75 องค์กรอีสานประท้วงเวที แก้ ก.ม.บัตรทอง ใต้แถลงหนุน สรรเสริญ ตั้งแง่เอี่ยวการเมือง

Posted: 17 Jun 2017 04:54 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทองขึ้นยึดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประกาศจุดยืน ค้านการแก้ ก.ม.บัตรทอง ชี้ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น ขณะที่ 60 เครือข่ายภาคประชาชนใต้ แถลงหนุนอีสานฯ ด้าน พล.อ.สรรเสริญตั้งแง่ กลุ่มค้านมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง



ที่มาภาพ เพจ บัตรทองของเรา

17 มิ.ย. 2560 จากกรณีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยภาคประชาชนมองว่ากระบวนการยกร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีผู้แทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวเพียง 2 คน รวมถึงมีข้อกังวลจากภาคประชาชนว่าการแก้ไขจะเป็นการทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง จนเกิดการคัดค้านและวอล์กเอาต์จากเวทีประชาพิจารณ์ใน 2 ภาค คือ ภาคเหนือและภาคใต้ เหลืออีก 2 เวที คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันที่ 17 มิ.ย. และภาคกลาง กทม. วันที่ 18 มิ.ย.นี้


ที่มาภาพ เพจ บัตรทองของเรา

วันนี้ (17 มิ.ย.60) ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น เพจ บัตรทองของเรา รายงานว่า “เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง” ขึ้นยึดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประกาศจุดยืน คัดค้านการแก้กฎหมายฯ ที่ไม่ชอบธรรมตั้งแต่ต้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดเวทีนั้น หลังการชี้แจงเครือข่ายชาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง ที่มีชาวบ้านจากหลายเครือข่าย ทั้งเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เครือข่ายผู้ป่วยโรคไตและเครือข่ายคนรักสุขภาพ ได้ขึ้นเวที พร้อมถือป้ายแสดงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยในเวทีประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ โดยระบุว่าไม่ต้องการให้จัดเวทีประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้จัดงานต้องทบทวน กม. ที่นำมาเสนอกับประชาชน
พลเดช กล่าวว่า ในการแสดงออกของเครือข่าย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะนำความคิดเห็นทั้งหมดนำเสนอต่อผู้รับผิดชอบทุกส่วน แต่ต้องให้เวทีดำเนินการต่อเพื่อรับฟังในส่วนอื่นเช่นกัน ผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถควบคุมเวทีประชาพิจารณ์ได้


เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง ซึ่งมี 75 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ แก้กฎหมายบัตรทอง บิดเบือนเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชาชน รายละเอียดดังนี้



คำสั่ง มาตรา 44 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2559 ระบุให้มีการ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 10/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ทางคณะกรรมพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้จัดตั้งอนุกรรมการจัดทำประชาพิจารณ์ 4 ภูมิภาค และจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จำนวน 3 ช่องทาง โดยได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ถูกคัดค้านจากประชาชนที่เห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กระบวนการ ไม่มีความเป็นธรรมและละเมิดหลักการการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ การจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของ คณะทำงานฯ เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อสร้างภาพให้สาธารณะชนเห็นว่าประชาชน มีส่วนร่วม แต่ในความเป็นจริงนั้น ในเนื้อหาการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีการตั้งธงไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้น โดยคนในกระทรวงสาธารณสุขที่มีอคติต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แม้ว่าประชาชนที่รักความเป็นธรรม จะแสดงความคิดเห็นในเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ก็จะไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงธงหรือเนื้อหาที่คณะกรรมการร่างไว้ได้ โดยเฉพาะกระบวนการออกแบบเวทีรับฟังความคิดเห็นทำให้ไม่เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเท่าเทียม

ดังนั้น เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง เห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงมีความเห็นต่อการจัดเวทีประชาพิจารณ์ แก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ดังนี้

1. ให้ยุติกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน

2. กระบวนจัดทำประชาพิจารณ์ ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และในเนื้อหาการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ทำลายเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนไม่อาจจะรับได้

3. องค์ประกอบของคณะทำงานแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งขึ้นมานั้นไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อประชาชน โดยโน้มเอียงไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากสัดส่วนของคณะทำงาน 26 คน มีตัวแทนของภาคประชาชนเพียง 2 คน

4. การแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยังขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน การเลือกปฏิบัติกับเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยและเป็นการกีดกันกลุ่มคนที่กำลังรอพิสูจน์สัญชาติในประเทศซึ่งมีมากกว่าสี่แสนคน

เครือข่ายฯ ยังยืนยันในหลักการที่ว่า “ประชาชนต้องมีสิทธิรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องถือปฏิบัติและรัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่ต้องร้องขอ”


ด้วยจิตคาราวะ
17 มิถุนายน 2560
ประกาศ ณ โรงแรมอะวานี ขอนแก่น

สำหรับ เครือข่ายผู้สนับสนุนแถลงการณ์ทั้ง 75 องค์กรประกอบด้วย 1)ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน 2)ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) 3)ศูนย์ข้อมูลสิทธิเพื่อผู้บริโภค 4)กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5)กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล – ดูนสาด 6)กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดงมูล 7)กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย 8)กลุ่มฅนบ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ 9)กลุ่มฮักบ้านฮั่นแนว 10)ขบวนการอีสานใหม่ 11)ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม 12)เครือสตรีจังหวัดสุรินทร์ 13)เครือข่ายคนพิการจังหวัดนครราชสีมา 14)มูลนิธิน้ำเพื่อชีวิต 15)เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุรินทร์ 16)เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา 17)กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส 18)กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแววล้อมโคกหินขาว 19)กลุ่มปุกฮัก 20)ชมรมคนสร้างฝัน 21)เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ 22)กลุ่มเด็กฮักถิ่นใหม่ ม.ราชภัฏสกลนคร 23)เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า 24)กลุ่มกวีเถื่อน ม.ราชภัฏมหาสารคาม 25)เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย 26)ศูนย์พิทักษ์จัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชีตอนบน 27)กลุ่มชาวบ้านฟื้นฟูระบบนิเวศลำน้ำชีตอนล่าง 28)เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน 29) กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง 30)ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมลุ่มน้ำโขง(ศพส.) 31)คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) 32)กลุ่มสมุนไพรเพื่อสันติภาพ (Herb for Peace) 33)กลุ่มเถียงนาประชาคม 34)กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) 35)สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์

36.)สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ 37)กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน 38)มูลนิธิน้ำเพื่อชีวิต 39)เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน 40)สถาบันชุมชนอีสาน 41)สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม 42)ศูนย์ข้อมูลสิทธิเพื่อผู้บริโภค 43)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดขอนแก่น 44)เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น 45)สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น 45)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจังหวัดขอนแก่น 46)เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น 47)เครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น 48)เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น 49)เครือข่ายเกษตร จังหวัดขอนแก่น 50)เครือข่ายคนพิการจังหวัดขอนแก่น 51)ชมรมเพื่อนโรคไตจังหวัดขอนแก่น 52)สื่ออาสาปันใจจังหวัดขอนแก่น 53)กลุ่ม M-CAN ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายจังหวัดขอนแก่น 54)มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น 55)เครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดมหาสารคาม 56)มูลนิธิไทยอาทร จังหวัดขอนแก่น 57)โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น (LDP) จังหวัดชัยภูมิ 58)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน 59)ชมรมต้นกล้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และครอบครัว จังหวัดมุกดาหาร 60)สมาคมวิถีธรรมชาติ จังหวัดอุบลราชธานี 61)มูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมเอชไอวี จังหวัดอุบลราชธานี 62)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดอุบลราชธานี 63)สมาคมศิษย์เก่านักเรียนทุน ไอ เอฟ พี ประเทศไทย 64)สถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา (กลุ่มก่อการดีเลย) จังหวัดเลย 65)สมาคมไทบ้าน จ.มหาสารคาม 66)ตลาดเขียวขอนแก่น 67)สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน 68)ศูนย์ส่งเสริมสิทธิศักยภาพประชาชนนครราชสีมา 69)สภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน 70)เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน 71)คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน 72)เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดมหาสารคาม 73)กลุ่มพิราบขาว จ.ขอนแก่น 74)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด และ 75)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์(ข่ายผู้หญิง)

สรรเสริญ ตั้งแง่ กลุ่มค้านมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

แนวหน้า รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถูกบอยคอตต์จากภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมอวานี แอนด์คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น ที่ถูกภาคประชาชนบุกไปยึดเวทีจนไม่สามารถดำเนินการรับฟังความคิดเห็นได้ว่า ได้ชี้แจงถึงเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพไปหมดแล้ว จึงอยากให้ประชาชนลองศึกษารายละเอียดถึงร่างดังกล่าวก่อนว่าเป็นอย่างไร มีส่วนที่สูญเสียสิทธิจากเดิมหรือพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนการที่มีกลุ่มคนไปล้มเวทีประชาพิจารณ์นั้น แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง แต่การกระทำที่บ่งบอกว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นนั้นก็ไม่สมควรทำเช่นกัน

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การออกกฎหมายแต่ละฉบับ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและถือเป็นองค์ประกอบหลักในการออกกฎหมาย ดังนั้นประชาชนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และที่ผ่านมามีการเรียกร้องอยากเห็นประชาธิปไตย ซึ่งหัวใจหลักคือการแสดงความเห็นคิด ดังนั้นการใช้กำลังล้มเวทีประชาพิจารณ์ ก็เป็นการบอกว่าไม่ได้เป็นการฟังความคิดเห็นคนอื่นด้วยเหมือนกัน

“ขอให้ดูให้ดีว่ากลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ จริงๆ หรือมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้เสียรังวัดว่าของใหม่ดีกว่าของเดิม อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ล้มเวทีประชาพิจารณ์ เพราะถือว่ากระทำความผิด” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
ใต้หนุนเสียงอีสาน ค้านแก้ ก.ม. 'บัตรทอง'

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า 60 เครือข่ายภาคประชาชนใต้กว่า 60 คน จาก 14 เครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งมาร่วมเวทีเปิดพื้นที่ความคิดและเชื่อมโยงเครือข่ายภาคใต้ ที่จัดโดยขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) ณ โรงแรมสิงห์โกลเด้น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้มีแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนอีสานที่ไม่ยินยอมให้มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ จ.ขอนแก่น


ธิรดา ยศวัฒนะกุล ตัวแทน ขสช. ภาคใต้ กล่าวว่า ขสช. ภาคใต้ ได้ติดตามความพยายามแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 และติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการมีกฎหมายฉบับนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาที่สำคัญยิ่งคือขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างกว้างขวางเพียงพอ ทั้งที่เป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งประเทศ และขาดความไว้วางใจในกระบวนการและเจตนารมณ์ของการแก้ไขกฎหมาย จึงขอขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวรณรงค์และข้อเรียกร้องของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่คัดค้านการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ ขสช. พร้อมที่จะเข้าร่วมในการขับเคลื่อนทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ขสช. ยังเรียกร้องให้ยุติกระบวนการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพและให้มีการเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ตลอดจนทบทวนการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (พ.ร.บ.สสส.) ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 เช่นเดียวกัน และ ขสช. ภาคใต้ จะจับตาความพยายามแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับอย่างใกล้ชิดเพื่อปกป้องกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพของสังคมไทย

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เปิดเวทีประชาพิจารณ์เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่ากฎหมายบัตรทอง ในพื้นที่ภาคอีสาน ณ จังหวัดขอนแก่น โดยก่อนหน้าการประชาพิจารณ์หนึ่งวัน มีการขึ้นป้ายรณรงค์คัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทองในหลายจุด กระทั่งเมื่อมีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ ประชาชนส่วนหนึ่งได้บุกขึ้นไปบนเวทีพร้อมชูป้ายประท้วง มีข้อความเช่น 'คัดค้านการใช้ ม.44 แก้กฎหมายบัตรทอง', 'แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพเท่ากับล้มบัตรทอง' จากนั้นจึงผลัดกันปราศรัยคัดค้านการประชาพิจารณ์ครั้งนี้อย่างเข้มข้น จึงทำให้กระบวนการประชาพิจารณ์ไม่สามารถเริ่มต้นขึ้นได้และต้องยกเลิกในเวลาต่อมา

สำหรับเวทีเปิดพื้นที่ความคิดและเชื่อมโยงเครือข่ายภาคใต้ นอกจากการแสดงจุดยืนร่วมกันในการสนับสนุนการคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแล้ว ยังมีการระดมความคิดเห็นต่อการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สสส. ด้วย ผู้มาร่วมจากหลายเครือข่ายสะท้อนว่า ไม่เห็นด้วยการกับแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะในส่วนหลักการและเหตุผลที่ระบุว่า การดำเนินงานของ สสส.มีปัญหาธรรมาภิบาล ทำให้การพัฒนาประเทศมีปัญหา ไม่มีประสิทธิภาพและไม่คุ้มค่าเชิงภารกิจของรัฐแต่จะทำอย่างไรให้องค์กรหรือภาคประชาชนที่เคยทำงานร่วมกันกับ สสส. แสดงตัวออกมาแสดงจุดยืนมากขึ้น

เตชาติ มีชัย หนึ่งในภาคประชาชน กล่าวว่า พ.ร.บ.สสส. เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือการพัฒนาประเทศเป็นหลักการใหญ่ แต่การที่ถูกมองว่าขัดธรรมาภิบาล ถ้ารับได้ก็ปล่อยให้ดำเนินกระบวนการต่อไป แต่ถ้ารับไม่ได้ก็ต้องแสดงตัวตนว่าคิดอย่างไร องค์กรต่างๆที่ทำงานหรือรับทุนจาก สสส. ซึ่งเดิมไม่ค่อยแสดงตัวหรืออยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งเวลานี้คิดอย่างไร

กาจ ดิษฐาภิชัย ตัวแทนจากเครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง กล่าวว่า ระบบสุขภาพในนิยาทของ สสส.เป็นของประชาชนที่ไปทาบเทียบอำนาจรัฐ แต่ร่างกฎหมาย สสส.ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ด่าประชาชน สถาปนาขึ้นไปเป็นระบบราชการเพื่อจะสืบทอดการกำกับประชาชนต่อไป ถ้ารับไปก็จะทำให้ประชาชนเหลือแค่ความเป็นไพร่ทาส ต้องยืนยันว่าหลักการมีความสำคัญ มิฉะนั้นจะถูกลากไปเป็นหมื่นเป็นพันประเด็น ซึ่งหลักการในร่างกฎหมาย สสส. ฉบับนี้รับไม่ได้

นอกจากนี้ ในเวทียังมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะต้องมีการร่วมกันร่าง พ.ร.บ.สสส. ฉบับประชาชน ขึ้น โดยกระบวนการที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน หลังจากนี้จะมีการขยับไปสู่การร่างกฎหมายเพื่อเสนอต่อสังคมต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.