Posted: 18 Jun 2017 04:24 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

การรับฟังความเห็นครั้งสุดท้าย ครั้งที่ 4 ใน กทม.ยังคงมีความปั่นป่วน หลังจากถูกประท้วงจนเวทีล้มที่อีสาน เครือข่ายคนรักประกันสุขภาพประท้วงหน้าห้อง นอนขวางให้ข้ามหัวเข้าประชุม ระบุขาดความชอบธรรมทุกมิติทั้งกระบวนการและเนื้อหากฎหมาย หวั่นกระทบคนทั้งประเทศ


18 มิ.ย.2560 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายภาคประชาชนราว 300 คน รวมตัวร่วมจับตาเวทีรับฟังความคิดเห็น การแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สุดท้ายที่โรงแรมเซ็นทารา แจ้งวัฒนะ โดยในงานนี้ผู้ที่จะเข้าร่วมต้องลงทะเบียนล่วงหน้าทางออนไลน์ สแกนบัตรประชาชนเพื่อเข้างานและมีเวลาให้แสดงความเห็นคนละ 3 นาที

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายปฏิเสธจะเข้าร่วมเวทีโดยระบุว่ากระบวนการร่างและรับฟังความคิดเห็นนั้นไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น จึงได้รวมตัวกันปราศรัยถึงปัญหาของร่างกฎหมายใหม่อยู่หน้าห้องประชุม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้วางกำลังอยู่โดยรอบ และได้ตรวจยึดป้ายกระดาษ ป้ายผ้าที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมาด้วย

เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ThaiPBS รายงานว่าเวลาประมาณ 09.00 น. เกิดความชุลมุนขึ้นเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เข้าประชิดเพื่อจะควบคุมตัวแกนนำ แต่ไม่สามารถคุมตัวใครได้ และมีการเจรจาให้รวมตัวอย่างสงบ ไม่ใช้เครื่องขยายเสียง และชูป้ายข้อความใดๆ ผู้ชุมนุมจึงใช้โทรโขงขนาดเล็กในการปราศรัยกันอยู่ที่หน้าห้องประชุม โดยมีการสื่อสารข้อมูลอย่างต่อเนื่องผ่านเฟซบุ๊กกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่าย

เพจโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ รายงานว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุวุ่นวายเล็กน้อย ขณะกลุ่มประชาชนเริ่มใช้เครื่องเสียงปราศรัย มีชายไม่แต่งเครื่องแบบสองคนเข้ารวบแผ่นป้ายข้อความ และมีหญิงไม่แต่งเครื่องแบบเข้าล็อคคอหนึ่งในผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ประชาชนหลายคนกรูเข้าช่วยเหลือ ชายสองคนถูกตำรวจพาออกไป และต่อมาพบว่าถูกพาเข้าไปในห้องประชุมที่ชั้น 1 ซึ่งมีตำรวจนั่งอยู่ภายใน ต่อมาประชาชนที่อยู่หน้าห้องประชุมนั่งขวางประตูทางเข้า โดยตำรวจคล้องแขนกันยืนล้อมรอบ ตำรวจพยายามใช้กำลังเข้ายึดไมโครโฟนจากผู้ปราศรัย ต่อมามีการเจรจากันให้ใช้เพียงโทรโข่งตัวเล็กๆ จากนั้นประชาชนได้ทำการประท้วงโดยนอนลงหน้าประตูทางเข้า และประกาศว่า “ถ้าเวทีจะเริ่มขึ้นก็ให้ข้ามหัวประชาชนแล้วเดินเข้าไป” อย่างไรก็ตามเวทีรับฟังความคิดเห็นในห้องประชุมของโรงแรมเดินหน้าไปได้ โดยมีคนเข้าร่วมไม่ถึงครึ่งของเก้าอี้ที่ว่าง


เวลาประมาณ 10.20 ตำรวจได้ขอให้แกนนำไปที่สถานีตำรวจเพื่อคุยกับผู้กำกับ โดยสารี อ๋องสมหวัง เป็นตัวแทนเดินทางไปกับตำรวจ ต่อมามีรายงานว่า ตำรวจยังไม่ตั้งข้อหาดำเนินคดีในวันนี้ เวลาประมาณ 11.20 ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แถลงข่าวชี้แจงว่า เหตุที่ต้องคัดค้านการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เพราะกระบวนการขาดการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ข้อเสนอการแก้ไขมาจากความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียว จึงขอให้เริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น หลังจากนั้นผู้มาเข้าร่วมงานจะทยอยแยกย้ายกันกลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากเรื่องกระบวนการจัดทำกฎหมายและรับฟังความคิดเห็นที่เครือข่ายฯ ต้องการให้เริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ยังมีข้อเรียกร้องในการปรับปรุงในประเด็นเนื้อหาของร่างกฎหมายด้วย ได้แก่

1. การแก้ไขกฎหมายต้องยึดหลักการ “ประชาชนได้ประโยชน์” เป็นที่ตั้ง เช่น ต้องแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อให้มีบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ รวมถึงเป็นสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน

2. “ยกเลิกการร่วมจ่าย” เพราะการแก้ไขกฎหมายไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ส่งผลให้ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันฯ คัดค้านการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ แต่สนับสนุนให้จัดเก็บภาษีเพิ่มเติม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จากกำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน ไม่ว่าคนชนชั้นใดก็มีสิทธิล้มละลายได้ ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง

3. “ให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์” ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based) เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้ สปสช.จัดซื้อยาและอุปกรณ์เองได้ รัฐบาลต้องเพิ่มงบอีกปีละ 5,000 ล้านบาท แล้วรัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ หรือนี่คือหลุมพรางในการให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย ทั้งที่ในปัจจุบัน สปสช. ใช้งบประมาณจัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้ประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปี ได้เกือบ 50,000 ล้านบาท

4. “เกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรม” ต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล จากการแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ที่ดูเหมือนจะดีและทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ต้องกังวล

5. การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันควร “เพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้น” และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขควรมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ป่วย ตัวแทนหน่วยรับเรื่องเรียนตามมาตรา 50(5) ทั้งในหน่วยบริการและนอกหน่วยบริการที่ดำเนินการโดยประชาชน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ทั้งสองคณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มอำนาจของประชาชนในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

อีสานล้มเวทีรับฟังความคิดเห็น ‘เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง’ ระบุมีธงแต่ต้น


ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2560 กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็ได้ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมอวานี จังหวัดขอนแก่น

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ตื่นรู้ที่สนใจ (ร่าง) พ.ร.บ. ได้มาแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ โดยคณะอนุกรรมการฯ จะทำหน้าที่รวบรวมความเห็นทั้งหมด เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป

“การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๓ จากที่ทำมาแล้ว ๒ ครั้ง ที่ภาคใต้และภาคเหนือ ทำให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นรู้และสนใจในเรื่องของ ร่างพ.ร.บ.จำนวนมาก มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางทั้งที่ผ่านแบบฟอร์มรับการแสดงการคิดเห็น และผ่านทางระบบออนไลน์ที่ทางคณะผู้จัดงานได้จัดเตรียมอำนวยความสะดวกระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตไว้ให้”

นพ.พลเดชกล่าวอีกว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มและเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพที่รวมกลุ่มกันกว่า 100 คน ชูป้ายคัดค้าน และแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.นั้น เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้เพราะเป็นการเคารพทั้งความเห็นเหมือนและเห็นต่าง ซึ่งทางคณะอนุกรรมการยืนยันว่าจะนำทุกความคิดเห็นที่ทางกลุ่มและเครือข่ายฯ ที่ได้นำเสนอ รวบรวมส่งยังคณะกรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงคัดค้านก็ต้องมีขอบเขต ไม่ขัดขวางหรือกระทำการจนไม่สามารถดำเนินการจัดประชุมตามขั้นตอนได้ ควรคำนึงถึงการเปิดใจรับฟังและสิทธิการแสดงความคิดเห็นของคนอื่นๆ เช่นกัน

ปรียานุช ป้องภัย ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ตนและทางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุงร่างดังกล่าว เนื่องจาก พ.ร.บ.ที่ปรับปรุงให้สิทธิและอำนาจแก่กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ให้บริการ โดยไม่มีการถ่วงดุลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการ จึงอาจจะทำให้ประชาชนต้องสูญเสียสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่จำเป็น รวมถึงการจัดการซื้อยาและเวชภัณฑ์ก็อาจจะมีการทุจริตกันมากขึ้น

“ทางกลุ่มคิดว่าที่มาของเนื้อหาของ ร่าง พ.ร.บ. ไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ องค์ประกอบของคณะกรรมการไม่มีความสมดุล เพราะมีภาคประชาชนเพียงแค่ ๒ คนที่ไม่สามารถออกเสียงคัดค้านเพื่อปกป้องสิทธิประชาชนด้วยกันเองได้ ดังนั้น จึงอยากให้มีการยุติกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และกลับไปเริ่มต้นการยกร่างพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. เสียใหม่ให้มีความชอบธรรมมากกว่านี้”


เบญญาภา มะโนธรรม ผู้แทนจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ให้มีความทันสมัยขึ้น ครอบคลุมทุกหน่วยของผู้ให้บริการทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน และวิชาชีพด้านสาธารณสุขอื่นๆ อาทิ การแพทย์แผนไทย เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถึงการบริการมากขึ้น ไม่เพียงแต่ต้องพึ่งการใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

“เหตุที่เกิดการคัดค้านของกลุ่มประชาชน อาจเพราะขั้นตอนและระยะของการปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.ถือว่าสั้นมาก เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่มีการเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายร้อยเวที ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตกผลึกความคิดเห็น ใช้เวลา 3-4 ปี กว่าเสร็จสิ้น และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปรับปรุงใน ร่างพ.ร.บ. หัวใจสำคัญ คือ เหตุผลและเนื้อหา ที่จะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ได้รับประโยชน์มากขึ้น ไม่ใช่เพียงคิดถึงจำนวนและองค์ประกอบการของคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง)ฯ หรือออกข้อบังคับตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เท่านั้น”

เบญญาภา กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามตนยังมีบางประเด็นของการปรับปรุงแก้ไข ร่างพ.ร.บ. ที่ไม่เห็นด้วย คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่นอกจากจะมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการ และผู้ซื้อบริการแล้ว ตัวแทนจากภาคประชาชนในผู้รับบริการไม่ควรลดน้อยลงไปกว่าเดิม และอย่างน้อยครอบครบเครือข่าย 9 ด้าน อาทิ ด้านผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ ผู้ใช้แรง สตรี เป็นต้น


เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง ThaiPBS รายงานว่า อย่างไรก็ดีระหว่างกาประชุมนดำเนินไปนั้นปรากฏว่า มีประชาชนที่ใช้ชื่อว่า ‘เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง’ กว่า 200 คน ที่ไม่เห็นด้วยต่อการแก้กฎหมายได้รวมตัวกันประท้วงยึดเวทีดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเช้า ส่งผลให้ไม่สามารถจัดประชุมต่อได้

นอกจากนั้นกลุ่มประชาชนยังมีการแสดงจุดยืนว่าถ้ายังมีการแก้กฎหมายจะทำการล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อคัดค้าน และถ้ายังยืนยันจะแก้อีกอาจมีการไปยืนยันจุดยืนถึงที่ทำเนียบรัฐบาล

เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง อ่านแถลงการณ์ “แก้กฎหมายบัตรทอง บิดเบือนเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชาชน” ระบุว่า คำสั่ง มาตรา 44 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2559 ระบุให้มีการ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 10/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

ทางคณะกรรมพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้จัดตั้งอนุกรรมการจัดทำประชาพิจารณ์ 4 ภูมิภาค และจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จำนวน 3 ช่องทาง โดยได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ถูกคัดค้านจากประชาชนที่เห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กระบวนการ ไม่มีความเป็นธรรมและละเมิดหลักการการมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ การจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียของ คณะทำงานฯ เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อสร้างภาพให้สาธารณะชนเห็นว่าประชาชน มีส่วนร่วม แต่ในความเป็นจริงนั้น ในเนื้อหาการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีการตั้งธงไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้น โดยคนในกระทรวงสาธารณสุขที่มีอคติต่อ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แม้ว่าประชาชนที่รักความเป็นธรรมจะแสดงความคิดเห็นในเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ก็จะไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงธงหรือเนื้อหาที่คณะกรรมการร่างไว้ได้ โดยเฉพาะกระบวนการออกแบบเวทีรับฟังความคิดเห็นทำให้ไม่เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเท่าเทียม

ดังนั้น เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง เห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงมีความเห็นต่อการจัดเวทีประชาพิจารณ์ แก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ดังนี้

1. ให้ยุติกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน

2. กระบวนจัดทำประชาพิจารณ์ ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และในเนื้อหาการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ทำลายเจตนารมณ์และหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนไม่อาจจะรับได้

3. องค์ประกอบของคณะทำงานแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งขึ้นมานั้นไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อประชาชน โดยโน้มเอียงไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากสัดส่วนของคณะทำงาน 26 คน มีตัวแทนของภาคประชาชนเพียง 2 คน

4. การแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ยังขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน การเลือกปฏิบัติกับเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยและเป็นการกีดกันกลุ่มคนที่กำลังรอพิสูจน์สัญชาติในประเทศซึ่งมีมากกว่าสี่แสนคน

เครือข่ายฯ ยังยืนยันในหลักการที่ว่า “ประชาชนต้องมีสิทธิรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องถือปฏิบัติและรัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่ต้องร้องขอ”

(อ่านรายนามองค์กร 76 แห่งที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ได้ด้านล่าง)

ขณะที่เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งถูกภาคประชาชนบุกไปยึดเวทีจนไม่สามารถดำเนินการรับฟังความคิดเห็นได้ว่า ได้ชี้แจงถึงเรื่องร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพไปหมดแล้ว จึงอยากให้ประชาชนลองศึกษารายละเอียดในร่างดังกล่าวก่อนว่าเป็นอย่างไร มีส่วนที่สูญเสียสิทธิจากเดิมหรือพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนการที่มีกลุ่มคนไปล้มเวทีประชาพิจารณ์นั้น แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง แต่การกระทำที่บ่งบอกว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นนั้นก็ไม่สมควรทำเช่นกัน
พล.ท.สรรเสริญกล่าวอีกว่า การออกกฎหมายแต่ละฉบับ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องและถือเป็นองค์ประกอบหลักในการออกกฎหมาย ดังนั้นประชาชนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และที่ผ่านมามีการเรียกร้องอยากเห็นประชาธิปไตย ซึ่งหัวใจหลักคือการแสดงความเห็นคิด ดังนั้นการใช้กำลังล้มเวทีประชาพิจารณ์ ก็เป็นการบอกว่าไม่ได้เป็นการฟังความคิดเห็นคนอื่นด้วยเหมือนกัน

“ขอให้ดูให้ดีว่ากลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ จริงๆ หรือมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้เสียรังวัดว่าของใหม่ดีกว่าของเดิม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ล้มเวทีประชาพิจารณ์ เพราะถือว่ากระทำความผิด” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ทั้งนี้รายชื่อเครือข่ายผู้สนับสนุนและลงชื่อในแถลงการณ์ “แก้กฎหมายบัตรทอง บิดเบือนเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชาชน” 76 องค์กร ประกอบด้วย

1) ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน 2) ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) 3) ศูนย์ข้อมูลสิทธิเพื่อผู้บริโภค 4) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี 5) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล – ดูนสาด 6) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดงมูล 7) กลุ่มตนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย 8) กลุ่มตนบ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ 9) กลุ่มฮักบ้านฮั่นแนว 10) ขบวนการอีสานใหม่ 11) ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม 12) เครือสตรีจังหวัดสุรินทร์ 13) เครือข่ายคนพิการจังหวัดนครราชสีมา 14)มูลนิธิน้ำเพื่อชีวิต 15) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุรินทร์ 16) เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา 17) กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดวานรนิวาส 18) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแววล้อมโคกหินขาว 19) กลุ่มปุกฮัก 20) ชมรมคนสร้างฝัน

21) เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ 22) กลุ่มเด็กฮักถิ่นใหม่ ม.ราชภัฏสกลนคร 23) เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า 24) กลุ่มกวีเถื่อน ม.ราชภัฏมหาสารคาม 25) เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย 26) ศูนย์พิทักษ์จัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชีตอนบน 27) กลุ่มชาวบ้านฟื้นฟูระบบนิเวศลำน้ำชีตอนล่าง 28) เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน 29) กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง 30)ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมลุ่มน้ำโขง(ศพส.) 31)คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.อีสาน) 32)กลุ่มสมุนไพรเพื่อสันติภาพ (Herb for Peace) 33)กลุ่มเถียงนาประชาคม 34)กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) 35)สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ 36.)สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ 37)กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคอีสาน 38)คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)ภาคอีสาน 39)เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน 40)สถาบันชุมชนอีสาน

41)สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม 42)ศูนย์ข้อมูลสิทธิเพื่อผู้บริโภค 43)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดขอนแก่น 44)เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น 45)สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น 45)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจังหวัดขอนแก่น 46)เครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น 47)เครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น 48)เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น 49)เครือข่ายเกษตร จังหวัดขอนแก่น 50)เครือข่ายคนพิการจังหวัดขอนแก่น 51)ชมรมเพื่อนโรคไตจังหวัดขอนแก่น 52)สื่ออาสาปันใจจังหวัดขอนแก่น 53)กลุ่ม M-CAN ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายจังหวัดขอนแก่น 54)มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น 55)เครือข่ายเด็กและเยาวชน จังหวัดมหาสารคาม 56)มูลนิธิไทยอาทร จังหวัดขอนแก่น 57)โครงการสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น (LDP) จังหวัดชัยภูมิ 58)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคอีสาน 59)ชมรมต้นกล้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และครอบครัว จังหวัดมุกดาหาร 60)สมาคมวิถีธรรมชาติ จังหวัดอุบลราชธานี

61)มูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมเอชไอวี จังหวัดอุบลราชธานี 62)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จังหวัดอุบลราชธานี 63)สมาคมศิษย์เก่านักเรียนทุน ไอ เอฟ พี ประเทศไทย 64)สถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา (กลุ่มก่อการดีเลย) จังหวัดเลย 65)สมาคมไทบ้าน จ.มหาสารคาม 66)ตลาดเขียวขอนแก่น 67)สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน 68)ศูนย์ส่งเสริมสิทธิศักยภาพประชาชนนครราชสีมา 69)สภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน 70)เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน 71)คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน 72)เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดมหาสารคาม 73)กลุ่มพิราบขาว จ.ขอนแก่น 74)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด 75)ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์(ข่ายผู้หญิง) 76)มูลนิธิน้ำเพื่อชีวิต

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.