Posted: 06 Jun 2017 12:39 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อัดเวทีประชาพิจารณ์กฎหมายบัตรทองฉบับใหม่เหมือนปาหี่ ชี้ข้าราชการมาร่วมงานกลับไปเบิกค่าเดินทางกับต้นสังกัดได้ แต่ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดมาแสดงความคิดเห็นกลับต้องควักเงินเอง ส่อเจตนากีดกัน ไม่ได้ต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชนจริงๆ


นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชน

6 มิ.ย.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยว่า การจัดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งจะดำเนินการใน 4 ภาคระหว่างวันที่ 10-18 มิ.ย.2560 นี้ มีกระบวนการที่กีดกัน ไม่ได้เปิดกว้างให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง

นิมิตร์ ขยายความว่า แม้คณะผู้จัดเวทีประชาพิจารณ์จะประกาศว่าเปิดกว้างให้ประชาชนที่เข้าร่วมได้ แต่เบื้องต้นต้องลงทะเบียนออนไลน์ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็กรองหรือบล็อกประชาชนจำนวนหนึ่งแล้ว กล่าวคือต้องเป็นผู้มีความรู้และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจึงจะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้

ประการต่อมา การเข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์เพื่อแสดงความคิดเห็นของประชาชน ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือแม้แต่ค่าที่พัก โดยประชาชนต้องรับผิดชอบส่วนนี้เองแต่ในส่วนของข้าราชการที่มาร่วมเวทีประชาพิจารณ์ สามารถนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปเบิกกับต้นสังกัดได้ อีกทั้งไม่ถือว่าเป็นวันลา

“เรื่องนี้มันทำให้การจัดเวทีรับฟังความเห็นเหมือนปาหี่ จัดแบบกีดกันไม่ได้เปิดกว้างให้ประชาชนจริงๆ คุณไปจัดระดับเขตหรือระดับภาค หมายถึงประชาชนที่อยากเข้าร่วมก็ต้องกระเสือกกระสนไปจังหวัดที่จัดงาน อย่างภาคเหนือจัดที่ จ.เชียงใหม่ คนที่อยู่จังหวัดอื่นในภาคเหนือที่ไม่ได้อาศัยในตัวเมืองเชียงใหม่ก็ต้องเดินทางมา ถ้าระยะทางไกลก็ต้องค้างคืน ต้องหยุดงาน เสียรายได้ มันก็สร้างอุปสรรคกับการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นของประชาชน ต้องให้เขาช่วยเหลือตัวเองทั้งค่ารถ ค่าที่พัก ซึ่งก็ต้องเป็นคนที่พร้อมจริงๆ ถึงจะไปได้ ต้องเสียสละอย่างมากเพื่อจะเดินทางไปบอกว่าเอาหรือไม่เอาประเด็นที่จะมีการแก้ไขใหม่ในกฎหมายฉบับนี้” นิมิตร์ กล่าว

นิมิตร์ ย้ำว่า กระบวนการแบบนี้เหมือนเรื่องปาหี่ ไม่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้จริง ใช้กลไกลักษณะนี้กรองและกีดกันประชาชนจำนวนมากออกไปจากการร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น เพราะฉะนั้นกระบวนการประชาพิจารณ์ต้องไม่เป็นอุปสรรคในการกั้นไม่ให้คนเข้าร่วม อย่างน้อยควรมีค่าเดินทางให้ประชาชนที่มาร่วม หรือหากประชาชนมีความยากลำบากในการเดินทางก็ต้องไปหาประชาชนในแต่ละจังหวัด ต้องกระจายเวทีย่อยในจังหวัดต่างๆ ไม่ใช่เอาแต่ความสะดวกของผู้จัดงานอย่างเดียว

“ยกตัวอย่างที่ผ่านมา เวลาสถาบันพระปกเกล้าทำเวที เขามีค่าเดินทางให้ แต่อันนี้ไม่มี มันก็ส่อเจตนาว่าไม่ได้ต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชนจริงๆ” นิมิตร์ กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.