Posted: 15 Jun 2017 06:44 AM PDT    (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ศาลภูเขียวเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีรุกป่า ที่เด่น คำแหล้ และภรรยาตกเป็นจำเลย เหตุรอผลพิสูจน์หัวกะโหลกใช่ของเด่น คำแหล้ หรือไม่ พร้อมส่งหนังสือไปกำชับตำรวจให้เร่งติดตามผลการตรวจสอบพิสูจน์ และนำมารายงานต่อศาล ก่อนวันนัด

15 มิ.ย. 2560 ถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่า วันนี้ที่ศาลจังหวัดภูเขียวได้มีการนัดอ่านคำพิพากษาคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ซึ่งมีเด่น คำแหล้ เป็นจำเลยที่ 1 และสุภาพ คำแหล้ ผู้เป็นภรรยา เป็นจำเลยที่ 4 โดยศาลได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 27 ก.ค.2560

ถนอมศักดิ์ ระบุว่า เหตุผลที่ศาลเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาเนื่องจาก พยานหลักฐานที่ได้พบเจอล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2560 ทั้ง 14 รายการ จากการตามหาร่องรอยการหาไปของเด่น คำแหล้ ซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2559 โดยพยานหลักฐานที่ 1-13 สุภาพ คำแหล้ ภรรยาของเด่น ยืนยันว่า เป็นสัมภาระของสามี เช่น กางเกง รองเท้า ถุงปุ๋ยสะพาย ขวดน้ำ เป็นต้น แต่หลักฐานลำดับที่ 14 ที่เป็นหัวกะโหลกมนุษย์ ยังรอทางเอกสารจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งยังไม่มีมาแสดงผลการตรวจพิสูจน์ทางดีเอ็นเอ ว่า หัวกะโหลกมนุษย์เป็นนายเด่น คำแหล้ ที่สูญหายไปหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการยื่นคำร้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป

ทั้งนี้ศาลแจ้งว่า จะมีหนังสือเพื่อกำชับไปทางพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้วยยาง และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้เร่งติดตามผลการตรวจสอบพิสูจน์ และนำมารายงานต่อศาล ก่อนวันนัด

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัวชาวบ้านรวม 10 คน และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม สำหรับคดีของเด่น กับพวกรวม 5 คน ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2556 โดยยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 คือนายเด่น และนางสุภาพ จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี ส่วนอีก 3 ราย ศาลยกฟ้อง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน และศาลไม่อนุญาตฎีกา จำเลยทั้งสองต้องถูกคุมขัง

ต่อมาในวันที่ 9 พ.ค. 2556 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน( คปอ.)และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-move ได้ชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานภาครัฐ และร่วมเดินรณรงค์ไปยังศาลฎีกา พร้อมกับยื่นหนังสือขอให้ศาลฎีกาปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ประกอบกับช่วงดังกล่าวทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งศาลอนุญาตในเวลาต่อมา และสามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ในที่สุด ผลการยื่นประกันขอให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ปรากฏว่าศาลอนุมัติให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,0000 บาท เป็นรายละ 300,000 บาท


ข้อเท็จจริงพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว

ทั้งนี้ข้อเท็จจริงเกิดขึ้น ปี 2528 รัฐเข้ามาดำเนินโครงการ “หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์” ขับไล่ชาวบ้านโคกยาวอพยพออกจากที่ทำกิน และอ้างว่าจะจัดสรรที่ดินรองรับ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำยูคาลิปตัส เข้ามาปลูก ส่วนพื้นที่รองรับเป็นที่ดินที่มีเจ้าของถือครองทำประโยชน์อยู่แล้ว ทำให้เข้าไปทำกินได้ และเข้าที่เดิมก็ไม่ได้ เด่น คำแหล้ เป็นแกนนำร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินมานับแต่นั้น กระทั่งกระบวนการแก้ไขปัญหาเข้าสู่ปี 2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่โดยมีธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโสอำเภอคอนสาร เป็นประธาน ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ มีมติว่าสวนป่าโคกยาวได้สร้างผลกระทบขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเป็นการต่อไป

ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่า(คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ลงตรวจสอบพื้นที่และได้รายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้เดือดร้อน และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ ให้ผู้เดือดร้อน สามารถทำกินในระหว่างร่องแถวของสวนป่าไปพลางก่อน

นอกจากนี้ พื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ผ่านความเห็นชอบดำเนินโครงการพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน บนพื้นที่กว่า 830 ไร่ ตามมติ ครม.ปี 2553 และให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในสวนป่าได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง หรือดำเนินคดีใดใดในช่วงที่กำลังมีการแก้ไขปัญหา แต่แนวทางปฎิบัติกลับสวนทางกัน และเกิดคดีความ

ความพยายามขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ได้เกิดขึ้นอีกในวันที่ 15 ส.ค.2557 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.64/57 ให้ชุมชนโคกยาวอพยพออกจากพื้นที่ และวันที่ 6 ก.พ. 2558 เจ้าหน้าทหารเข้ามาปิดประกาศอีกรอบ หลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เด่น เป็นแกนนำชุมชนเพื่อยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และเข้าร่วมเจรจากับหน่วยงานภาครัฐในระดับนโยบาย มีมติให้ ชะลอการไล่รื้อออกไปก่อนจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.