Posted: 19 Jun 2017 08:48 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 

นัดตรวจพยานหลักฐานคดี 'ส่องโกงราชภักดิ์' ศาลทหารสั่งตัด 4 พยาน ที่เกี่ยวพิสูจน์มีทุจริตในการก่อสร้างหรือไม่ และตัดพยานเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง-ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ 2 ชุดที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบ โดยศาลอ้างว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ดังนั้นตรวจพยานหลักฐานเลื่อนไป 21 ก.ย. นี้


ที่มา : เฟซบุ๊ก Chanoknan Ruamsap

19 มิ.ย. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (19มิ.ย. 60) ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำสั่ง คดีหมายเลขดำที่ 175/2559 ของ กรกช แสงเย็นพันธ์ และคดีหมายเลขดำที่256/2559 ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งรวมคดีทั้งสองกับคดีหมายเลขดำที่ 97/2559 สิรวิชญ์ เสริวัฒน์ และพวกรวม 6 คน โดยให้เรียก กรกช แสงเย็นพันธ์ เป็นจำเลยที่ 7 และชนกนันท์ รวมทรัพทร์ เป็นจำเลยที่ 8 ในกรณีที่จำเลยทั้งหมดถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนชุมนุม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากการร่วมกันทำกิจกรรม “นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อ 7 ธ.ค.2558

ก่อนเริ่มการตรวจพยานหลักฐานอัยการทหารซึ่งเป็นโจทก์แถลงศาลว่าทั้งสามคดีเป็นคดีที่มีบัญชีพยานชุดเดียวกันจึงให้จำเลยตรวจพยานหลักฐานเพียงชุดเดียว ทนายจำเลยที่ 1-5,7-8 แถลงว่าพยานหลักฐานที่จะส่งตรวจเป็นพยานหลักฐานที่มีการระบุพยานเหมือนกันจึงส่งตรวจเพียงชุดเดียว

ทั้งนี้ศาลได้แจ้งแก่จำเลยว่ามีคำสั่งตัดพยานบุคคลในลำดับที่ 9-12 ซึ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และพยานซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้ง 2 ชุด และศาลยังตัดพยานเอกสารในลำดับที่ 15-19 ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารสรุปการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพบก สำเนาเอกสารจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ และสำเนาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของคณะกรรมการตรวจสอบทั้ง 2 ชุด เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานบุคคลและเอกสารในลำดับดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี ประเด็นในคดีนี้อยู่ที่ว่าจำเลยชุมนุมมั่วสุม ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่3/2558 ไม่ได้มีประเด็นเรื่องทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

อานนท์ นำภา ทนายความของจำเลยที่ 1 แถลงว่า พยานดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีโดยตรง การที่ศาลทำการตัดพยานโดยไม่ได้สอบถามทนายจำเลยก่อนว่าพยานแต่ละอันดับนั้นจำเลยจะนำสืบในประเด็นใดนั้น และทำการตัดพยานไปก่อนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลแจ้งว่าหากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลให้จำเลยอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้

ทนายจำเลยทั้งหมดจึงแถลงค้านคำสั่ง พร้อมให้เหตุผลว่าพยานที่จำเลยระบุนั้นเป็นพยานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญในการต่อสู้คดี เพราะจำเลยและทนายความตั้งประเด็นต่อสู่คดีตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนว่าสาเหตุที่เดินทางไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์นั้นมาจากข่าวทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ศาลควรให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ถ้าศาลจะไม่ออกหมายเรียกพยานพยานบุคลดังกล่าวนั้น ให้โจทก์รับข้อเท็จจริงว่ามีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และ พล.เอกไพบูลย์ คุ้มฉายา เคยแถลงต่อนักข่าวว่าโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีการทุจริต ด้านโจทก์แถลงไม่รับข้อเท็จจริงดังกล่าว ทนายความจำเลยยืนยันให้หมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารตามบัญชีระบุพยานที่จำเลยยื่นต่อศาล

ด้านจำเลยที่ 1 แถลงต่อศาลว่าการที่ศาลตัดพยานของจำเลยโดยที่ไม่ถามจำเลยนั้นเป็นการตัดสิทธิการต่อสู้คดีของจำเลย และขอให้ศาลชี้แจงเรื่องที่ตัดพยานของจำเลย ศาลได้ชี้แจงว่าพยานดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีหรือเกี่ยวกับฟ้องของโจทก์

ส่วน อานนท์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ แถลงขอทราบเหตุผลที่ตุลาการพระธรรมนูญ ไม่ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาคดี หรือลงลายมือชื่อในคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยที่ 2 หรือจำเลยอื่น ไม่ทราบว่าใครคือตุลาการพระธรรมนูญที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและเป็นตุลาการพระธรรมนูญจริงหรือไม่ ทางด้านศาลแจ้งว่าถ้าอยากทราบว่ามีตุลาการท่านใดเป็นผู้พิจารณาคดีให้ไปดูที่ตารางนัดหน้าบัลลังค์ และการที่ศาลทหารไม่ได้ระบุชื่อตุลาการนั้นเป็นระเบียบที่ปฏิบัติกันมาอยู่แล้ว นายอานนท์จึงแถลงค้านและไม่ลงชื่อในบันทึกกระบวนพิจารณาคดีของวันนี้

ศาลจึงมีคำสั่งขอรวมการพิจารณาคดีทั้ง 3 คดีก่อน ส่วนการตรวจพยานหลักฐานนั้น ให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในนัดหน้า วันที่ 21 ก.ย. 2560 เพื่อให้โอกาสจำเลยได้นำพยานหลักฐานเข้าต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

คดีนี้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 11 คน แต่มี 1 คนที่ถูกแยกฟ้องคือ ธเนตร อนันตวงษ์ ซึ่งได้รับสารภาพและศาลพิจารณาพิพากษาไปเมื่อ 25 ม.ค.2560 ให้จำคุกจำเลย 6 เดือน โดยมีการเพิ่มโทษตาม ม.92 (กระทำผิดซ้ำภายในห้าปี) อีก 2 เดือน เป็น 8 เดือน จากการที่จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาในคดีชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำให้เสียทรัพย์ แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดเหลือ 4 เดือน

ทั้งนี้ ในคดีนี้จำเลยนอกจาก กรกช ชนกนันท์ และสิรวิชญ์ แล้ว ยังมี อานนท์ นำภา กิตติธัช สุมาลย์นพ วิศรุต อนุกูลการย์ กรกนก คำตา และวิจิตร์ หันหาบุญ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.