลับเป็นประเทศที่แบกรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากถึงร้อยละ 90 ของผู้ลี้ภัยทั้งหมดในโลก

อิลลา นูร์บัคช์ ผู้อำนวยการสถานีวิจัยด้านหุ่นยนต์ การศึกษา เทคโนโลยี และการเสริมพลัง ชุมชน (CREATE) จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน กล่าวว่า ในการถกเถียงเรื่องผู้ลี้ภัยมักจะเต็มไปด้วยการใช้อารมณ์และแนวคิดแบบสุดโต่งจำพวกที่กล่าวหาว่า "ผู้ลี้ภัยกำลังรุกรานสหรัฐฯ" ถ้าก้าวข้ามเรื่องพวกนี้ไม่ได้ก็ไม่สามารถสร้างข้อตกลงร่วมกันในการพูดถึงประเด็นปัญหาที่แท้จริงและวิธีการแก้ไขปัญหาได้

โดยที่สถานีวิจัยของนูร์บัคช์เป็นผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้สร้างแผนภาพเคลื่อนไหวนี้ นูร์บัคช์บอกว่าแผนภาพเคลื่อนไหวนี้จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยได้โดยตรงในเชิงหลักฐานอย่างไม่ต้องผ่านโวหารต่างๆ

เทคโนโลยีของสถานีวิจัย CREATE นี้เรียกว่า "ฐานข้อมูลขนาดใหญ่" หรือ "Big Data" คือการนำข้อมูลปริมาณมหาศาลที่มีความหลากหลายมารวและสามารถนำไปวิเคราะห์ได้หลากหลายแนวทาง โดยที่ CREATE กำลังมีโครงการเอ็กพลเรเบิล (Explorables) ที่จะรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีการเปลี่ยนแปลงชั่วเวลาหนึ่งให้เข้าถึงง่าย มีการใช้ระบบทำงานร่วมกับกูเกิลเอิร์ธรวมถึงใช้เทคโนโลยีการสร้างภาพกราฟฟิคโดยอาศัยการ์ดจอแบบวิดีโอเกมในการนำเสนอข้อมูล

นักวิจัยจาก CREATE ใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียม การปล่อยก็าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว นอกจากนี้ยังร่วมมือกับสถาบันวิจัยอิการาเปในบราซิลเพื่อทำข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเปราะบางของเมืองตั้งแต่เรื่องการว่างงาน มลภาวะ ไปจนถึงความเสี่ยงต่อความรุนแรง

แผนภาพเคลื่อนไหวของ CREATE ยังชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยในซีเรียไม่ได้อพยพไปยังยุโรปจำนวนมากแต่มักจะไปยังประเทศสามประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกันมากกว่า ขณะที่ผู้ลี้ภัยจากแอฟริกากลางจำนวนมากกลับไม่ค่อยเป็นข่าว อย่างอูกันดาเป็นประเทศที่มีนโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัยมานานแล้ว รวมถึงให้สิทธิผู้ลี้ภัยในการทำงานและการตั้งบริษัท พวกเขาเพิ่งรับผู้ลี้ภัย 4,500 คน เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็เริ่มมีปัญหากดดันจากผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้าประเทศไม่รู้จบ

แคธลีน นิวแลนด์ ผู้ร่วมก่อตั้งและนักวิจัยอาวุโสของสถาบันนโยบายการอพยพเปิดเผยว่าปัญหาส่วนใหญ่ในสถานการณ์เหล่านี้คือการที่กลุ่มที่ดูแลผู้ลี้ภัยได้รับงบประมาณน้อยมากแม้ว่าจะร่วมมือกับรัฐบาล ทาง UNCHR เองก็ได้งบน้อยในปี 2560 นิวแลนด์เปิดเผยอีกว่าฝ่ายรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ดำเนินการเรื่องผู้ลี้ภัยแบบทีละนิดทีละหน่อย แต่ก็มีความกังวลอย่างหนักว่าพวกเขาจะไม่มีประสิทธิภาพพอที่แม้แต่จะสร้างปัจจัยพื้นฐานแก่ประชาชน ซึ่งนิวแลนด์มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นจุดกำเนิดของ "การขาดเสถียรภาพและเรื่องน่าเศร้า"

เรียบเรียงจาก

Watch The Movements Of Every Refugee On Earth Since The Year 2000, Fast Company, 31-05-2017

https://www.fastcompany.com/40423720/watch-the-movements-of-every-refugee-on-earth-since-the-year-2000

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.