บนเส้นทางกฎหมายชุมนุมสาธารณะ: กรณีการชุมนุมยื่นหนังสือค้านแก้กฎหมายบัตรทอง

Posted: 09 Jun 2017 09:12 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


การชุมนุมสาธารณะ ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในเรื่องสาธารณะ สามารถแสดงออกถึงความเดือดร้อนของตนหรือกลุ่มตนต่อผู้มีอำนาจ หรือต้องการแสดงออกถึงเจตจำนงค์บางประการได้

การชุมนุมสาธารณะ เป็นเครื่องมือในการต่อรองหรือโต้แย้งกับอำนาจรัฐหรือทุนที่ไม่เป็นธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญของชาวบ้านเพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนบางอย่าง ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เราจะเห็นการชุมนุมสาธารณะเกิดขึ้นเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อเป้าหมายต่อต้านรัฐบาล หรือการชุมนุมย่อยๆของกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ

แม้โดยหลักการ การชุมนุมสาธารณะโดยสงบจะถูกรับรองให้เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง แต่ในสังคมไทย หลายคนก็ไม่ได้พึงใจกับการชุมนุมสาธารณะมากนัก เพราะมันดูมีความขัดแย้งวุ่นวาย ไทยนี้รักสงบ จะมาชุมนุมกันให้วุ่นวายทำไม คนที่ไม่ชอบให้มีการชุมนุมก็มักจะลดทอนความชอบธรรมของการชุมนุมด้วยการกล่าวหาว่า เป็นม็อบรับจ้างบ้าง ซึ่งผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าม็อบแบบนั้นมีจริงสักเท่าไหร่กัน เพราะเท่าที่เข้าร่วมสักเกตุการณ์การชุมนุมที่ผ่านมาก็ไม่เห็นว่ามีใครถูกจ้างมาชุมนุม แต่ก็นั้นแหละครับ ใครอยากรู้ว่ากลุ่มต่างๆที่มาชุมนุมกันนั้น มีการจ้างมาหรือป่าว ก็น่าจะเข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุมดูสักครั้ง

เท่าที่ผู้เขียนติดตามการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ พบว่า การชุมนุมมันมีสาเหตุ ไม่ได้เกิดจากการนึกอยากสนุก หรือการอยากเปลี่ยนบรรยากาศมากินนอนข้างถนน ตากแดดตากฝน การชุมนุมมันมีที่มาของมัน ซึ่งส่วนใหญ่เหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการชุมนุมก็มาจากรัฐเป็นผู้ก่อปัญหาเอง แม้แต่การชุมนุมทางการเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาลหลายครั้งหลายหนที่ผ่านมา เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลเองก็ทำผิดพลาด

ดังนั้น หากรัฐจริงใจ ฟังเสียงของประชาชน เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีการบริหารอย่างโปร่งใส และเคารพหลักนิติธรรม การชุมนุมสาธารณะก็คงลดลงหรือหมดไปเอง ไม่ต้องใช้อำนาจหรือกฎหมายใดๆมาจัดการด้วยซ้ำไป


ทำไมการชุมนุมสาธารณะถึงจำเป็น

การชุมนุมถือเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้ด้อยอำนาจเพื่อใช้ต่อรองหรือเพื่อกดดันเรียกร้องให้รัฐรับผิดชอบต่อความผิดพลาดหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ

อาจจะมีบางคนบอกว่า ทำไมไม่ใช้กลไกหรือช่องทางที่รัฐจัดไว้ให้ล่ะ?


ประสบการณ์คงบอกภาคประชาชนอยู่แล้วว่า กลไกร้องทุกข์ร้องเรียนตามระบบราชการปัจจุบันทำงานยังไง และมีประสิทธิภาพขนาดไหน บางกลไกก็ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่ามี หรือเพื่อมารับหน้าแล้วขอไปที หรือเพื่อยื้อเวลา ถ้าเป็นปัญหาที่ไม่ใหญ่มาก ก็อาจจะมีการแก้ไขปัญหาได้ แต่ถ้าเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย กลไกเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาได้

แทบทุกกรณี ก่อนที่ชาวบ้านจะมาชุมนุมกัน พวกเขาต่างใช้กลไกหรือช่องทางที่รัฐจัดให้แทบทั้งหมดแล้ว แต่ปัญหาที่พวกเขาร้องเรียนร้องทุกข์ไป มันไม่นำไปสู่การแก้ไข การชุมนุมจึงถูกเลือกมาใช้ในการผลักดันการแก้ไขปัญหา

ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการชุมนุมจะช่วยแก้ไขปัญหาได้เลยทันที เพราะที่ผ่านมาก็เห็นอยู่ว่า หลายประเด็นปัญหามีการชุมนุมแล้วชุมนุมอีก ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง แต่การชุมนุมมันก็ช่วยให้เกิดการขยับได้บ้าง และที่สำคัญมันช่วยรณรงค์และสร้างการตระหนักรู้สาธารณะเพื่อให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็นปัญหานั้นๆได้ด้วย

การใช้เสรีภาพในการชุมนุมในปัจจุบัน

การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในยุคสมัยที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร เป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่าในยุครัฐบาลปกติ เพราะยุคสมัยที่ทหารและรัฐราชการเป็นใหญ่ พวกเขาคุ้นชินแต่เรื่องการใช้อำนาจ ไม่คุ้นชินกับการใช้เหตุผลในการแลกเปลี่ยนถกเถียง ความสงบราบคาบเป็นสิ่งที่รัฐแบบนี้ปรารถนา การเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสียงจึงเป็นเรื่องแปลกแยกและวุ่นวาย เป็นยุคสมัยที่ความคิด ความเดือนร้อนของประชาชนไม่สามารถแสดงออกมาได้อย่างเปิดเผย เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์รัฐราชการเสียหาย ต้องให้เอาเรื่องความเดือดร้อนไปยัดไว้ที่ศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้รับแก้ไขปัญหาเมื่อไหร่

หลังคณะรัฐประหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และสถาปนาพวกพ้องตัวเองขึ้นเป็นรัฐฐาธิปัตในนามของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

การปกครองประเทศภายใต้ คสช. ได้มีการใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง ทั้งจับกุม ควบคุมตัวบุคคล ตลอดจนมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่อออกมาเคลื่อนไหว โดยอ้าง “ความสงบเรียบร้อย” “การคือความสุข” “การปฏิรูป” โดยมีกระบวนการยุติธรรมรับสะนองนโยบายเหล่านี้อย่างดียิ่ง

คสช. พยายามควบคุมประชาชนผ่านการใช้ทั้งอำนาจแข็งกร้าวผ่านกองกำลัง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และอำนาจอันอ่อนนุ่ม ผ่านการสร้างวาทกรรมต่างๆและการสร้างภาพลักษณ์ของผู้เสียสละและหวังดีต่อประเทศ

พวกเขาควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนผ่านอำนาจอันกว้างขวางของกฎหมายที่พวกเขาสถาปนาขึ้น โดยเฉพาะอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ คำสั่งนี้ออกมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 และถูกนำมาใช้จัดการการเคลื่อนไหวของประชาชนแทบทุกเรื่องอย่างไร้ขอบเขต เมื่อมีการเคลื่อนไหวใดที่รัฐไม่สบายใจและอยากให้สลายไปโดยเร็ว พวกเขาก็จะอ้างคำสั่งนี้เข้ามาจับกุมควบคุมตัวบุคคลไปไว้ในค่ายทหารแล้วปรับทัศนคติ และ/หรือใช้คำสั่งนี้ตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนแก่ผู้ออกมาเคลื่อนไหวด้วย และคำสั่งนี้มันยังถูกใช้ในฐานะเครื่องมือในการข่มขู่ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้วย อาทิ การชุมนุมของเครือข่ายสลัม 4 ภาค วันที่ 8 มีนาคม 2560 เพื่อทำการติดตามการแก้ปัญหาชุมชนที่อยู่ในที่ดินของกระทรวงคมนาคม หรือการชุมนุมของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ก็มีการยกคำสั่งที่ 3/2558 นี้ขึ้นมาข่มขู่ด้วย

กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ถูกนำมาจัดการกับการชุมนุมสาธารณะก็คือ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐพยายามผลักดันมาอย่างยาวนาน แต่สามารถผลักดันออกได้สำเร็จในยุคลรัฐบาลทหารนี้ โดยสภานิติบัญญัติที่รัฐบาลทหารสถาปนาขึ้น

ภายหลังพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ประกาศใช้ มีประชาชนที่มาเคลื่อนไหวถูกดำเนินคดีไปแล้วหลายกรณี โดเฉพาะข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม เช่น การยื่นหนังสือของเครือข่ายประมงพื้นบ้าน การยื่นเฉยๆ ชาวบ้านพิจิตร 27 คนขวางเหมืองทองคำขนแร่ และมีบางกรณีถูกห้ามการชุมนุม อาทิ การห้ามเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนชุมนุมคัดค้านคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่3/2559 และ ฉบับที่ 4/2559 ที่เกาะกลางถนนหน้าตึกยูเอน หรือมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆให้ปฏิบัติตาม เช่น การให้ระวังในเรื่องการแสดงออกและการชูป้าย การห้ามต่อต้าน คสช. การอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เป็นต้น

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ การเคลื่อนไหวเพื่อกฎหมายสวัสดิการของประชาชน

วันที่ 6 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวสารอยู่บ้างก็คงจะพอเห็นการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มหนึ่ง ในนามกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และองค์กรเครือข่ายที่ทำงานในประเด็นต่างๆ จากทั่วประเทศ พวกเขานัดชุมนุมกันเพื่อยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ให้หยุดกระบวนการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งก็คือกฎหมายเกี่ยวกับบัตรทอง หรือบัตร 30 บาท ที่หลายคนเข้าใจนั้นเอง

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ติดตามการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างใกล้ชิด พวกเขาพบปัญหาของกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ตั้งแต่องค์ประกอบของคณะทำงานแก้ไขกฎหมายที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม โน้มเอียงไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข คณะทำงาน 26 คน มีสัดส่วนประชาชนเพียง 2 คนเท่านั้น ส่วนเนื้อหาของการแก้ไขก็พบว่ามีหลายประเด็นที่อาจจะทำลายเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ต่อผู้จัดบริการ (อ่านเพิ่มเติม) และที่สำคัญกระบวนการรับฟังความเห็นทำอย่างไม่ทั่วถึงและไม่กว้างขวางเพียงพอ การจัดเวทีรับฟังความเห็นใน 4 จังหวัดคือเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และกรุงเทพ โดยผู้สนใจเข้าร่วมจะต้องลงทะเบียนออนไลน์ ซึ่งมีคนที่สามารถเข้าถึงได้เพียงจำนวนน้อย ไม่ได้เอื้อให้ประชาชนไปร่วมได้ ไม่มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนประชาชนให้เข้าร่วมเวที ปล่อยให้ประชาชนดิ้นรนกันเอง ในขณะผู้เกี่ยวข้องเช่นผู้ให้บริการที่เป็นข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขกลับสามารถมาร่วมได้โดยสามารถเบิกจ่ายจากต้นสังกัด

ด้วยเหตุดังกล่าว พวกเขาจึงออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลังเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติกระบวนการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และให้มีการเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขใหม่ โดยต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้กฎหมายให้มีความสมดุล และต้องมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

แค่เริ่มต้นชุมนุมก็ยากแล้ว

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนได้รับการคุ้มครองต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อการมีส่วนร่วมในการบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขากำลังจะพิสูจน์ให้เห็นก็คือเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนในการต่อรองกับอำนาจรัฐจะได้รับการยอมรับหรือไม่เพียงใด

ก่อนการเคลื่อนไหววันที่ 6 มิถุนายน พวกเขาได้ดำเนินการแจ้งการชุมนุมตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยต้องระบุวัตถุประสงค์ วัน ระยะเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะ[1] ซึ่งในทางปฏิบัติจะมีแบบฟอร์มเป็นหนังสือของเจ้าหน้าที่ให้กรอก

ผู้จัดการชุมนุมได้มีการแจ้งการชุมนุมเป็นหนังสือตามแบบฟอร์มของตำรวจส่งถึงหัวหน้าสถานีตำรวจนครบาดุสิต (สน.ดุสิต) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ที่จะจัดการชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 2 มินุนายน 2560

เนื้อหาในหนังสือแจ้งการชุมนุมสรุปว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะจัดชุมนุมในวันที่ 6 มิถุนายน 2560 เวลา 08.00 น. ถึงเวลา 15.00 น. บริเวณเกาะกลางถนนหน้ากระทรวงศึกษาธิการค่อนไปทางน้ำพุ ใกล้คลองผดุงกรุงเกษม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยื่นจดหมายคัดค้านการการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 1,000 คน โดยใช้ยานพาหนะประเภทรถปิคอัพ จำนวน 1 คัน เครื่องเสียงขนาดกำลังไฟ 1,000 วัตต์ ลำโพงขนาด 600 วัตต์ 4 ตัว และป้ายผ้ารณรงค์, ป้าวไวนิลรณรงค์, ธงกระดาษรณรงค์

สน.ดุสิต ได้รับหนังสือแจ้งการชุมนุมไว้แล้วในวันที่ 2 มิถุนายน 2560 หลังจากได้รับแจ้ง กฎหมายกำหนดให้ผู้รับแจ้งส่งสรุปสาระสำคัญในการชุมนุมสาธารณะให้ผู้แจ้งทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง[2] แต่ผู้แจ้งกลับได้รับหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เวลาประมาณ 19.00 น. ซึ่งเกินกว่า 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้ง

สำหรับสิ่งที่ สน.ดุสิต ส่งมานั้น นอกจากจะมีสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะแล้ว ยังมีการส่งเอกสารมาด้วยอีก 4 ฉบับคือ

1) หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมสาธารณะ

2) การจัดการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 7, 8, 15, 16

3) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 และ

4) มีคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 11 วรรคสอง

ในหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะที่ สน.ดุสิตส่งมา ระบุว่าการชุมนุมสาธารณะที่ผู้แจ้งแจ้งมานั้น ขัดต่อมาตรา 7 และ 8 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ซึ่งจะทำให้การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุเหตุผลต่างๆนาๆดังต่อไปนี้

การชุมนุมสาธารณะบริเวณเกาะกลางถนนหน้ากระทรวงศึกษาธิการค่อนไปทางน้ำพุ ใกล้คลองผดุงกรุงเกษม อยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมได้ ตามมาตรา 7 วรรคสี่ ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

การชุมนุมดังกล่าวมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก อาจเป็นการกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ของทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้สถานที่ดังกล่าว ตามมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น สน.ดุสิต จึงอ้างอำนาจตามมาตรา 11 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 สั่งให้ผู้แจ้งการชุมนุมแก้ไขการชุมนุมให้ถูกต้อง ดังนี้


ให้ไปจัดกิจกรรมชุมนุมสาธารณะที่บริเวณสนามม้านางเลิ้งซึ่งเป็นสถานที่ที่มีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอที่จะรองรับการรวมตัวของคนจำนวนมากได้


ให้จัดตัวแทนเพื่อยื่นจดหมายคัดค้านการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.)


ขอให้งดใช้เครื่องขยายเสียง เนื่องจากจะเป็นการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่ หรือการให้บริการประชาชนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)


ควรงดการจัดกิจกรรมที่อาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 ห้ามมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งการจัดการชุมนุมดังกล่าวจะเป็นการชุมนุมทางการเมือง หรือขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 หรือไม่ จะได้ประสานหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เพื่อพิจารณาแล้วแจ้งผลให้ทราบภายหลัง


หลังได้รับหนังสือและคำสั่งดังกล่าวแล้ว วันที่ 5 มิถุนายน 2560 ก่อนการชุมนุมไม่ถึง 24 ชั่วโมง กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้มีการหารือร่วมกันระหว่างเครือข่ายต่างๆที่มาร่วมเคลื่อนไหว และเห็นตรงกันว่า หนังสือและคำสั่งของ สน.ดุสิต ที่จะให้ย้ายสถานที่ชุมนุมไปที่สนามม้านางเลิ้งนั้น ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการชุมนุมครั้งนี้ แต่เพื่อลดข้อขัดแย้ง ทางกลุ่มก็เลยขอย้ายไปใช้สถานที่แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่แจ้งไว้เดิมนัก นั้นคือ หน้าตึกสหประชาชาติ หรือตึกยูเอน โดยผู้แจ้งการชุมนุมได้ขอแจ้งเปลี่ยนสถานที่การชุมนุมต่อ สน.ดุสิต ไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ตอนเย็น

พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านคงคิดว่าทำไมผู้ชุมนุมดื้อดึง แต่ทุกการดื้อดึงย่อมมีเหตุผล สำหรับเหตุผลของการดื้อดึงต่อรัฐนั้น มีเหตุผลดังนี้

สน. ดุสิต ส่งหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะกลับยังผู้แจ้งล้าช้าเกินกว่า 24 ชั่วโมงตามที่พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 11 กำหนดไว้ ผู้แจ้งการชุมนุมไปตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2560 โดยผู้รับแจ้งได้รับไว้แล้วในวันดังกล่าว แต่กลับส่งหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะมาให้ผู้แจ้งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2560 เวลา 00 น. ดังนั้น หนังสือและคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

ตามที่ สน. ดุสิต ระบุว่าสถานที่ที่ผู้แจ้งการชุมนุมแจ้งไปนั้นเป็นสถานที่ห้ามการชุมนุมเนื่องจากอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรจากทำเนียบรัฐบาล ซึ่งขัดต่อมาตรา 7 วรรคสี่ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นั้น คำสั่งห้ามดังกล่าวไม่มีความชัดเจนและไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เพราะการจะมีคำสั่งห้ามกรณีนี้ได้ จะต้องมีประกาศห้ามโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และต้องเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยของประชาชนเท่านั้น ซึ่งในหนังสือของสถานีตำรวจดุสิตนั้น ไม่ปรากฏว่ามีประกาศดังกล่าวแต่อย่างใด

การอ้างว่าการชุมนุมดังกล่าวมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก อาจเป็นการกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ของทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้สถานที่ดังกล่าว ตามมาตรา 8 นั้น ผู้แจ้งการชุมนุมเห็นว่า ในการแจ้งการชุมนุมก็ระบุชัดเจนว่าจะใช้พื้นที่เกาะกลางถนน และผู้จัดการชุมนุมก็มีการเตรียมการดูการชุมนุมอย่างดีเพื่อไม่ให้ไปกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการ ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่สามารถดูแลจัดการได้โดยไม่ต้องย้ายที่ชุมนุม

การขอให้งดใช้เครื่องขยายเสียงเนื่องจากจะเป็นการรบกวนการปฏิบัติหน้าที่ หรือการให้บริการประชาชนของ ก.พ.ร. ซึ่งการที่มีคนมาร่วมจำนวนมากการใช้เครื่องเสียงย่อมเป็นสิ่งจำเป็นในการชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้มาร่วมชุมนุมและคนอื่นๆที่ผ่านไปมาเพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ของการชุมนุม อย่างไรก็ดี หากเจ้าหน้าที่เกรงจะรบกวน ก็สามารถพูดคุยเจรราเรื่องการลดระดับเสียงลงได้ ซึ่งตามกฎหมายก็กำหนดระดับเสียงไว้แล้วว่าอยู่ที่เท่าใด ไม่ใช่สั่งให้งดใช้เครื่องเสียงเสียเลย

ข้ออ้างเรื่องการขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนนั้น เห็นว่าคำสั่งที่ 3/2558 ไม่ควรถูกนำมาใช่อย่างพร่ำเพรื่อ เพราะในสังคมประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมในทางสังคมการเมืองถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของพลเมือง เพื่อร่วมกำหนด ติดตามและตรวจสอบการดำเนินนโยบายสาธารณะและกฎหมายให้เป็นไปอย่างรอบรอบ ดังนั้น การใช้คำสั่งที่ 3/2558 มาปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะจึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง

มีข้อสังเกตว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขทำนองเช่นนี้ได้ แต่ที่ผ่านมามีการอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มากำหนดเงื่อนไขของการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนอย่างน้อย 2 กรณี คือ การห้ามเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนชุมนุมคัดค้านคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่3/2559 และ ฉบับที่ 4/2559 และการชุมนุมของเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อทำการติดตามการแก้ปัญหาชุมชนที่อยู่ในที่ดินของกระทรวงคมนาคม


การที่มีคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุมโดยระบุให้ไปใช้สนามม้านางเลิ้ง ถือเป็นคำสั่งที่ออกโดยไม่มีอำนาจตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพราะตามมาตรา 11 กำหนดเพียงว่า “ในกรณีที่ผู้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับแจ้งใดอาจขัดต่อมาตรา 7 หรือมาตรา 8 ให้ผู้รับแจ้งมีคำสั่งให้ผู้แจ้งแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ไม่น่าจะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการไปกำหนดสถานที่ชุมนุมให้แก่ผู้ชุมนุมใหม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ย่อมเป็นการลดทอดหลักการสำคัญของการชุมนุมสาธารณะที่ถือเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับอำนาจรัฐและการสื่อสารสาธารณะลงด้วย

เจตนารมณ์หลักของการรวมตัวยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพครั้งนี้ นอกจากทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องการจะยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อรัฐบาลและผู้มีอำนาจแล้ว ทางกลุ่มฯต้องการจะสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมและไม่ถูกต้องของการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ซึ่งการสั่งให้แก้ไขโดยให้ไปใช้สนามม้านางเลิ้ง ซึ่งอยู่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลพอประมาณและเป็นสถานที่ปิดนั้น ย่อมไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการจัดการชุมนุมสาธารณะในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี แม้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของ สน. ดุสิต แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่ง พวกเขาจึงได้เปลี่ยนแปลงสถานที่ในการชุมนุม ไปใช้เกาะกลางถนนบริเวณหน้าตึกสหประชาชาติ (ตึกยูเอ็น) แทน เพราะทางกลุ่มเห็นว่ามีความเหมาะสมในการใช้เป็นสถานที่รวมตัวเพื่อยื่นหนังสือมากกว่าที่สนามม้านางเลิ้ง

ยืนยันว่าแจ้งการชุมนุมโดยถูกต้องแล้ว ไม่ขอผ่อนผัน

หลังจากมีการตกลงภายในเครือข่ายเรื่องการเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ประสงค์จัดการชุมนุมก็ได้แจ้งการชุมนุมไปยัง สน.นางเลิ้งในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ใหม่ทราบเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ซึ่ง สน. นางเลิ้ง ได้มีหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะ กลับมาในวันเดียวกันนั้น ระบุให้ผู้แจ้งดำเนินการแจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาต่อผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เพราะเห็นว่าเป็นการแจ้งการชุมนุมเกินกำหนดระยะเวลา 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มการชุมนุม

ทางกลุ่มผู้ชุมนุม ยืนยันว่ามีการแจ้งการชุมนุมโดยถูกต้องแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐกำหนดเงื่อนไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วย ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนสถานที่ชุมนุม ดังนั้น ทางฝ่ายผู้ชุมนุมจึงถือว่าการแจ้งการชุมนุมต่อ สน. นางเลิ้ง ไม่ใช่การแจ้งการชุมนุมใหม่ แต่เป็นการแจ้งเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งของการแจ้งการชุมนุมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของ สน. ทั้งสองควรจะประสานงานกันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาชุมนุมและประชานอื่นที่ใช้เส้นทางดังกล่าว มิใช่มาสร้างภาระให้กับประชาชน

วันชุมนุม เจ้าหน้าที่แวะเวียนมาขอพบแกนนำ กดดันให้ไปชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้ง

ชเช้าวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ณ เกาะกลางถนนหน้าตึกสหประชาชาติ ประชาชนกลุ่มต่างๆได้ทยอยมาร่วมชุมนุมกันตั้งแต่เช้า ในช่วงเวลา 08.00 น. ตัวแทนกลุ่มต่างๆก็แวะเวียนกันปราศรัยเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันสุขภาพ

ประมาณ 08.30 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน. นางเลิ้ง นำหนังสือสรุปสาระสำคัญของการชุมนุมสาธารณะ มาส่งให้แก่ผู้แจ้งการชุมนุมอีกครั้ง เพื่อให้ผู้แจ้งการชุมนุมไปขอผ่อนผันการชุมนุมที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 แต่ผู้ชุมนุมได้ปรึกษากันแล้ว ยืนยันที่จะไม่ผ่อนผัน เพราะได้แจ้งการชุมนุมถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

หลังจากนั้น มีผู้กำกับการ สน. นางเลิ้ง มาพูดคุยกับผู้นำการชุมนุม ท่าทีของตำรวจมีลักษณะแข็งกร้าว มีการขู่เรื่องการทำผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พร้อมทั้งพยายามกดดันให้ไปชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้ง ผู้นำการชุมนุมยืนยันที่จะไม่ไป แต่รับปากว่าจะยุติการชุมนุมให้เร็วที่สุด ตำรวจพยายามมากดดันผู้นำการชุมนุมอยู่เป็นระยะๆ

เวลาประมาณ 09.00 น. เริ่มมีตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และนายทหารเข้ามากดดันผู้นำการชุมนุมมากขึ้น มีการขู่ให้ผู้ชุมนุมไปที่สนามม้านางเลิ้ง และให้ยุติการชุมนุม อ้างว่าผิดกฎหมายชุมนุมสาธารณะ โดยให้แกนนำจัดตัวแทนไปยื่นหนังสือที่สำนักงาน ก.พ.ร. ภายใน 9.10 น. และให้ผู้ชุมนุมส่วนที่เหลือไปรอในวัดมกุฏ พร้อมทั้งให้ยุติการใช้เครื่องเสียง อย่างไรก็ดี แกนนำได้ต่อรองให้ผู้ชุมนุมได้นั่งรออยู่ที่เดิมจนกว่าตัวแทนที่ไปยื่นหนังสือจะกลับมาถึง เพื่อรับรองว่าตัวแทนกลับมาถึงอย่างปลอดภัย แล้วถึงจะสลายการชุมนุม ส่วนเครื่องเสียง แกนนำขอใช้ในการแถลงข่าวก่อน

ประมาณ 09.10 น. ตำรวจนำรถตู้มารับตัวแทนผู้ชุมนุมไปยื่นหนังสือที่ ก.พ.ร. ระหว่างนั้น แกนนำผู้ชุมนุมที่เหลืออยู่หน้าตึกสหประชาชาติก็ได้ร่วมกันแถลงข่าว พอแถลงเสร็จก็นั่งอย่างสงบ มีการงดการใช้เครื่องเสียง เวลา 9.58 น. ตัวแทนที่ไปยื่นหนังสือกลับมาบริเวณเกาะกลางถนน หลังจากยื่นหนังสือเสร็จ ตัวแทนที่ไปยื่นหนังสือได้มาชี้แจงต่อผู้ชุมนุม หลังจากนั้น ผู้ชุมนุมก็สลายตัวไปในช่วงประมาณ 10.00 น.

ตำรวจ/ทหารให้แกนนำไปพบเพื่อติเตียน


หลังจากที่การชุมนุมเลิกไป ตำรวจขอให้แกนนำผู้ชุมนุมไปพบที่ สน. นางเลิ้ง ภายในห้องประชุม มีรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 มีผู้กำกับการ สน. นางเลิ้ง และมีนายทหารอีกหนึ่งนายนั่งอยู่หัวโต๊ะ และมีแกนนำและผู้ชุมนุมบางส่วนนั่งเรียงรายในห้องประชุม

รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ที่รับผิดชอบพื้นที่ เริ่มบอกกับแกนนำผู้ชุมนุมว่า การกระทำวันนี้ของพวกเขาผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ แต่จะหยวนให้ไม่ดำเนินคดี ประเด็นสำคัญที่พอจับใจความได้เรื่องการผิดต่อกฎหมายชุมนุมก็คือ พื้นที่ที่ใช้ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุม แต่ประกาศเป็นทางการไม่ได้

“….พื้นที่ตั้งแต่จากลานพระบรมรูปไปรัศมี 1 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ควบคุม แต่เราไม่สามารถประกาศเป็นทางการได้ แต่มีการประสานภายในว่าพื้นที่บริเวณนี้ควรงด ในหนังสือของ สน. ดุสิต ก็แจ้งอยู่แล้วว่าให้ไปรวมตัวกันที่สนามม้านางเลิ้ง ดังนั้นมาวันนี้คือมันผิดเงื่อนไขแล้วถ้าจะเอาพรบ. ชุมนุมมาจับคือผิดทันทีเลย แต่พรบ.ชุมนุมเจตนาเพื่อกำกับดูแลไม่ได้จะต้องเอาเป็นเอาตาย เพราะฉะนั้นเราจะใช้การเจรจาเป็นหลัก ซึ่งก็ถือว่าโอเค ที่ว่าได้ยุติการชุมนุมในเวลาที่ตกลงกันไว้ จริงๆเรากำหนด 9.30 น. แต่ยุติ 10.00 น. ก็ไม่น่าเกลียด จริงๆแล้วต้องดำเนินคดีเลย แต่ก็ได้พูดคุยเจรจาและเรายังต้องอยู่ด้วยกันอีกนาน มีอีกหลายงานที่ต้องเจอกัน เพราะฉะนั้นจึงใช้การเจรจา อะไรที่จะหยวนได้ก็หยวน อะไรที่ยอมได้ก็ยอม แต่ถ้าอันไหนที่ไม่ได้คือไม่ได้ วันนี้ถ้าเกิดยืดเยื้ออาจต้องมีการดำเนินคดี” รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ท่านหนึ่งกล่าว

ต่อมานายทหารท่านหนึ่งผู้มีท่าทีขึงขังอยู่ตลอดเวลาก็กล่าวเสริมถึงพื้นที่ต้องห้ามดังกล่าว

“ในฐานะที่เป็นฝ่ายทหาร บอกไว้ก่อนเลยว่า ถ้าว่าด้วยกฎหมายก็ต้องฉะกันไปแล้ว แต่วันนี้เรามาคุยทำความเข้าใจกัน ในสิ่งที่สน.ดุสิต เขาแนะนั้น ผมเห็นว่าควรปฏิบัติตาม บางครั้งเงื่อนไขที่เกิดขึ้นไม่สามารถบอกตรงๆได้ ถนนเส้นราชดำเดินจนถึงสนามหลวงตอนนี้เป็นเส้นทางเสด็จ ถูกกันไว้เป็นพื้นที่ที่จะใช้เป็นเส้นทางพระราชดำเนิน ไม่ต้องการให้มีความเคลื่อนไหวอะไรก็แล้วแต่เกิดขึ้นบนถนนเส้นนี้ เพราะฉะนั้นจึงแจ้งให้ทราบว่าไม่ควรมาทำอะไรบริเวณนี้ ไม่ว่าจะในเชิญสัญลักษณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะจะทำให้เกิดความไม่เรียบร้อย”

นายทหารคนเดิมยังกล่าวติเตียนแกนนำว่าเป็นพวกดื้อดึง ไม่ยอมทำตามที่ตำรวจบอก พร้อมเน้นย้ำแก่แกนนำว่าต่อไปเวลาเจ้าหน้าที่บอกอะไรก็ให้ทำตาม เพราะไม่อยากให้เป็นเยื้องอย่าง

“ท่านผู้กำกับท่านแนะนำอะไรบอกอะไรต้องฟัง ให้ขยับไปตรงโน้น ให้ขยับไปตรงนี้ต้องให้ความร่วมมือ ไม่ใช่ดื้อดึงแบบเมื่อเช้านี้ ผมถือว่าดื้อดึง แต่อาศัยว่าเมื่อท่านรองมาพูดแล้วฟังก็ถือว่าโอเค แต่ถ้าคราวหน้าเป็นแบบนี้อีกจะไม่ใจดีอีกแล้ว เพราะฉะนั้นที่ทางตำรวจแนะนำนั้น ขอให้ปฏิบัติตาม ถ้ากลุ่มนี้ทำได้ ก็จะมีกลุ่มอื่นๆทำอีก ก็ต้องมานั่งจับปูใส่กระด้ง มานั่งไล่หวดไล่ตีอีก ซึ่งอันนี้ประเด็นความเดือดร้อนก็พอเข้าใจ แต่ถ้าประเด็นการเมือง การแสดงความคิดเห็นที่ไม่เข้าท่าคงต้องอัดกันแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้ก็คงจะคุยกันดีๆ เจอกันครั้งหน้าถ้าบอกขวาต้องขวา ถ้าบอกซ้ายต้องซ้าย การกระทำทุกอย่างบ้านเมืองมีกฎหมาย เพราะฉะนั้นต้องเล่นตามกฎกติกา อะไรที่จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องทำ ผมบอกว่าต้องทำ ไม่มีเงื่อนไข วันนี้ผมบอกว่า 10 โมงจบก็ต้องขอขอบคุณที่จบ เรื่องหนึ่งที่ต้องขอขอบคุณคือท่านได้ทำหนังสือประสาน ถือว่าท่านก็ได้พยายามทำตามกฎกติกาให้มากที่สุด แต่พอมีเงื่อนไขก็ขอให้ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ วันนี้คงทำความเข้าใจกันให้รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น วันนี้อะไรที่เป็นข้อผิดพลาดก็นำไปแก้ไข อะไรเจ้าหน้าที่ตำรวจแนะนำต้องรีบทำตาม เพราะถ้าทหารมาถึงมันจะไม่ใช่เรื่องเล็กแล้ว วันนี้ถือว่าผมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่หลายเรื่อง เพราะฉะนั้นต้องไม่เกิดอย่างนี้ขึ้นอีก”

หลังจากเจ้าหน้าที่กล่าวติเตียนจบ ได้เชิญให้แกนนำพูดบ้าง แกนนำผู้ชุมนุมท่านหนึ่ง กล่าวสั้นๆก่อนจบว่า

“วันนี้เราก็พยายามเต็มที่อย่างที่เจ้าหน้าที่บอกเราพยายามทุกๆขั้นตอนเพื่อไม่ใช้ผิดพรบ.ชุมนุม แต่เนื่องจากลึกๆแล้วเราไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงตามที่ท่านกล่าวมา ก็ต้องขอขอบคุณที่ไม่ดำเนินคดีหรือไม่ทำอะไรที่ทำให้พี่น้องต้องกระทบกระเทือน เพราะทุกวันนี้พี่น้องต่างก็มีทุกข์สาหัสอยู่แล้วในเรื่องของหลักประกันสุขภาพที่กำลังจะโดนลิดรอน”

นั้นแหละครับ แม้ประชาชนอย่างเราๆ อยากมีส่วนร่วมในเรื่องสาธารณะที่กระทบต่อเรา โดยการเคลื่อนไหวชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่การชุมนุมก็ไม่ได้ง่ายอีกต่อไปแล้ว เพราะปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐมีเครื่องมือทางกฎหมายมาใช้จัดการเรา พูดไปประชาชนก็เหมือนลูกไก่ในกำมือ รัฐจะอ้างกฎหมายมาดำเนินการหรือดำเนินคดีกับเราเมื่อใดก็ได้ หากรัฐเห็นใจหรือประชาชนยอมตามก็อาจจะรอด แต่ถ้าแข็งขืนเมื่อไหร่ก็อาจจะถูกจัดการอย่างหนัก

อำนาจต่อรองของภาคประชาชนลดลงไปอย่างมากในสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่รัฐราชการกำลังจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เราจะเดินต่อไปกันอย่างไรในสภาวะเช่นนี้



เชิงอรรถ:

[1] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10

[2] พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 11

หมายเหตุ: สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยเป็นพื้นที่รวมของนักกฎหมาย ทนายความและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงการขับเคลื่อนและเผยแพร่แนวคิด นโยบาย กฎหมาย เพื่อให้สิทธิมนุษยชนเป็นที่ยอมรับในสังคม

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.