สถาปนิกและสภาวิชาชีพควรมีท่าทีอย่างไรต่อการใช้ ม. 44 กรณีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง


Posted: 17 Jun 2017 05:54 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ในฐานะสถาปนิก เราควรมีท่าทีและการแสดงออกอย่างไรต่อกรณีที่มีคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ที่นำมาสู่การยกเว้นกฏหมายหลายมาตรา รวมถึงยกเว้นมาตรา 45, 47 และ 49 ในพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ที่ส่งผลทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้สถาปนิกที่มี “ใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม” ซึ่งผ่านการรับรองโดย “สภาสถาปนิก” ของไทย

จากที่ติดตามกรณีนี้มาพอสมควร ผมมีความเห็นว่า ท่าทีบางอย่างที่สถาปนิกหลายท่านร่วมถึงสภาสถาปนิกซึ่งได้แสดงออกในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมานั้นไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็นเท่าไรนัก ในฐานะที่ผมเองก็เป็นสถาปนิกคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการใช้ ม. 44 (มิใช่แค่กรณีนี้ แต่ในทุกกรณี) ดังกล่าว จึงอยากใช้พื้นที่นี้เพื่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนความเห็นกับสถาปนิกทั้งหลาย (รวมถึงผู้สนใจทั่วไป) 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้
กรณีนี้มิใช่เรื่องการเสียผลประโยชน์ของสถาปนิกไทยแต่คือการเสียผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม

มีความเห็นไม่น้อยเลยจากสถาปนิกในสื่อต่างๆ แสดงออกต่อกรณีนี้ในลักษณะฟูมฟายตัดพ้อทำนองว่า ถ้าทำแบบนี้แล้ว สิ่งที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาถึง 5 ปีจะมีประโยชน์อะไร ถูกสถาปนิกต่างชาติเข้ามาแย่งงาน หรือแบบนี้เราจะสอบใบประกอบวิชาชีพไปเพื่ออะไร ฯลฯ ท่าทีดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ยิ่งหากมีการแสดงออกในลักษณะนี้มากขึ้นเท่าใดก็มีแต่จะทำให้เกิดการเบี่ยงประเด็น (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ไปสู่คำอธิบายว่าเป็นเพียงการออกมาโวยเพื่อมุ่งรักษาผลประโยชน์ของวิชาชีพตนเอง และส่งผลทำให้ความเสียหายที่แท้จริงต่อสังคมโดยรวมไม่ถูกนำมาตีแผ่เท่าที่ควร

แน่นอน มีสถาปนิกไม่น้อย (เช่น คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค) ที่พยายามนำเสนอถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อสังคมต่อการใช้ ม.44 ในกรณีนี้ ที่สำคัญมากคือการไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ของสถาปนิกต่างชาติหากเกิดความเสียหายขึ้นซึ่งอันตรายอย่างมาก การเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการผูกขาด การเสียโอกาสที่จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาสู่สถาปนิกไทยจากการที่ไม่จำเป็นต้องทำงานร่วมกับสถาปนิกไทย เป็นต้น แต่ท่าทีแบบนี้ยังดูไม่ถูกขับเน้นอย่างเป็นระบบมากนัก

ข้อเสนอผมคือ สถาปนิกทั้งหลายควรเลิกฟูมฟายเรื่องการถูกแย่งงานเสียทีและเริ่มรณรงค์ให้ความรู้แก่สังคมต่อผลเสียมหาศาลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้คำสั่งนี้ที่คนทั่วไปอาจจะยังมองไม่เห็น

สถาปนิกไทยมักพูดว่าสังคมไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่สถาปนิก ไม่เห็นคุณค่าของวิชาชีพ และไม่เข้าใจว่าสถาปนิกทำอะไร ดังนั้น สถาปนิกควรใช้วิกฤตครั้งนี้เพื่อแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าวิชาชีพนี้มีประโยชน์อะไรจริงๆ แก่สังคมเสียที
ข้อ 3 ในคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 คือความน่ากังวลที่แท้จริง

กระแสข่าวส่วนมากพุ่งตรงไปที่ประเด็นการยกเว้น พระราชบัญญัติสถาปนิก และ พระราชบัญญัติวิศวกร แต่ในทัศนะผม เนื้อหาในข้อ 3 ของคำสั่งมีความน่ากังวลมากไม่แพ้กัน และยังไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก สาระสำคัญในข้อดังกล่าวคือ

“...ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบดังต่อไปนี้ (1) กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาผู้ประกอบการและการเสนอราคา (2) กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (3) คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11/2560 เรื่อง การกํากับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ลงวันที่ 23 ก.พ. พ.ศ. 2560 (4) ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (5) ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 (6) ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้าง พ.ศ. 2544 (7) ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2544...”

การยกเว้นกฏหมายและระเบียบเป็นจำนวนมากข้างต้น นำไปสู่ช่องว่างมากมายในการตรวจสอบความโปร่งใสในกระบวนการก่อสร้างอย่างน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงคุณภาพของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง รวมไปถึงอาจนำไปสู่การเอื้อผลประโยชน์ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่ามหาศาล

สิ่งเหล่านี้ต่างหากคือภารกิจสำคัญของสถาปนิกไทยที่จะต้องออกมาชี้ประเด็นเหล่านี้ ใช้ความรู้ในเชิงเทคนิคเฉพาะด้านที่มีแต่สถาปนิกเท่านั้นที่จะรู้และเข้าใจ ย่อยมันออกมาให้ง่ายและบอกกล่าวแก่สังคม สถาปนิกไทยควรเตรียมพร้อมที่จะทำหน้าที่นี้ในระยะยาว มีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้สังคมมองเห็นคุณค่าของการมีอยู่ของวิชาชีพสถาปนิก
สภาสถาปนิกควรแสดงบทบาทอย่างไร

อาจจะเร็วไปที่จะออกมาวิจารณ์สภาสถาปนิก แต่จากการติดตามข่าวมาโดยตลอด คงต้องพูดว่าสภาสถานิกแสดงบทบาทที่น้อยเกินไปอย่างน่าผิดหวัง

มีการแชร์ความเห็นอย่างไม่เป็นทางการของนายกสภาสถาปนิกที่กล่าวว่า

"...สภาสถาปนิกและสภาวิศวกรได้พยายามทำเต็มที่แล้วที่จะรักษากฎหมายวิชาชีพไว้ แต่รัฐบาลไม่ฟังครับ...จีนมองว่าการที่สถาปนิกและวิศวกรจีนต้องสอบใบอนุญาตไทยเป็นการเสียศักดิ์ศรี เพราะจีนออกแบบและสร้างรถไฟความเร็วสูงมาแล้วมากกว่า 20,000 กม. ไทยยังไม่เคยสร้างเลยแม้แต่ 1 กม. จะมีอะไรไปสอบเขา!!! ทั้ง 2 สภาบอกจีนว่า เราไม่ต้องการสอบความรู้ด้านเทคโนโลยี เพราะรู้ว่าเขาเก่งเรื่องรถไฟความเร็วสูง แต่เราต้องการทดสอบว่าเขามีความรู้เกี่ยวกับ local condition กฎหมาย และวัฒนธรรมไทย เพียงพอที่จะเข้ามาทำงานในเมืองไทยหรือไม่ แต่เขาก็ยังยืนกรานที่จะไม่สอบ...ที่ผมต้องพูดออกมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ทราบว่า ผมและสภาสถาปนิกได้พยายามต่อสู้เต็มที่แล้ว แต่เราเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ เราไม่สามารถที่จะไปคัดค้านรัฐบาลได้ครับ..."

ต้องขออภัยที่จะขอกล่าวว่า ในทัศนะผม สภาสถาปนิกยังไม่ได้สู้เต็มที่และทำอะไรอย่างเหมาะสมคู่ควรกับการเป็นสภาวิชาชีพแต่อย่างใดเลยนะครับ เหตุผลเรื่องการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเลยทำอะไรไม่ได้มากนั้น ไม่ถูกต้องเลยนะครับ แม้จะอยู่ในกำกับของรัฐ แต่บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของสภาฯ ก็ควรตั้งอยู่บนการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมนะครับ

ที่ผ่านมา สภาสถาปนิกอาจแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการควบคุมสถาปนิกได้อย่างน่าพอใจ แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่สภาสถาปนิกจะได้โอกาสพิสูจน์ตนเองครั้งสำคัญ การใช้ ม.44 กรณีนี้ผิดพลาดอย่างไม่มีข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นสภาสถาปนิกต้องกล้าที่จะท้าทายอำนาจรัฐที่กระทำการโดยมิชอบครั้งนี้ให้มากกว่านี้

ผมอยากเสนอให้สภาสถาปนิกทำความร่วมมือกับสภาวิศวกร สมาคมสถาปนิกสยาม ตลอดจนนักวิชาการทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่มีความรู้ทางด้านนี้โดยตรง ออกมาแสดงจุดยืนต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการที่จะคัดค้านการออกคำสั่ง ม.44 ครั้งนี้ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมทางวิชาการและการสื่อสารต่อสังคมให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือระงับคำสั่งนี้ในที่สุด
ผมอยากขอให้ลองดูกรณีตัวอย่างที่ผ่านมาที่มาการออกคำสั่ง ม.44 เรื่องห้ามนั่งท้ายรถกระบะ แต่สุดท้ายด้วยข้อมูลทางวิชาการและความเห็นมากมายของสังคมก็ทำให้การบังคับใช้ถูกชะลอไปในที่สุด ดังนั้น ม.44 จึงไม่ใช่อะไรที่จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้นะครับ หากสภาสถาปนิกสามารถจะสื่อสารกับสังคมวงกว้างให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงได้ มีแต่การแสดงท่าทีและบทบาทแบบนี้ต่างหากที่จะทำให้วิชาชีพสถาปนิกมีค่าอย่างแท้จริงต่อสังคม

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.