Posted: 16 Jun 2017 08:11 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

รังสิมันต์ โรม เข้าศูนย์ดำรงธรรมตอบ 4 คำถามของประยุทธ์ จันโอชา เผยเหตุที่มาเพราะต้องการแสดงให้นายกรัฐมนตรีเห็นว่ามีคนไม่เห็นด้วยอยู่ ระบุทุกคำถามเป็นการตั้งธงคำตอบไว้หมด ชี้แม้ คสช. จะถามถึงเรื่องธรรมภิบาล แต่การกระทำของรัฐบาลเรื่อง เร่งรัดโครงการรถไฟไทย-จีน กลับไร้ธรรมาภิบาลเสียเอง




ภาพจาก Banrasdr Photo

16 มิ.ย. 2560 เมื่อเวลา 14.00 น. รังสิมันต์ โรม และกรกช แสงเย็นพันธ์ สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้เดินทางไปที่ศูนย์ดำรงธรรง ที่กระทรวงกลาโหม โดยรังสิมันต์ ให้สัมภาษณ์กับประชาไท หลังตอบคำถามทั้ง 4 ข้อว่า ที่มาตอบคำถามในวันนี้เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาลในการตั้งคำถามในลักษณะนี้อยู่ เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาตอบคำถามดังกล่าวอาจจะมีแนวโน้มที่เห็นด้วย หรือเห็นไปในทางเดียวกันกับรัฐบาลและ คสช. มาก ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและ คสช. อาจจะไม่กล้าแสดงออกโดยการมาตอบคำถามดังกล่าวที่ศูนย์ดำรงธรรม เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลต่างๆ ในบัตรประชาชนเอาไว้ด้วย ซึ่งอาจจะกังวลว่า หากตอบคำถามโดยที่เป็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจะทำให้เกิดผลกระทบตามมา

ทั้งนี้รังสิมันต์ ระบุด้วยว่า คำถามทั้ง 4 คำถามที่ได้มีการตั้งไว้นั้นเป็นการตั้งคำถามที่มีธงคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้ว และตัวคำถามเองก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมภิบาล จึงทำให้อดคิดถึงเรื่องการใช้ ม.44 ดันโครงการรถไฟฟ้าความเร็วไม่ได้ โดยรังสิมันต์เห็นว่า หนึ่งในหลักธรรมาภิบาลที่รัฐบาลที่ดีพึงยึดถือคือ หลักความโปร่งใส และหลักการตรวจสอบได้ หลักการดังกล่าวเป็นหลักการที่มีไว้เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐว่ามีความโปร่งใส ไม่มีการคอรัปชั่นหรือเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง แต่การออกคำสั่งจาก ม.44 เพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟไทยจีนที่เรื้อรังมานาน ได้ยกเว้นกฎหมายหลายฉบับที่มีขึ้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ ซึ่งนัยหนึ่งของกฎหมายเหล่านี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการคอรัปชั่น และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยต่อชีวิตคนไทยเอง


คำตอบของรังสิมันต์โรม

1. ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่?

ธรรมาภิบาลไม่ได้เกิดจากการได้คนดีมาเป็นรัฐบาล แต่เกิดจากการวางระบบที่ส่งเสริมหรือกำกับให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม ระบบในที่นี้ได้แก่รัฐธรรมนูญนั่นเอง ซึ่งหากผู้ถามมีความมั่นใจในประสิทธิภาพของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ย่อมไม่เกิดคำถามนี้ขึ้นตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ ส.ว. ศาลและองค์กรอิสระมีอำนาจควบคุมการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น จึงต้องตั้งคำถามด้วยว่าจะมีกลไกใดที่จะกำกับให้องค์กรเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่อย่าง “มีธรรมาภิบาล” เช่นเดียวกันกับรัฐบาล

2. หากไม่ได้ จะทำอย่างไร?

จากที่กล่าวไปแล้วว่าธรรมาภิบาลเกิดจากการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ดี หากรัฐบาล (หรือองค์กรอื่นๆ) ขาดธรรมาภิบาล แสดงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาในตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะมีธรรมาภิบาล แต่ก็จะถูกครอบงำโดย ส.ว. ศาลและองค์กรอิสระอยู่ดี ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลมีอำนาจหน้าที่สมกับเป็นผู้แทนประชาชนเสียก่อน

3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง?

การเลือกตั้งกับการวางยุทธศาสตร์หรือการปฏิรูปสามารถเกิดขึ้นด้วยกันได้ เพราะนักการเมืองเองก็พยายามเสนอยุทธศาสตร์หรือการปฏิรูปด้วยผ่านนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงกับประชาชน ซึ่งเมื่อรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนแล้ว ย่อมต้องรับผิดชอบต่อนโยบายที่ตนเสนอไปด้วย

การรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนต่างหากที่ไม่ถูกต้อง แม้จะมียุทธศาสตร์หรือการปฏิรูปก็ตาม เพราะเป็นยุทธศาสรต์หรือการปฏิรูปที่คนเพียงกลุ่มเดียวยัดเยียดให้กับประชาชนทั้งประเทศ

4. ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร?

ในระบอบประชาธิปไตย ผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญย่อมไม่สามารถเข้าสู่การเลือกตั้งได้ และหากใครเข้ามาแล้วมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็อาจถูกลงโทษตามกฎหมายได้ด้วยเช่นกัน

ระบอบเผด็จการต่างหากที่อนุญาตให้ผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเข้ามามีอำนาจได้โดยไม่ต้องผ่านความมยินยอมของประชาชนแม้แต่น้อย ทั้งยังไม่ต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตนเพราะได้นิรโทษกรรมตัวเองไว้แล้ว ตัวอย่างได้แก่ผู้ถามนั่นเอง


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.