Posted: 16 Jun 2017 01:43 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ปิยรัฐ จงเทพ จำเลยคดีฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติเผย เจ้าหน้าที่ AIS พยานโจทก์นำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยระหว่างการสืบพยาน โดยที่ไม่มีคำสั่งศาลให้เปิดเผยข้อมูลมาก่อน ซึ่งข้อมูลที่นำเปิดเผยประกอบด้วยรายละเอียดการใช้งานการโทร ข้อความ และการระบุตำแน่งรับสัญญาณ

ที่มาภาพจาก เฟซบุ๊ก 'ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์'

16 มิ.ย. 2560 ปิยรัฐ จงเทพ นายกสมาคมเพื่อเพื่อน FFA ซึ่งหนึ่งในจำเลยคดีฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติ เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดพระโขนง ได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย ในคดีฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ซึ่งมีนักกิจกรรม 3 รายเป็นจำเลยได้แก่ ปิยรัฐ จงเทพ ทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ และจิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ โดยเริ่มสืบตั้งแต่วันที่ 13 – 16 มิ.ย. นี้

โดยในวันที่ 14 มิ.ย. ซึ่งเป็นการสืบพยานฝ่ายโจทก์ ปิยรัฐให้ข้อมูลว่า ในกระบวนการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์ได้เบิกพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานจาก AIS ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัทพ์เคลื่อนที่ มาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องการกับใช้บริการของจำเลยทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นข้อมูลรายชื่อเบอร์โทรติดต่อทั้งหมดในช่วงเวลาก่อน และหลังวันที่ 7 ส.ค. 2559 (วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ) รวมทั้งข้อความต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวของผู้ใช้บริการทั้ง 3 คน แต่ไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาของข้อความ หรือเนื้อหาของการพูดคุย แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ได้มีการนำมาเปิดเผยนั้นได้ระบุถึงตำแหน่งที่จำเลยทั้ง 3 อยู่ในช่วงเวลาต่างๆ

ปิยรัฐ ระบุว่า ข้อมูลที่มีการเปิดเผยทั้งหมดนั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฉีกบัตรประชามติแต่อย่างใด เพราะเป็นการเปิดเผยข้อมูลว่า ในวันเวลาต่างๆ ทั้ง 3 คน อยู่ที่ไหนบ้าง ติดต่อกับใครบ้าง ซึ่งเป็นข้อมูลโดยละเอียด เช่นรู้ว่า ทั้งสามคนจะไปสถานที่ไหนเป็นประจำ ติดต่อกับใครเป็นประจำ และรวมทั้งข้อมูลการทำธุรการการเงินซึ่งได้มีการผูกบัญชีในระบบ mobile bank

“เขารู้หมดครับว่า วันไหนผมไปไหนบ้าง มีอยู่วันหนึ่งที่ไปโรมแรมแห่งหนึ่งเขาก็รู้ รู้กระทั่งว่าผมโทรหาใครก่อนที่จะไป เข้าใจว่าที่เขามาเบิกความในศาลแบบนี้ เพราะต้องการแสดงให้ศาลเห็นว่าพวกเราทั้ง 3 คน รู้จักกันเป็นเพื่อนกันมากก่อน ซึ่งมันไม่จำเป็นที่จะต้องไปเอาข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยแบบนี้ เพราะว่าเราก็อยู่ในที่แจ้งอยู่แล้ว เราเป็นเพื่อนกัน รู้จักกันอยู่แล้ว เราไม่เคยปฏิเสธ” ปิยรัฐ กล่าว

ปิยรัฐ ให้ข้อมูลต่อว่า ทนายจำเลยได้มีการคัดค้านหลักฐานดังกล่าวแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการที่ผู้บริการจะสามารถเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการได้นั้น จำเป็นที่ต้องมีคำสั่งศาลที่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลโทรคมนาคมของผู้ใช้บริการได้ แต่ในกรณีนี้ไม่มีคำสั่งศาล มีแต่เพียงการส่งหนังสือขอความร่วมมือจากพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเพียงเท่านั้น

สำหรับคดีฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติ เกิดขึ่นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 เวลาประมาณ 12.00 น. ณ หน่วยลงคะแนนเสียงในสำนักงานเขตบางนา โดยปิยรัฐ ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เนื่องจากเห็นว่าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นโดยไม่เป็นธรรม จึงได้ทำการฉีกบัตรลงคะแนนเสียง พร้อมกับตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” และถูกเข้าควบคุมตัวในทันที ปิยรัฐถูกจับกุมดำเนินคดีใน 4 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาทำลายบัตรออกเสียง และก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแแนน ตามพ.ร.บ.ประชามติ, ข้อหาทำลายเอกสารราชการ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่เพื่อนทั้งสองคน ซึ่งได้ติดตามถ่ายวีดีโอขณะนายปิยรัฐแสดงออก ก็ได้ถูกกล่าวหาในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนนด้วย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.