ดิอิโคโนมิสต์'วันเดอร์วูแมน'ฉบับภาพยนตร์-สตรีนิยมที่ยังไม่เข้มข้นเท่าฉบับการ์ตูน

Posted: 08 Jun 2017 11:28 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ดิอิโคโนมิสต์เขียนถึงภาพยนตร์วันเดอร์วูแมนในฉบับภาพยนตร์ว่าถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ชวนเสริมพลังให้ผู้หญิงและมีการท้าทายภาพเหมารวมทางเพศอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่เข้มข้นมากเท่าระดับฉบับหนังสือการ์ตูนที่พูดถึงประเด็นต่างๆ ที่ผู้หญิงถูกกดขี่รังแกอย่างจริงจัง กระนั้นก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้างว่าภาพยนตร์โลกอาจจะมีประเด็นแบบนี้มากขึ้น


8 มิ.ย. 2560 ในขณะที่ภาพยนตร์วันเดอร์วูแมนเปิดตัวด้วยเสียงตอบรับเชิงบวกจากนักวิจารณ์หลายสำนัก ไม่ใช่แค่ในแง่ของความเป็นภาพยนตร์แต่ยังพูดถึงในแง่ของบทบทไดอานาหรือวันเดอร์วูแมนที่นำแสดงโดยกัล กาด็อท เป็น "แสงสว่างแห่งความหวังในโลกสีเทา" สื่อบางแห่งก็ระบุถึงในแง่ที่บทบาทนี้ดูจะเสริมพลังให้กับผู้หญิงจากบทบาทที่วันเดอร์วูแมนทั้งวางแผน ต่อสู้ และช่วยเหลือกอบกู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการยกย่องทั้งความแข็งแกร่ง ความเป็นหญิง และการเข้าถึงหัวอกคนอื่น

แต่บทความในดิอิโคโนมิสต์ก็ระบุว่าวันเดอร์วูแมนก็ยังคงมีสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่แบบเดิมๆ อยู่ดี เช่นเรื่องด้านมิดที่แฝงอยู่ในมนุษย์แบบแบทแมน ส่วนที่ทำให้แตกต่างไปบ้างคือการท้าทายเรื่องภาพเหมารวมทางเพศอย่างจริงจังจากคำวิจารณ์ของตัวละครไดอานาเองที่ชี้ให้เห็นความน่าหัวร่อของจารีตในสังคม แม้กระทั่งชุดที่ให้ผู้หญิงสวมก็ถูกตั้งคำถาม ถึงขั้นวิพากษ์ว่าบางอย่างในวัฒนธรรมของรัฐเธอมันถือว่าเป็น "การใช้ทาส"

อย่างไรก็ตามดิอิโคโนมิสต์ก็มองว่าฉบับภาพยนตร์ยังเป็นแค่เงาของเนื้อเรื่องฉบับหนังสือการ์ตูนที่ได้รับการชื่นชมจาก จิลล์ เลอปอร์ นักประวัติศาสตร์อเมริกัน ซึ่งฉบับหนังสือการ์ตูนเคยถึงขั้นถูกคนคนกล่าวหาว่าเป็น "โฆษณาชวนเชื่อของพวกนักสตรีนิยม" หรือบางส่วนก็มองว่าเป็น "ภาพฝันของขบวนการสตรีนิยม" ซึ่งวันเดอร์วูแมนฉบับการ์ตูนเองก็เคยนำเสนอภาพแบบที่อ้างอิงกับขบวนการเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งมาก่อนด้วย ตัวผู้แต่งคือเลอปอร์เองก็เคยบอกว่าวันเดอร์วูแมนเป็นผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

เนื้อหาของวันเดอร์วูแมนมีลักษณะต่อต้านใครก็ตามที่จะแย่งชิงเสรีภาพของผู้หญิงไป เธอช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นทาสหรือคนที่ถูกปฏิเสธสิทธิในการทำงาน การ์ตูนวันเดอร์วูแมนในช่วงยุคคริสตทศวรรษที่ 60s-70s ยังมีทั้งภาพเธอต่อสู้กับคนที่ข่มขืนและลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพื่อยับยั้งแผนการของพรรคการเมืองที่จะสร้างโลกเฉพาะของผู้ชายอย่างเดียว และตอนอื่นๆ ที่ต่อสู้กับคนที่ต่อต้านแนวคิดสตรีนิยมอย่างแก๊งอาชญากรที่เข้าไปพังคลินิคทำแท้งเพราะปฏิเสธไม่อยากให้ผู้หญิงมีสิทธิในการทำแท้ง

ซึ่งดิอิโคโนมิสต์มองว่าถึงพวกเขาจะไม่ถึงขั้นคาดหวังให้ฉบับภาพยนตร์ทำเรื่องหนักๆ ชวนให้เกิดความเห็นแตกเป็นสองขั้วอย่างการทำแท้ง แต่โดยรวมแล้วจิตวิญญาณในแบบของฉบับการ์ตูนก็ขาดหายไปในฉบับภาพยนตร์ ตรงที่ละทิ้งประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงไปหลายๆ ประเด็นซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าฝ่ายบริหารที่ดูแลการผลิตภาพยนตร์ตัดประเด็นไม่ให้ดูสตรีนิยมจัดหรือเอาประเด็นผู้หญิงมายุ่งกับเนื้อเรื่องมากเกินไป

อย่างไรก็ตามดิอิโคโนมิสต์ก็มองในแง่ดีว่า วันเดอร์วูแมนถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญบนจอภาพยนตร์ จากที่ก่อนหน้านี้มีซูเปอร์ฮีโรผู้หญิงที่ได้รับการโหวตว่าเหมาะกับการมีเนื้อเรื่องเดี่ยวของตัวเองอยู่เป็นส่วนน้อยทั้งจากฝั่งดีซีและฝั่งมาร์เวล การที่วันเดอร์วูแมนประสบความสำเร็จทั้งจากรายได้และจากคำวิพากษ์วิจารณ์ทางบวกก็จะเปิดโอกาสให้เรื่องที่เลยถูกละเลยไม่มีการเล่าในภาพยนตร์มาก่อนถูกนำมาเล่าได้ด้วย เป็นไปได้ว่าในวันเดอร์วูแมนเรื่องถัดๆ ไปเราอาจจะได้เห็นเธอแสดงพลังทางกายภาพไปพร้อมๆ กับการพูดความจริงเกี่ยวกับอำนาจของเพศชาย

วันเดอร์วูแมนเป็นตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ของค่ายดีซีคอมิคส์ มีตัวตนอีกชื่อหนึ่งคือไดอานา ปรินซ์ ผู้ที่สร้างตัวละครนี้ขึ้นมาคือนักจิตวิทยาอเมริกันชื่อวิลเลียม โมลตัน มาร์สตัน และนักวาดแฮรริส จี ปีเตอร์ โดยที่มาร์สตันบอกว่าหญิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละครนี้คือภรรยาของเขา อลิซาเบธและผู้ร่วมชายคากับภรรยาเธอชื่อโอลีฟ เบิร์น วันเดอร์วูแมนในฉบับการ์ตูนมีภาพลักษณ์เป็นหญิงที่ดูเข้มแข็งที่พร้อมสู้และในขณะเดียวกันก็เป็นนักการทูตที่อยากเน้นใช้คำโต้ตอบกันมากกว่าใช้กำลัง โดนนอกจากจะเป็นไอคอนเฟมินิสต์แล้วเธอยังเป็นไอคอนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ด้วย จากที่ตัวละครวันเดอร์วูแมนมีเพศวิถีแบบรักได้ทั้งสองเพศ (Bisexual) จากคำประกาศของผู้เขียนการ์ตูนเมื่อปี 2559

เรียบเรียงจาก

No damsel in distress : “Wonder Woman” is bold but doesn’t quite live up to the comics, The Economist, June 5, 2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Wonder_Woman

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.