Posted: 08 Jun 2017 09:50 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นักวิเคราะห์ชี้ ส่งทหารสะท้อนกาตาร์สำคัญกับตุรกี ไม่ใช่ท้าต่อยตีซาอุฯ แน่นอนเพราะยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การทูต สถานการณ์ปัจจุบันยังระอุ มีรัฐตัดสัมพันธ์กาตาร์เพิ่ม บาห์เรนห้ามประชาชนสนับสนุนกาตาร์


รัฐสภาตุรกี (ที่มา: วิกิพีเดีย)

8 มิ.ย. สืบเนื่องจากความตึงเครียดบนภูมิภาคตะวันออกกลาง เมื่อชาติอาหรับพากันคว่ำบาตรกาตาร์ด้วยข้ออ้างว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยมีการปิดชายแดนทั้งทางบก เรือ อากาศ ทำให้กาตาร์ต้องระงับเส้นทางการบิน เข้า-ออก ประเทศคู่กรณีทั้งหลาย ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียเพิกถอนใบอนุญาตสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ไม่ให้ทำงานในซาอุฯ ปิดสำนักงานสำนักข่าว อัลจาซีรา ของกาตาร์ในซาอุฯ และให้ธนาคารท้องถิ่นขายเงินสกุลริยาลของกาตาร์อีกด้วย ทำให้ความตึงเครียดทวีขึ้น

อ่าน 6 ชาติอาหรับตัดสัมพันธ์การทูตกาตาร์ อ้างเหตุอยู่เบื้องหลังกลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มการเมืองมุสลิม

อ่าน วิกฤตบิ๊กชาติอาหรับคว่ำบาตรกาตาร์-โดนัลด์ ทรัมป์ทวิตหนุนปิดล้อม

สำนักข่าว อัลจาซีรา ของกาตาร์ รายงานว่า เมื่อวาน (7 มิ.ย.) รัฐสภาตุรกีอนุมัติให้ส่งกองทัพเข้าไปประจำในกาตาร์ ด้วยเสียงเห็นชอบ 240 เสียง โดยเป็นเสียงสนับสนุนทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคยุติธรรมและการพัฒนาหรือ 'เอเคพี' (AKP) และฝ่ายค้านพรรคขบวนการชาตินิยมหรือ 'เอ็มเอชพี' (MHP) นอกจากการอนุมัติให้ส่งทหารเข้าไปแล้ว รัฐสภายังอนุมัติให้มีการซ้อมรบร่วมกันระหว่างสองรัฐด้วย

ตุรกีเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญกับกาตาร์ ได้สร้างฐานทัพในกาตาร์ไว้แล้วตามข้อตกลงที่ได้เซ็นไว้เมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นฐานทัพของตุรกีแห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง และในปัจจุบันมีทหารตุรกีประจำการอยู่กว่า 200 นาย

อาเหม็ด เดมิรอค เอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศกาตาร์กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในปี 2558 ว่า ที่ฐานทัพแห่งนี้จะมีทหารตุรกีประจำการราว 3,000 นาย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการฝึกซ้อมรบร่วมกัน
นักวิเคราะห์ชี้ ส่งทหารช่วยกาตาร์ไม่ใช่ท้าตีซาอุฯ เพราะยังมีประโยชน์ทาง ศก. การทูต

คาน คาซาโปกลู นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมจากศูนย์ศึกษานโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศ (EDAM) ของตุรกีกล่าวกับอัลจาซีราว่าการส่งทหารเข้าไปในกาตาร์สะท้อนความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคของกาตาร์ที่มีต่อตุรกี “แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้บ่งชี้ถึงมุมมองของตุรกีต่อกาตาร์ ในฐานะเสาหลักของยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เสียไปไม่ได้” “มันยังสะท้อนว่า รัฐบาลอังการา(ตุรกี) จะไม่เปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ในระยะยาวอย่างฮวบฮาบเมื่อเจอความไม่แน่นอนในภูมิภาค”

นักวิเคราะห์คนเดิมระบุว่า ไม่ควรตีความการส่งทหารเข้าไปในกาตาร์เป็นการ “เลือกข้าง” ถึงแม้การส่งทหารเข้าไปจะแสดงถึงการสนับสนุนกาตาร์อย่างชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าตุรกีพร้อมจะมีปัญหากับซาอุดิอาระเบีย

“การลงนามในสนธิสัญญาการทหารไม่ใช่ท่าทีของการต่อต้านซาอุฯ เลย” “ตุรกียังคงยึดหลักนโยบาย ‘ฉันไม่อยากมีปัญหาจากเพื่อนรักทั้งสองฝั่ง’ ”

“ถึงแม้มาตรการนี้จะไม่ใช่ท่าทีของการต่อต้านซาอุฯ แต่ก็เป็นการสนับสนุนกาตาร์แน่นอน รัฐบาลอังการาให้ความสำคัญกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ และแสดงให้เราเห็นแล้วด้วยการตรึงกำลังทหารเอาไว้ (ในกาตาร์) บนวิกฤติการณ์ทางการทูตที่เกิดขึ้น”

อาติลลา เยซิลาดา นักวิเคราะห์ด้านการเมืองระบุว่า ตุรกีไม่ต้องการมีข้อพิพาทกับซาอุดิอาระเบียแน่นอน เพราะตุรกีได้ผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการทูตจากซาอุฯ

ในทางการทูต รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลกรุงริยาดห์มากขึ้นเรื่อยๆ และตุรกีต้องการสร้างช่องทางการพูดคุยกับสหรัฐฯ ผ่านซาอุฯ ซึ่งพ้องกับท่าทีของตุรกีที่ต้องการให้สถานการณ์คลี่คลายบนโต๊ะเจรจาของสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย (GCC) ที่ทั้งกาตาร์และชาติอาหรับบนอ่าวเปอร์เซียเป็นสมาชิก

“ขณะนี้ ตุรกีไม่ต้องการให้มีผู้ชนะเกิดขึ้นในความขัดแย้งที่กำลังฉีกสภาความร่วมมืออ่าวเป็นชิ้นๆ...ตุรกีต้องการให้ GCC แก้ปัญหาในภูมิภาคอย่างรวดเร็วและแสดงให้โลกและศัตรูร่วมของพวกเขาเห็นว่า GCC เป็นแนวรบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” คาซาโปกลู กล่าว

ในทางเศรษฐกิจ คาซาโปกลูระบุว่า ตุรกีมีเป้าหมายจะขยายส่วนแบ่งในตลาดการค้าอาวุธ และกำลังจะมีการเซ็นสัญญาขายเรือลาดตระเวนของตุรกีให้ซาอุฯ อยู่ในอนาคตอันใกล้ “อังการาเชื่อว่านี่เป็นโอกาสในการเป็นมหาอำนาจโลก และตุรกีก็เห็นซาอุฯ เป็นตลาดที่ยั่งยืนและหิวโหย...ถ้าดีลการค้านี้ออกดอกออกผลก็จะเป็นดีลการส่งออกอาวุธที่มีมูลค่าสูงที่สุดของตุรกีเท่าที่มีมา และรัฐบาลอังการาคงไม่อยากจะทำลายโอกาสนี้ไป”

ตุรกีและกาตาร์มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน โดยทั้งคู่อยู่ฝั่งเดียวกันในหลายประเด็นความขัดแย้ง ทั้งสองรัฐให้การสนับสนุนการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในอียิปต์ และประณามการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนและจัดตั้งอับเดล ฟัตตาห์ อัล ซีซี ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ทั้งคู่ยังเห็นตรงกันว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และกลุ่มฮามาส กลุ่มการเมืองและกองกำลังติดอาวุธของปาเลสไตน์ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้าย นอกจากนั้น ทั้งกาตาร์และตุรกียังสนับสนุนกลุ่มกบฏในซีเรียต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลของบาชาร์ อัล อัสซาดอีกด้วย
สถานการณ์ยังระอุ บางรัฐสั่งห้ามประชาชนเห็นใจกาตาร์ ตัดสัมพันธ์เพิ่มอีก 2

สถานการณ์ของความขัดแย้งในภูมิภาคยังคงไม่ดีขึ้น โดยสถานการณ์ล่าสุดสำนักข่าว กัลฟ์ นิวส์ของ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รายงานว่า บาห์เรนมีมาตรการห้ามประชาชนแสดงความเห็นใจหรือสนับสนุนนโยบายของกาตาร์ ในขณะที่ชาดและเซเนกัลประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์อีกประเทศ

เจ้าผู้ครองนครคูเวต ชีค ซาบาห์ อัล อาหมัด อัล ซาบาห์ ได้เดินทางไปพูดคุยกับเจ้าผู้ครองนครของยูเออี ก่อนที่จะมาพูดคุยกับเจ้าผู้ครองนครของกาตาร์ โดยคูเวตมีความประสงค์จะเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาความตึงเครียด

อย่างไรก็ตาม บริษัทเอ็กซ์ซอนโมบิลออกมาประกาศว่า การผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติจากกาตาร์ยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ และรัฐบาลปากีสถานยังยืนยันว่าจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากกาตาร์ตามสัญญามูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เซ็นไปเมื่อปีที่แล้ว โดยกาตาร์เป็นผู้เล่นที่สำคัญของตะวันออกกลางในฐานะผู้ส่งออกก๊าซเหลวที่ใหญ่ที่สุด เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2565

แปลและเรียบเรียงจาก

Aljazeera, Qatar diplomatic crisis: All the latest updates, 8 Jun. 2017

Aljazeera, Turkish parliament approves troop deployment to Qatar, 8 Jun. 2017

Aljazeera, Analysis: Why is Turkey deploying troops to Qatar?, 8 Jun. 2017

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.