Posted: 13 Jun 2017 08:00 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และรายการนำเสนอ

ในงาน "ทบทวน ท้าทายล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่"[1]มีการเสนอทิศทางของการศึกษาล้านนาคดีในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งมีทั้งสิ่งที่เราเห็นร่วมกัน และสิ่งที่เราเห็นต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเวทีที่มองไปข้างหน้า และมองย้อนกลับไปข้างหลังเพื่อสะท้อนย้อนคิดในเรื่องต่าง ๆ ในล้านนา สิ่งที่เราเห็นร่วมกัน คือ

ประการแรก ล้านนาเป็นสิ่งที่ประกอบสร้าง และเมื่อประกอบสร้างแล้ว ย่อมนำมาสู่ความหลากหลาย ทั้งนิยามว่าอะไรคือ ล้านนาคดี เราจะนับทุกเรื่องที่ศึกษาในล้านนาประเทศนี้เป็นล้านนาคดี หรือในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็นก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง

ประการที่สอง การศึกษาล้านนาคดีต้องการข้ามขอบเขตพื้นที่ทั้งหมู่บ้าน ชุมชน จังหวัด ประเทศ เพราะการติดยึดกับพื้นที่ในทางกายภาพ ทำให้เราไม่เห็นพลวัตของความเปลี่ยนแปลง อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เสนอให้ดูที่ความสัมพันธ์ของผู้คนภายเงื่อนไขของบริบท

ประการที่สาม ควรหลุดพ้นจากการมองอะไรอย่างโรแมนติก หยุดนิ่ง เก่าแก่โบราณ เพราะไม่มีสิ่งใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนไหว ปรับปรุงในเวลาที่แปรเปลี่ยน ยกเว้นอะไรที่ตายเเล้ว หลายสิ่งหลายอย่างเป็นการประกอบสร้างในช่วงเวลาหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไข ซึ่งเราต้องหันมาดูที่กระบวนการที่ประกอบสร้างมากกว่าภาพที่ปรากฏให้เห็น

ประการที่สี่ เราควรหลุดพ้นการศึกษาแบบตัดแปะ ร้อยเรียง เชื่อตาม ต้องหันมาใช้วิธีวิทยาแบบใหม่ในการศึกษาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้งประวัติศาสตร์ ดนตรี พิธีกรรม ขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อทำความเข้าใจสังคมล้านนาในมิติของการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการใช้ concept ทางสังคมศาสตร์มาช่วยในการจัดเรียงข้อมูลเพื่อให้เกิดพลังในการอธิบาย


บรรยากาศภายในงาน (1)

ประการที่ห้า เราควรหลุดพ้นจากการศึกษาล้านนาแบบเอารัฐชาติ และเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง โดยหันมาสนใจบ้านเมืองอื่น ประเด็นอื่นที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลง โดยไม่ติดยึดกับพื้นที่

ประการที่หก เราไม่สามารถศึกษาเรียนรู้เรื่องอะไรเอง โดยไม่ดูว่าคนอื่นทำอะไร ไม่มีใครศึกษาเรื่องนั้น ๆ เป็นคนแรก ๆ โดยไม่อาศัยบ่าของคนอื่นขึ้นไป เราจึงเสนอให้ทำเครือข่ายเพื่อร่วมกันเสนอ paper ในเรื่องที่เราศึกษา แล้วหาคนวิพากษ์ เวียนไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในภาคเหนือ เพื่อเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเจ้าภาพและงบประมาณแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงในล้านนาคดีหลายเรื่องเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของ “โลกสมัยใหม่”[2] ที่นำมาสู่การจัดความสัมพันธ์ของผู้คน สิ่งของ ความเชื่อ ขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ ๆ และหลายเรื่องเป็นเรื่องที่เชื่อโยงกับอดีต เริ่มที่ อ.สมหมาย เปรมจิตต์ อ.วสันต์ ปัญญาแก้ว อ.ศรีเลา เกษพรหม เสนอให้มองความสัมพันธ์ของดินแดนล้านนาผ่านดินแดนอื่น ๆ ตั้งแต่สิบสองปันนา รัฐฉาน ลาว รวมไปถึงลังกา ผ่านตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่ผูกร้อยผู้คนผ่านการหยิบยืม แลกเปลี่ยน ปรับใช้ผ่านตำนานฉบับนี้ รวมถึงเสนอให้มองตำนานในฐานะประวัติศาสตร์ของวิธีคิด (อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ก็เสนอเช่นนี้ในงานวิทยานิพนธ์ ป.โท) มากกว่าการไปหาความจริงจากตำนาน เพราะตำนานไม่ได้แสดงแต่ภาพที่ปรากฎแต่สะท้อนการเมืองในตำนานระหว่างองคาพยพต่าง ๆ (สุวิภา จำปาวัลย์) รวมถึงขยายการศึกษาตำนานฉบับอื่น เช่น ตำนานเชียงรุ่ง เชียงตุง เมืองยอง และอื่นๆ มากกว่าติดยึดกับตำนานของเชียงใหม่ตั้งต้นในการอธิบายประวัติศาสตร์ล้านนา (ภูเดช แสนสา)

ในการศึกษาล้านนาคดีเราควร De-Centering ความเป็นศูนย์กลางของเชียงใหม่ เพราะการมองจากศูนย์กลาง (รวมถึงรัฐไทยด้วย) ทำให้เราไม่เห็นพลวัตของสิ่งอื่น ๆ (ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์) การศึกษาควรให้ความสำคัญกับแง่มุมใหม่ ๆ หลุดพ้นไปจาก “การศึกษาแบบน้อย/หนาน” ในแง่วิธีคิด รวมถึงหลุดพ้นไปจากมายาภาพความโรแมนติกต่าง ๆ (ชัยพงษ์) เพราะปรากฏการณ์ทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนา ตำแหน่งทางศาสนา การตอบโต้ความด้อยกว่าของคนลาว (เมือง/ล้านนา) เป็นการเมืองของการช่วงชิงความหมายการนิยาม (พิสิษฏ์ นาสี, ธรรศ ศรีรัตนบัลล์, สุนทร คำยอด)


บรรยากาศภายในงาน (2)
ที่น่าสนใจและคิดว่าเป็นเรื่องใหม่ คือ พิสิษฏ์ นาสี เสนอเรื่อง “ครูบาอุ๊กแก๊ส” ที่มิได้มีความหมายทางลบ แต่คือ การต่อรอง ตอบสนองต่อบริบท ศรัทธาใหม่ เขาให้ความสำคัญกับปฏิบัติการและกิจกรรมผ่านการมองแบบพุทธประชานิยมของครูบาสมัยใหม่ มากกว่าการแขวนป้ายว่าเป็นครูบาอุ๊กแก๊ส โดยพิสิษฏ์มองว่าครูบามี ๒ แบบ คือ ครูบาสาระถะนิยม และครูบาอุ๊กแก๊ส ซึ่งครูบาแบบหลังเกิดใต้เงื่อนใครต่างๆ ของสังคม ภายใต้การหยิบยืมเปลี่ยนปรับความเชื่อ พิธีกรรมที่มีแต่เดิม และภายใต้กระแส “ล้านนานิยม” ทำให้ครูบาเหล่านี้มีตำแหน่งแห่งที่ที่ตั้งมั่น ซึ่งเขาได้อธิบายผ่านพิธีกรรมเข้านิโรธกรรม และการสร้างพระเจ้า “โครต” ทันใจ รวมถึงเขาได้เข้าไปวิวาทะกับงานศึกษาครูบาก่อนหน้าอย่าน่าสนใจ (ขออ่านจากคนเสนอเอง)

ภายใต้ความเป็นล้านนานิยมที่เป็นชายขอบ ทำให้เกิดการตอบโต้ความด้อยกว่าของเป็นล้านนา โดยสุนทร คำยอด ได้ใช้งานของ อ.ไชยวรศิลป์ มาเป็นตัวอย่าง ที่สะท้อนให้เห็นการต่อสู้ แย่งชิง เพื่อทำลายมายาภาพความเป็นลาว คนเมือง ใจง่ายของคนในล้านนาประเทศชายขอบ ที่เกิดมาเนิ่นนานแล้ว และมีการใช้วรรณกรรมในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างไทเหนือกับไทยใต้ (สุนทร)

นอกจากนี้เราไม่สามารถศึกษาล้านนาแบบตะตึ่งโนง ตะต่อนยอนแบบเดียว โดยไม่มองว่ามันมีการปรับเปลี่ยน หยิบยืม แล้วเถลิงความเป็นปราชญ์ ผู้รู้ ความเก่าแก่แบบเบ้า เพื่อสถาปนาความจริงแท้แต่ฝ่ายเดียว แต่หลายสิ่งหลายอย่างเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Invented of Traditions หรือประเพณีประดิษฐ์ แต่เรากับติดยึดว่าคือ ความจริงแท้ จนไม่อาจไถ่ถอน เดินไปข้างหน้าก็ไม่ได้ แลไปข้างหลังก็ลำบาก ซึ่งเรื่องนี้เห็นได้จากศึกษาดนตรีล้านนา และอื่น ๆ (สงกรานต์ สมจันทร์) รวมถึงหลักสูตรการศึกษาที่นำเอาซอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาผ่าน "ปราชญ์" ที่ศรีนวลตั้งคำถามว่าใครเป็นคนสถาปนา (ธนาพงษ์ หมื่นแสน)

บรรยากาศภายในงาน (3)

ท้ายที่สุดเราไม่สามารถอธิบายล้านนาแบบโดดเดี่ยว โดยไม่เหลียวมองกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในงานนี้ ธรรศ ศรีรัตนบัลล์ ได้พาเราเข้าไปสู่โลกของไต ผ่านตำแหน่งทางศาสนาที่แสดงตำแหน่งแห่งที่ของคนไทใหญ่ และตำแหน่งทางศาสนานั้นก็มีการเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง มีการต่อรองปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ เช่น การทำสัมปทานป่าใหม่ ในลักษณะลูกข่าม-พ่อ/แม่ข่าม ซึ่งการทำสัมปทานป่าไม้ได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในหลายระดับทั้งการค้าข้ามแดน นโยบาย และแรงงานที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ รวมถึงล้านนาที่เป็นยุทธศาสตร์ของการต่อสู้แย่งชิงของมหาอำนาจสยาม อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งหลายเรื่องเรายังไม่เข้าใจ และยังไม่ได้ศึกษา (อำนวยวิทย์ ธิติบดินทร์)

ท้ายสุดผู้สรุปก็ได้ฟังบ้างไม่ได้ฟังบ้าง ขาดตกบกพร่องในการสรุป ลดทอน/เกินเลยการตีความของผู้นำเสนอไปบ้าง แต่ทั้งคือสิ่งที่เราสามารถทำได้ต่อไปในอนาคต และหลายเรื่องก็เห็นต่างกัน



เชิงอรรถ


[1] การประชุมวิชาการเรื่อง “ทบทวน ท้าทาย ล้านนาคดีศึกษาสู่ทศวรรษใหม่” ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ ห้องประชุมชั้น ๔ อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษา ครั้งที่ ๑๓ ในงานนี้ต้องขอขอบคุณ อาจารย์ ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง, อ.แสวง มาละแซม
และ ผศ.ดร. วสันต์ ปัญญาแก้ว ที่ช่วยเหลือร่วมคิด ร่วมจัด เพื่อขับเคลื่อนล้านนาคดีให้ก้าวไปข้างหน้า


[2] คงมีหลายเรื่องที่ผมอาจตกหล่นไป แต่สาระหลักคงประมาณนี้ และที่สำคัญในเรื่องที่แต่ละท่านเสนอในงานก็มีความสำคัญอย่างมาก ควรเริ่มที่ของ อ.อานันท์ ไปฟังในคลิปนะครับ อ.เสนอหลายเรื่อง ๕๕๕



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.