Posted: 18 Jun 2017 08:53 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หลายหน่วยร่วมถกปัญหารถพยาบาลฉุกเฉินฝ่าไฟแดง สพฉ.เผยสถิติปี 59 รถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุ 42 ครั้ง ย้ำมีมาตรฐานชัดฝึกอบรมพนักงานขับรถ พร้อมประสานตำรวจเปิดสัญญาณไฟเขียวนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตทั่วประเทศ ด้านร่วมกตัญญูนำร่องประกาศไม่ฝ่าไฟแดงอีกต่อไป

18 มิ.ย.2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ฝ่าไฟแดงได้ไหม เร็วอีกนิดแล้วไง ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หมดอายุความ” โดยมีผู้แทนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิร่วมกตัญญู โรงพยาบาลศิริราช หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุบนท้องถนนเข้าร่วมประชุม

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ.ซึ่งเป็นผู้จัดงานหลักกล่าวว่า อุบัติเหตุเกี่ยวกับรถพยาบาลฉุกเฉินเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดพนักงานในมหาวิทยาลัยต้องเสียชีวิตจากการถูกรถพยาบาลฉุกเฉินขับชน ทั้งๆ ที่ผู้เสียชีวิตปฏิบัติตามกฎจราจรทุกอย่าง แม้เข้าใจเจตนารมณ์ของรถฉุกเฉินในการช่วยชีวิตคน แต่ก็เป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้การกู้ชีพเป็นการช่วยชีวิตคนโดยไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย ส่วนพ.ร.บ.จราจรทางบกพ.ศ. 2522 ก็เป็นเรื่องน่าถกเถียงเพราะมีการระบุว่า รถฉุกเฉินสามารถไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรได้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่แล้วแต่กรณีไป อยากเสนอให้มีการแก้กฎหมายนี้ โดยเฉพาะห้ามการฝ่าไฟแดง พร้อมทั้งเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขันดูแลรถพยาบาลฉุกเฉินให้ได้มาตรฐานทั้งด้านคนขับและคุณภาพรถ

ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา จากภาควิชาการวางแผนภาพและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ปัญหานี้ต้องจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ โดยภาพใหญ่มิติของการออกแบบถนนในกรุงเทพฯ ถือว่ามีน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั่วโลก ซึ่งเกณฑ์การออกแบบถนนให้เพียงพอกับเมืองต้องมีอย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่เมือง ในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกามีถนนร้อยละ 38 ของพื้นที่ แต่กรุงเทพฯ มีเพียงร้อยละ 3.76 เท่านั้น โดยถนนเหล่านี้จะต้องถูกนำมาใช้สำหรับ รถยนต์ ยานพาหนะขนาดใหญ่ โดยไม่สามารถรองรับคนเดินเท้า คนขี่จักรยานได้เพียงพอ จึงอยากเสนอให้มีการทำเส้นทาง คนเดินเท้ากับเส้นทางรถจักรยานแยกออกมาต่างหาก และเมื่อมีจุดตัดบนทางแยกถนนต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้รถยนต์ช้าลง ก่อนถึงทางข้าม 100 เมตร รวมทั้งเรื่องการจัดการจราจร ต้องมีการจัดสัญญาณไฟสู่ศูนย์กลาง มีเจ้าหน้าที่จราจรคอยควบคุมดูแลทั้งระบบ เพราะในปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีการจัดการไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมีเพียง 28 จุด จากทั้งหมด 72 จุดเท่านั้น นอกจากนี้เสนอให้มีช่องทางเฉพาะของรถฉุกเฉินทั้งรถพยาบาลและรถดับเพลิง คาดว่าน่าจะสามรถแก้ปัญหาได้

ทศพล สุวารี หัวหน้าฝ่ายสัญญาณไฟจราจร กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมทีอุปกรณ์การควบคุมสัญญาณไฟจราจรอยู่กับกองบังคับการตำรวจแห่งชาติ เมื่อแยกเป็นท้องถิ่นก็แบ่งงานให้ กทม.มีหน้าที่จัดหาอุปกรณ์สัญญาณ และตำรวจก็จะมีหน้าที่อำนวยการจัดการจราจร ซึ่งกทม.เองพยายามทำให้สมบูรณ์ แต่การจัดระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรแบบเป็นพื้นที่ Area Traffic Control (ATC) ใช้งบประมาณจำนวนมากจึงไม่สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ และตำรวจจราจรเองก็ไม่ยอมรับ จึงทำให้ระบบสัญญาณไฟเป็นแบบแยกเดี่ยว และตำรวจจราจรเองก็กลับมาใช้ระบบอนาล็อกหรือระบบวิทยุสื่อสารเพียงอย่างเดียว

นพ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สถิติในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า รถฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ออกไปปฏิบัติการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านระบบสายด่วน 1669 ประมาณ 1.5 ล้านครั้ง คิดเฉลี่ยประมาณ 100,000 ครั้งต่อเดือน เป็นการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วนร้อยละ 80 ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ เวลาเป็นเรื่องสำคัญต่อโอกาสการรอดชีวิต ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นการนำส่งผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วน

การนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเร่งด่วนจัดเป็นกลุ่มพิเศษที่ควรได้รับการให้ทาง เปิดช่องทางพิเศษ หรือเปิดสัญญาณไฟจราจรสีเขียวให้เมื่อผ่านแยกต่างๆ ในกรณีที่ไม่เร่งด่วนไม่ควรฝ่าสัญญาณไฟจราจรสีแดง โดย สพฉ. ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของรถฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ใช้ถนน ไม่น้อยไปกว่าความเร่งด่วนของการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล และพร้อมที่จะเป็นหน่วยประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการเปิดสัญญาณไฟจราจรสีเขียวให้กับรถฉุกเฉินทางการแพทย์ทั่วประเทศ

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศ ประมาณเกือบ 400,000 ครั้งต่อปี พบว่า ในปี 2559 มีการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 42 ครั้ง โดย 30 ครั้งเป็นการเกิดอุบัติเหตุขณะส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลถึงโรงพยาบาล และอีก 12 ครั้ง เป็นการเกิดอุบัติเหตุขณะนำส่งผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุไปยังโรงพยาบาล ทั้งนี้ การเกิดอุบัติเหตุจากการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลถึงโรงพยาบาลสูงกว่า อาจเป็นเพราะระยะทางและระยะเวลาที่มากกว่า

นพ.สัญชัย กล่าวต่อว่า รถฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ออกไปรับผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุส่งถึงโรงพยาบาลมี 2 ระดับ คือ ระดับพื้นฐานและระดับขั้นสูง ซึ่งบุคลากรที่ปฏิบัติงานระดับพื้นฐานต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย 40 ชั่วโมง และได้รับการขึ้นทะเบียนตามระบบของ สพฉ. ทั้งตัวรถและตัวบุคคล ขณะนี้ สพฉ. ได้นำร่องโครงการติดตั้งเครื่อง GPS ที่ส่งสัญญาณเตือนผู้ขับขี่หากความเร็วเกินกว่าที่กำหนด เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยและความระมัดระวังในการขับรถ และมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทางรถบริการฉุกเฉินทางการแพทย์ ภายใต้ชื่อว่า “รถคันนี้มีน้ำใจ หลีกทางให้รถพยาบาล” พร้อมทั้งขอให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวด้วย และกล่าวทิ้งท้ายว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบรถฉุกเฉินทางการแพทย์ดังกล่าวว่าได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ผ่านทางแอพพลิเคชั่น EMS Certified โดยกรอกข้อมูลทะเบียนรถหรือแสกนคิวอาร์โค้ดด้านข้างรถฉุกเฉินทางการแพทย์ทุกคัน

พล.ต.อ.อาคม จันทนลาช รองผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า ภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีมากมายหลายอย่าง ซึ่งเมื่อเราดูว่าเรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ทุกคนก็จะยกให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนทำ ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถทำได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งยังติดขัดเรื่องงบประมาณและสถานที่ สำหรับวิทยากรที่จะให้ความรู้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ทุกอย่างที่ทำต้องใช้เวลาในการเรียนการสอน ระบบความเข้มงวดก็ยังไม่ค่อยมี เบื้องต้น บก.จร.จะมีการจัดทำโครงการ “ตระหนักความปลอดภัยสร้างวินัยจราจร” โดยจะนำคนทำผิดกฎหมายจราจรให้เข้ารับการอบรมผ่านเนื้อหาการเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบต่างๆ ผ่าน DVD รวมทั้งการขับรถแบบถูกกฎจราจรโดยจะเปิดอบรมในวันหยุดจำนวน 2 รอบทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย ซึ่งถ้าคนอบรมแล้วยังทำผิดกฎจราจรซ้ำอีกก็จะถูกปรับด้วยจำนวนเงินที่แพงขึ้น

เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ หัวหน้าทีมกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูกล่าวว่า การแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากรถพยาบาลฉุกเฉินในส่วนของมูลนิธิร่วมกตัญญูเบื้องต้นตนได้พยายามกำชับและบอกกล่าวอาสาสมัครทุกคนว่าจะไม่มีการผ่าไฟแดงอีกต่อไป ถ้ามีเหตุจำเป็นจะให้เจ้าหน้าที่ห้องวิทยุประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นทางออกสำคัญในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยวิธีการเมื่อมีเจ้าหน้าที่ขับรถพยาบาลฉุกเฉินผ่านเส้นทางไหนก็จะแจ้งไปยังตำรวจจราจรทางท้องที่นั้นเป็นสำคัญ รวมทั้งจะแจ้งไปยัง จส. 100 เพื่อเป็นกระบอกเสียในการประชาสัมพันธ์อีกแรงหนึ่ง พร้อมกันนี้ในเรื่องของการไม่ฝ่าไฟแดงของรถพยาบาลฉุกเฉินก็จะมีการกำชับไปยังมูลนิธิเครือข่ายทั่วประเทศอีกด้วย



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.