สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: คำถามของประยุทธ์


Posted: 08 Jun 2017 02:32 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หลังจากที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และบ้านเมืองไทยกำลังจะต้องก้าวไปสู่กระบวนการของการเลือกตั้ง ในข้ออ้างที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตย แต่ดูเหมือนฝ่ายเผด็จการทหารของไทย ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจในกระบวนการ ดังนั้น เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. จึงได้กล่าวในรายการ ”ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลและ คสช. ยืนยันว่า การเป็นประชาธิปไตยของไทย จะต้องไม่เป็นประชาธิปไตยที่ล้มเหลว จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่มีรัฐบาลซึ่งยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลนำพาให้ชาติ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้ศาสตร์พระราชาให้จงได้ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ จึงขอฝากประเด็นคำถามไว้ 4 ข้อ เพื่อรับทราบความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน และนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป

คำถามทั้ง 4 ข้อ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ 1. .ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้ จะทำอย่างไร 3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง และ 4. ท่านคิดว่า กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร พล.อ.ประยุทธ์แสดงความจริงจังกับคำถามดังกล่าว โดยย้ำว่า ขอให้ประชาชนส่งคำตอบและความคิดเห็น มาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวมรวมส่งมาที่นายกรัฐมนตรี จะยินดีรับฟัง

คำถามทั้ง 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นประเด็นแห่งความสนใจไปทันที หลายฝ่ายได้แสดงความเห็นตอบโต้คำถามดังกล่าว และยังตั้งข้อสังเกตว่า คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์สะท้อนหรือไม่ว่า ฝ่ายทหารและ คสช. ต้องการที่จะรักษาอำนาจต่อไป โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง แต่ปัญหาสำคัญที่เห็นได้จากคำถามนี้ ก็คือ ความเข้าใจผิดในบทบาทของตนเอง และความอ่อนของฝ่ายทหารในความรู้เรื่องการเมืองแบบประชาธิปไตย

เริ่มจากการพิจารณาคำว่า “ธรรมาภิบาล” ซึ่งเป็นคำสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำมาตั้งโจทย์ คำนี้ มาจากภาษาอังกฤษว่า (Good Governnance) หมายถึง ระบบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้สังคมของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และตั้งอยู่ในความถูกต้องเป็นธรรม ซึ่งหลักสำคัญ ในเรื่องนี้ เช่น เรื่องหลักนิติธรรม (The Rule of Law) หลักคุณธรรม (Morality) หลักความโปร่งใส (Accountability) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) และ หลักความรับผิดชอบ (Responsibility) เป็นต้น

ในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีการแสดงหลักฐานยืนยันได้เลยว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะมีหลักธรรมาธิบาลมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลคณะ คสช.ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เราก็จะเห็นได้ว่า มีการใช้อำนาจที่ไม่ได้ยึดหลักธรรมาภิบาลเสมอ เช่น การใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ก็เป็นการละเมิดหลักนิติธรรม ข่าวคราวเรื่องทุจริตคอรัปชันของฝ่ายทหาร เรื่องกินค่าหัวคิว ก็ละเมิดหลักคุณธรรม การใช้อำนาจรัฐควบคุมห้ามการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาลและกองทัพ ก็ละเมิดหลักความโปร่งใส นอกจากนี้ การใช้รัฐสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ก็ละเมิดหลักการมีส่วนร่วม

นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ระบอบธรรมาภิบาลจะไม่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร แต่การเลือกตั้งที่เป็นธรรม และกระบวนการไปสู่ประชาธิปไตยเท่านั้น จึงจะเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างรัฐที่มีธรรมาภิบาล อย่างน้อยในด้านการแสดงความเห็นวิพากษ์และการตรวจสอบ รัฐประชาธิปไตยย่อมทำได้ง่ายกว่ารัฐเผด็จการ นี่เป็นประเด็นแรกที่เผด็จการทหารไทยแสร้งทำเป็นไม่รับรู้

หลักการของระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ให้หลักประกันในด้านที่จะได้รัฐบาลบริหารที่ดีหรือไม่ดี แต่ให้หลักประการในด้านที่มาของอำนาจว่า จะได้รัฐบาลบริหารที่มาจากเสียงของประชาชน ส่วนการบริหารจะมีหลักธรรมาภิบาลอย่างไร ขึ้นกับกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล ดังนั้น เราจะพบว่า แม้แต่ในประเทศที่มีกระบวนการประชาธิปไตย เช่น ในสหรัฐ ฝรั่งเศส หรือ ประเทศอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าการเลือกตั้งจะนำมาซึ่งรัฐบาลที่บริหารได้ดีทุกครั้ง แต่ข้อดีของประชาธิปไตยที่เหนือกว่าเผด็จการทหารก็คือ การมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยสันติวิธีและใช้เสียงประชาชนตัดสิน ซึ่งนานาประเทศเขาก็ใช้วิธีการเช่นนี้ การรัฐประหารจึงกลายเป็นสิ่งล้าสมัยในโลกสากล ดังนั้น ถ้าตอบคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ในข้อที่ 2 ก็คือ ต่อให้การเลือกตั้งนำมาซึ่งรัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาล ประชาชนก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย และประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่พวกนายทหารหลงยุคทั้งหลายไม่มีความรู้ เห็นเพียงแต่ว่า การรัฐประหารเป็นทางแก้ปัญหาทางการเมือง นายทหารหลงยุคเหล่านี้ จึงเป็นผู้ที่นำประเทศไปสู่ความล้าหลัง

ในคำถามที่ 3 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องตอบว่า การเลือกตั้งและกระบวนการไปสู่ประชาธิปไตยนั่นเอง เป็นการดำเนินการอย่างคำนึงอนาคตของประเทศ เพราะระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่า ประเทศภายใต้เผด็จการทหารนั้นไม่มีอนาคต ถ้าหากต้องการปฏิรูปประเทศ กระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้มีอะไรที่จะไปขัดขวางการปฏิรูป แนวคิดเรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และแช่แข็งประเทศเพื่อการปฏิรูป เป็นแนวคิดแบบฝ่าย กปปส. ที่ดำเนินการและสร้างความเสียหายยับเยินกับประเทศชาติมาแล้วจนถึงขณะนี้

สำหรับในข้อที่ 4 ในประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย ถ้านักการเมืองหรือใครก็ตาม ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็มีกฎหมายปกติที่จะดำเนินากรลงโทษอยู่แล้ว แต่ถ้าบุคคลที่ไม่ได้ทำความผิด ก็อย่าไปสร้างกฎหมายพิเศษ หรือเงื่อนไขพิเศษ ที่จะไปจ้องเล่นงานหาทางลงโทษโดยขัดหลักนิติธรรมดังที่เป็นอยู่ในระยะทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น กระบวนการทางการเมืองต้องเปิดสำหรับสุจริตชนตามกฎหมายทุกคนให้มีส่วนร่วมได้ มิใช่ให้อำนาจแก่บุคคลที่ถือปืนเหนืออื่นใดเช่นระบอบที่เป็นอยู่

แต่คำถามทั้งหมดตลอดจนถึงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สะท้อนความวิตกข้อใหญ่ในกลุ่มชนชั้นนำที่กลัวการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาไม่สามารถบังคับหรือเปลี่ยนใจประชาชนไทย ที่ต้องการจะเลือกฝ่ายพรรคเพื่อไทยให้กลับคืนมา การคาดหมายและการสุ่มตัวอย่างเสียงประชาชนทุกครั้ง แสดงให้เห็นเสมอว่า ถ้ามีการเลือกตั้ง ฝ่ายพรรคเพื่อไทยมีโอกาสมากที่สุด ที่จะได้รับเสียงมากที่สุด แม้ว่าจะใช้มาตรการทางรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจเถื่อนสกัดขัดขวางทุกทางแล้วก็ตาม ในระยะที่ผ่านมา กระบวนรัฐประหารเพื่อทำลายประชาธิปไตยในประเทศ ก็มาจากความต้องการที่จะจัดการกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยให้เด็ดขาดทั้งสิ้น ความขัดแย้งและความวุ่นวายในประเทศ จึงมาจากปัญหาเรื่องความอับจนปัญญาของชนชั้นนำที่จะบังคับเสียงประชาชน

ความจริงกระบวนการทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่ายที่สุด ถ้าหากยอมรับที่จะเล่นการเมืองตามกติกา และปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนินไปเช่นปกติ หมายความว่า ถ้าชนชั้นนำต้องการจะเอาชนะฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ควรจะต้องเอาชนะด้วยประชาธิปไตย ทำให้ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณแพ้การเลือกตั้ง และประชาชนเสื่อมศรัทธาไปเอง การเมืองไทยก็จะพัฒนาในลักษณะเดียวกับนานาประเทศ และหลักธรรมาภิบาลก็จะเกิดขึ้นได้

กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยจะพัฒนาไปข้างหน้าได้ กลุ่มนายทหารในยุคต่อไปต้องเลิกคิดแบบเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ ที่เชื่อว่า มีแต่ฝ่ายทหารเท่านั้น ที่สามารถเป็นอัศวินม้าขาวเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ แต่ต้องคิดเสียใหม่ว่า ประชาชนสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย จะได้ไม่ต้องมาติดพ้อว่า “ถ้าประยุทธ์ไม่อยู่แล้วจะเรียกใคร”




หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 619 วันที่ 3 มิถุนายน 2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.