ปัญหาของ ม.48 และ ม.49 ใน กม.สิ่งแวดล้อม กรณีเหมืองโปแตชพ่วงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บำเหน็จณรงค์

Posted: 09 Jun 2017 08:02 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (คชก.) ทำจดหมายถึงบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ปรึกษารับจ้างทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แจ้งว่าในการประชุมของ คชก. ครั้งที่ 39/2559 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 เพื่อพิจารณารายงานชี้แจงเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ประกอบการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (โดยใช้ถ่านหินบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิง) หรือ ‘EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ สำหรับโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ของบริษัทฯดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ มีมติไม่ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว

เป็นการมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นรอบที่สอง หลังจากที่ คชก. เคยมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 17/2559 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

ในจดหมายยังระบุไว้ด้วยว่า การมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่สองนี้ถือว่าเป็นการจบกระบวนการพิจารณา EIA ทั้งนี้ หากบริษัทฯไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ คชก. ก็มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง แต่กรณีที่บริษัทฯเห็นด้วยกับคำสั่งของ คชก. และต้องการเสนอ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่นหินใหม่ ก็ไม่ตัดสิทธิที่จะเสนอ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับให้ คชก. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งกรณีนี้จะกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 (กฎหมายสิ่งแวดล้อม)

จึงมีประเด็นให้ต้องพิจารณาว่า การกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมมีรายละเอียดอย่างไร ?

เมื่อพินิจบทบัญญัติของมาตรา 48[1] และ 49[2] ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม จะมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ดังนี้

ข้อแรก สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม (สผ.) ต้องตรวจสอบ EIA และเอกสารที่เกี่ยวข้อง หากเห็นว่า EIA ที่เสนอมามิได้จัดทําให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในมาตรา 46[3] หรือมีเอกสารข้อมูลไม่ครบถ้วน ให้ สผ. แจ้งให้บริษัทฯทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับ EIA

ในกรณีที่ สผ. พิจารณาเห็นว่า EIA และเอกสารท่ีเกี่ยวข้องท่ีเสนอมาถูกต้อง และมีข้อมูลครบถ้วน หรือได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว ก็ให้ สผ. พิจารณาเสนอความเห็นเบ้ืองต้นให้แล้วเสร็จภายในกําหนด 30 วันนับแต่วันที่ได้รับ EIA เพื่อนําเสนอให้ คชก. พิจารณาต่อไป

ในส่วนของการพิจารณาของ คชก. ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้รับ EIA มาจาก สผ.

ดังนั้น เงื่อนไขแรกของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมคือระยะเวลา 75 วัน[4] เสมือนเป็นการส่ง EIA มาให้ สผ. และ คชก. พิจารณาเป็นครั้งแรก ไม่ใช่ระยะเวลา 30 วันซึ่งเป็นระยะเวลาสำหรับใช้ในการพิจารณา EIA ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

ข้อสอง เจตนารมณ์ของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็คือให้ปฎิบัติตามประกาศที่เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทํา EIA สำหรับโครงการหรือกิจการแต่ละประเภทและแต่ละขนาดตามมาตรา 46 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย ในกรณีนี้ประกาศดังกล่าวก็คือ ‘ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555 เรื่อง กําหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ รวมถึงฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้มีรายละเอียดกำหนดไว้ในเอกสารท้ายประกาศ 4 ในเรื่องแนวทางการจัดทำ EIA ในส่วนของรายงานฉบับหลักว่า จะต้องดำเนินตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและ ‘การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางสังคม’ และ ‘แนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพใน EIA’ ด้วย

ปัจจุบัน สผ. ได้จัดทำเอกสารแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพใน EIA[5] เอาไว้แล้ว โดยมีหลักการทั่วไปให้ต้องคำนึงถึงหลายข้อที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้มีการประชุมหารือร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการตั้งแต่ขั้นตอนของการกลั่นกรองโครงการ การกำหนดขอบเขตการศึกษา ไปจนถึงการประเมินผลกระทบ การพิจารณารายงาน และการติดตามตรวจสอบและประเมินผล

ดังนั้น เงื่อนไขที่สองของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมคือการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้มีการจัดเวทีประชุมเพื่อหารือร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คล้อยหลังประมาณครึ่งปีนับจากวันที่ คชก. มีมติไม่เห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่สองเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 สผ. และ คชก. กลับรับ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่สามเข้ามาพิจารณาใหม่ในคราวประชุม คชก. ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560

โดยสามารถพินิจพิเคราะห์ได้ว่าการรับ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่สามของ สผ. และ คชก. เข้ามาพิจารณาไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมตามที่ คชก. เองได้ทำหนังสือแจ้งมีมติไม่เห็นชอบ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่สองที่ผ่านมา กล่าวคือ สผ. และ คชก. ดำเนินตามเจตนารมณ์ของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่ครบถ้วน มีเพียงข้อแรกข้อเดียว นั่นคือ การพิจารณา EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่สามโดยใช้เงื่อนไขระยะเวลา 75 วัน ตามที่ได้แจ้งทางวาจาต่อชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ที่เดินทางไปยื่นหนังสือในวันนั้นให้รับทราบ

แต่ สผ. และ คชก. ทำผิดเจตนารมณ์ของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมในเงื่อนไขข้อที่สองที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่สามนี้ปรากฎข้อมูลที่ได้จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อครั้งเก่า ๆ เต็มไปหมด ซึ่งเป็นข้อมูลที่สร้างความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากนำรายชื่อและรูปถ่ายของชาวบ้านที่คัดค้านโครงการมาบิดเบือนว่าเป็นรายชื่อและรูปถ่ายชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการ โดยเฉพาะในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งที่สองที่โรงเรียนมัธยมบางอำพันธ์วิทยาคมในเขตท้องที่ตำบลบ้านตาลเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 มีประชาชนที่แสดงตัวคัดค้านโครงการออกมาร่วมเวทีเกือบพันคน แต่บริษัทที่ปรึกษารับจ้างทำ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เหมืองโปแตชกลับสร้างหลักฐานเท็จด้วยการนำรูปถ่ายของผู้ที่คัดค้านโครงการมาบิดเบือนว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการ เป็นต้น

ปัญหาสำคัญข้อนี้เกี่ยวโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ไม่เป็นไปตาม ‘แนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ ที่กำหนดเอาไว้ใน ‘ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555 เรื่อง กําหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม’ ตามมาตรา 46 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม จึงมีข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ส่งให้กับ สผ. และ คชก. มาตลอดปีครึ่งที่ผ่านมาว่าข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ปรากฎอยู่ใน EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบแรกและรอบที่สองที่ สผ. และ คชก. มีมติไม่ให้ความเห็นชอบนั้นเป็นข้อมูลเท็จ ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม

ดังนั้น การที่ สผ. และ คชก. รับ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่สามมาพิจารณาโดยใช้ข้อมูลที่เกิดจากเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งเก่า ๆ ที่มีปัญหาตามที่ได้กล่าวไป จึงถือว่าเป็นการกระทำผิดไปจากเจตนารมณ์ของการกลับสู่กระบวนการพิจารณา EIA ใหม่ ตามมาตรา 48 และ 49 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมในเงื่อนไขข้อที่สองที่เกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เสมือนเป็นการเหยียบย่ำหลักการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้เสียเอง

แม้การพิจารณา EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในรอบที่สาม เมื่อคราวประชุม คชก.ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 สผ. และ คชก. จะมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ จนถึงกับทำให้เหมืองโปแตชต้องร่อนจดหมายชี้แจงไปตามหน่วยงานราชการ ชาวบ้านในพื้นที่และสื่อมวลชนสาขาต่าง ๆ ว่าจะขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นกะลาปาล์ม ก็ยังเป็นที่สงสัยกันในพื้นที่ว่าบริษัทฯจะจริงใจแค่ไหน หรือหลอกล่อเพียงเพื่อหวังจะให้การยื่น EIA โครงการโรงไฟฟ้า (กะลาปาล์มเพื่อทดแทน) ถ่านหินในรอบที่สี่ที่จะนำส่งต่อ สผ. และ คชก. ในอนาคตอันใกล้นี้ผ่านความเห็นชอบให้ได้เสียก่อน ต่อจากนั้น เมื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นแล้วค่อยเปลี่ยนกลับมาใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในภายหลังก็ได้ สองเหตุการณ์นี้ได้สร้างความพอใจให้กับชาวบ้านที่ต้องเสียสละรวบรวมเงินทองกันคนละเล็กละน้อยเช่ารถตู้โดยสารสาธารณะเข้ามากรุงเทพฯเพื่อขอร่วมประชุมและเสนอความเห็นในการประชุม คชก. ในวันดังกล่าวได้พอสมควร แต่ก็ไม่ทำให้ความผิดของ สผ. และ คชก. ต้องพ้นผิดตามไปด้วย เพราะเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เพื่อเตือนสติแก่ สผ. และ คชก. ว่า หากประชาชนไม่ร้องเรียนให้เอาผิดกับ สผ. และ คชก. ในคราวนี้ หน่วยงานทั้งสองก็จะทำผิดซ้ำซากอีกหลายหน และก็จะนิ่งดูดายในความผิดของตัวเองเมื่อเหมืองโปแตชบำเหน็จณรงค์นำส่ง EIA โครงการโรงไฟฟ้า (กะลาปาล์มเพื่อทดแทน) ถ่านหินเป็นรอบที่สี่เข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้ และไม่เฉพาะที่เกี่ยวกับ EIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเหมืองโปแตชบำเหน็จณรงค์เท่านั้น แต่ยังรวมถึง EIA โครงการพัฒนาอื่น ๆ อีกมากมายที่ประชาชนจะต้องทนเห็นพฤติกรรมที่ชอบฟอกผิดให้เป็นถูกเช่นนี้ของ สผ. และ คชก. ไปอีกนานแสนนาน



เชิงอรรถ:

[1] มาตรา 48 ในกรณีที่โครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 46 เป็นโครงการหรือกิจการซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการตามกฎหมาย ก่อนเริ่มการก่อสร้างหรือดำเนินการ ให้บุคคลผู้ขออนุญาตเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายนั้น และต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเสนอรายงานดังกล่าวอาจจัดทำเป็นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 46 วรรคสอง ก็ได้

ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายรอการสั่งอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการตามวรรคหนึ่งไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 49 จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เสนอมา หากเห็นว่ารายงานที่เสนอมามิได้จัดทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 วรรคสอง หรือมีเอกสารข้อมูลไม่ครบถ้วน ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งให้บุคคลผู้ขออนุญาตที่เสนอรายงานทราบภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอรายงานนั้น
ในกรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเห็นว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่เสนอมาถูกต้อง และมีข้อมูลครบถ้วน หรือได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนตามวรรคสามแล้ว ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเสนอความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับรายงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอรายงานนั้น เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาต่อไป

การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายสำหรับโครงการหรือกิจการนั้น หรือผู้แทนร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย

[2] มาตรา 49 การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการตามมาตรา 48 ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการมิได้พิจารณาให้เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบแล้ว

ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบ หรือในกรณีที่ให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายสั่งอนุญาตแก่บุคคลซึ่งขออนุญาตได้

ในกรณีที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการไม่ให้ความเห็นชอบ ให้เจ้าหน้าที่รอการสั่งอนุญาตแก่บุคคลผู้ขออนุญาตไว้ก่อนจนกว่าบุคคลดังกล่าวจะเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการสั่งให้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมหรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับ ตามแนวทางหรือรายละเอียดที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการกำหนด

เมื่อบุคคลดังกล่าวได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งได้ทำการแก้ไขเพิ่มเติมหรือได้จัดทำใหม่ทั้งฉบับแล้ว ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอรายงานดังกล่าว แต่ถ้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการมิได้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการเห็นชอบ และให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวสั่งอนุญาตแก่บุคคลผู้ขออนุญาตได้

ในกรณีที่เห็นเป็นการสมควร รัฐมนตรีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้โครงการหรือกิจการตามประเภทและขนาดที่ประกาศกำหนดตามมาตรา 46 ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการขอต่ออายุใบอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการนั้น ตามวิธีการเช่นเดียวกับการขออนุญาตด้วยก็ได้

[3] มาตรา 46 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดประเภทและขนาดของโครงการ หรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอขอความเห็นชอบตามมาตรา 47 มาตรา 48 และมาตรา 49

ในการประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ แนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องเสนอพร้อมกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการแต่ละประเภทและแต่ละขนาดด้วย

ในกรณีที่โครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดใด หรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใดมีการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดเดียวกัน หรือในพื้นที่ลักษณะเดียวกันได้ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้โครงการหรือกิจการในทำนองเดียวกันได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ได้ แต่ทั้งนี้ โครงการหรือกิจการนั้นจะต้องแสดงความยินยอมปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด

[4] จำนวนวันอาจมากกว่า 75 วัน หากในชั้นการพิจารณาของ สผ. ไม่ได้ส่งให้ คชก. ทันทีทันใดนับจากระยะเวลา ๓๐ วันแรกที่อยู่ในการพิจารณาของ สผ. หรือจำนวนวันอาจน้อยกว่า 75 วัน หาก สผ. และ/หรือ คชก. ใช้เวลาน้อยกว่าที่กำหนดไว้ แต่โดยหลักคือ 75 วัน - ผู้เขียน

[5] แนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เมษายน 2556


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.