Posted: 04 Jun 2017 11:36 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)


ราวสองสามวันก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับมิตรสหายนักจิตวิทยาการศึกษาท่านหนึ่งต่อประเด็นร้อนในแวดวงการศึกษาว่าด้วยเรื่อง “วินัย” (Discipline) เลยได้มีโอกาสเปิดดูพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 พบการให้ความหมาย คำวินัย ว่าเป็น ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ ข้อปฏิบัติ น่าสนใจ คิงส์เบอรี่ (Joseph Vingsbury) อธิบายว่า “วินัย” หมายถึงการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลซึ่งอาจทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การใช้กฎ ข้อบังคับ คำสั่ง และการบังคับโดยใช้การลงโทษเป็นเครื่องหนุน หรือ โดยการสั่งสอน ฝึกอบรม เพื่อให้เกิดประสบการณ์ในการมีความพร้อมรับผิดชอบ

ผู้เขียนอ่านแล้วจึงเข้าใจได้ว่า “การฝึกวินัยในเด็กและพลเมือง” นั้นเป็นเรื่องการฝึกกายให้อยู่ในวิถีและพฤติกรรมบางอย่างเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อตนเองและชีวิตรวมหมู่เมื่ออยู่ในสังคมร่วมกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อกัน อันจะนำไปสู่การเกิดความงอกงามในหมู่ชนเหล่านั้น คิงส์เบอรี่เองยังระบุว่า การสร้างวินัยมีทางเลือกอยู่สองวิธีเป็นอย่างน้อย ในวิธีที่สองก็อาจออกแบบได้ว่าใครจะเป็นผู้อบรมและอบรมสั่งสอนด้วยวิธี ไหน

นักจิตวิทยาการศึกษาสมัครเล่นชี้ให้เห็นมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ความคิดและภูมิปัญญาด้านการศึกษาว่าพวกสำนักคิดพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ซึ่งไม่ค่อยให้คุณค่าต่อสิทธิเสรีภาพและการเคารพกันบนฐานความเท่าเทียมอย่างเต็มใจ ทว่ากลับเน้นการฝึกโดยการลงโทษแล้วให้รางวัล ด้วยการทำซ้ำๆๆ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย หากแต่ก็ไม่อาจทำให้เข้าใจถึงความหมายว่า เหตุใดต้องมีกิริยาและวิถีปฏิบัติตามที่ถูกฝึกอบรมมา แม้วินัยที่ถูกสร้างผ่านกฎหมายในสังคมทั่วไปที่อยู่นอกเหนือไปจากสังคมโรงเรียนนั้นก็อาจไม่บรรลุผลได้เช่นกัน กล่าวคือ การสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในหมู่ชนที่จะสร้างสรรค์หรือประคับประคองสังคมให้เกิดความรับผิดชอบต่อตนเองและชีวิตรวมหมู่เมื่ออยู่ร่วมกัน สิ่งที่มักพบเจอบ่อยครั้ง เช่น เมื่อใช้รถบริการโดยสารสาธารณะอย่างเช่นแท็กซี่ เราค้นหาสายคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับคนนั่งเบาะหลัง คนขับแท็กซี่ก็มักอาจจะบอกว่า ไม่ต้องคาดเข็มขัดก็ได้ ตำรวจไม่มี หรือคนขับรถจำนวนมากในบ้านเราก็บอกว่าไม่ต้องคาดก็ได้ ตำรวจไม่มีแถวนี้ การบังคับให้คาดเข็มขัด ซึ่งเป็นวินัยการขับขี่รถยนต์กับความรับผิดชอบต่อชีวิตตนและคนอื่น หรือต่อทรัพย์สินและอื่นๆ ในสังคมเมือง หรือสังคมที่ไม่มีการเดินทางด้วยเท้านั้น จึงไม่ค่อยเกิดมรรคผลเท่าที่ควร

ความหมายการฝึกวินัยของสำนักคิดอื่นๆ อาทิ แนวมนุษยนิยม (Humanism) ซึ่งให้ค่ากับความเป็นธรรม เสรีภาพของมนุษย์และเคารพเจตจำนงอิสระของปัจเจก จึงเน้นสร้างให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่นำไปสู่ความรับผิดชอบในตัวเด็กหรือผู้เรียนในพื้นที่ทางการศึกษา ผ่านการชวนคุย หรือสร้างสภาพแวดล้อม ทั้งยังหาแบบอย่างมาเป็นตัวแบบ (model) ในการปฏิบัติ และสิ่งสำคัญยังได้เน้นว่า วินัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กเข้าใจว่าพวกเขานั้นต้องรับผิดชอบต่อตนเองและคนหมู่มาก พวกเขาก็จะค่อยๆสร้างวินัยที่เกิดจากในตัวตนของพวกเขาเองขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย

ครูจิตวิทยาในโรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่ง ได้แจงว่า เมื่อโรงเรียน ได้มีการสร้างข้อตกลงร่วมกันที่เน้นการมีวินัยในตัวเด็กนักเรียนบนฐานคิดมนุษยนิยม ด้วยการไม่บังคับหรือบอกว่าต้องทำตามคำสั่ง ครูฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่กวดขันระเบียบวินัยจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมี ทว่ากลับให้คุณค่าไปที่ครูฝ่ายแนะแนวแทน ครูแนะแนว จะทำหน้าที่ปกครองเชิงชีวญาณในด้านบวกกับตัวเด็กผ่านการชวนคุย พูดคุย ชี้นำค่านิยมในทางบวกและให้คำปรึกษา เช่น เมื่อเด็กวิ่งเล่นบนระเบียงโรงเรียน ในขณะที่ห้องเรียนอื่นกำลังเรียนอยู่นั้นหรือพื้นระเบียงอาจไม่ปลอดภัยแล้วอาจทำให้เด็กหกล้มหรือได้รับบาดเจ็บ ครูจะไม่เลือกที่จะสร้างวินัยผ่านการออกคำสั่งว่า “ห้ามวิ่งบนระเบียง ใครวิ่งจะจับตีก้น” หากแต่ครูจะชวนเด็กมาพูดคุยเรื่องการรบกวนการเรียนของห้องเรียนอื่นซึ่งต้องการความเงียบ หรือชี้ให้เห็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเด็ก เมื่อทำให้เด็กเข้าใจในเหตุผลของการห้าม ครูจะให้เด็กเป็นผู้เสนอวิธีการลงโทษคนที่ฝ่าฝืน เด็กคนหนึ่งเสนอโทษว่า เขาจะเดินกลับไปยังที่เดิมและจะเดินมาหาครูใหม่ และที่สำคัญต้องให้เด็กเผยว่าทำไมจึงไม่ทำตามข้อตกลง บางคนบอกว่า ดีใจที่เห็นครู เลยรีบวิ่งมาหา บางคนบอกว่าลืม แต่ที่ไม่ลืมคือการขอโทษต่อเพื่อนห้องอื่นและกลับไปเดินมาใหม่

ตัวอย่างอันเป็นแนวทางอย่างง่ายที่กล่าวยกไปในข้างต้นนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่า การสร้าง “วินัย” นั้นมิใช่เพื่องเพื่อก่อให้เกิดวินัยที่ไร้รากของความรับผิดชอบร่วมต่อตนเองและสังคมหมู่มาก วินัยของหมู่เหล่าที่เคยได้รับการปฏิบัติจนเคยชิน ทั้งยังถูกมองว่าเป็นความงามและอารยธรรมก็กลายเป็นสิ่งล้าสมัยต้องปรับเปลี่ยนไปก็มากโขเมื่อวิธีคิดการอยู่ร่วมกันเปลี่ยนไป

คนสยามในอดีต โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง ผู้หญิงจะมีกิริยาท่าทางที่สุภาพงดงามก็ต่อเมื่อนั่งพับเพียบ ผู้ชายต้องนั่งขัดตะหมาด แต่เมื่อสยามต้องเผชิญกับผู้มีอำนาจทางตะวันตก ซึ่งมองว่าการหมอบกราบ หมอบคลาน เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความศิวิไลช์ มีแนวโน้มเอียงไปทางป่าเถื่อนและปฏิเสธที่จะแสดงความสุภาพนบน้อมตามจารีตท้องถิ่นต่อองค์พระประมุข โดยที่อ้างว่าเป็นจารีตซึ่งมองคนไม่เท่ากัน ในที่สุดสยามก็ปรับเปลี่ยนให้ขุนนางที่เข้าเฝ้า เริ่มนั่งเก้าอี้ มีเรื่องเล่าว่า คนสยามนั่งเก้าอี้ไม่เป็น ผู้หญิงขึ้นไปนั่งพับเพียบส่วนผู้ชายขึ้นไปนั่งขัดตะหมาดบนเก้าอี้ เป็นที่ขำๆๆ ของพวกฝรั่งและพวกหัวนอก จนร้อนถึงล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ที่ต้องออกประกาศถึงวิธีการนั่งเก้าอี้ที่ถูกต้อง กล่าวคือ ให้เอาก้นเท่านั้นอยู่บนเก้าอี้ ขาต้องห้อยลงมาข้างล่าง ส่วนในสถานศึกษานั้น นับตั้งแต่มีโรงเรียนสมัยใหม่ก่อตั้งขึ้นมา การจัดการศึกษาและโรงเรียนสำหรับทวยราษฎร์เท่านั้นที่เน้นให้สอนวินัย มีการอ้างว่าเด็กๆ จากครอบครัวชนชั้นเลว คือ ต่ำศักดิ์ไม่ได้สอนวินัยให้ลูกหลานมีความเชื่อฟังต่อรัฐและมีความเข้าอกเข้าใจต่อการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ ซึ่งต่างจากครอบครัวชนชั้นสูงที่สอนเด็กมาแล้วเป็นอย่างดี เด็กในโรงเรียนชนชั้นสูงจึงไม่ต้องเน้นการสร้างวินัยมากนัก (อาจไม่จริงเสมอไปในกรณีของ วชิราวุธวิทยาลัยและโรงเรียนในลักษณะใกล้เคียง) เพียงแต่เน้นให้สร้างความเข้มวิชาการอย่างเดียว

ยกจากกรณี “โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยบางแห่ง” อันมีสภาพคล้ายคลึงโรงเรียนของชั้นชั้นนำในอดีต ที่เน้นการสอนวินัยในแบบทหารจึงดูมีความแปลกประหลาด ทั้งในเรื่องไปดูหมิ่นหาความว่าชนชั้นสูงและชนชั้นกลางไทยในปัจจุบันสอนวินัยลูกไม่เป็น มิหนำซ้ำลูกๆยังถูกฝึกแบบชนชั้นไพร่ทาสเสียอีก ซึ่งวินัยแบบนี้ในอดีตนั้นมุ่งแต่ให้กับราษฎรต่ำศักดิ์เท่านั้น กล่าวคือ การศึกษาที่เน้นวินัยนั้นประสงค์มุ่งสร้างราษฎรสามัญให้มีคุณลักษณะเชื่องๆ มิได้มุ่งเน้นที่จะให้มีความคิดความอ่าน หรือหาความแตกฉานในสิ่งที่เล่าเรียนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจของผู้เขียนนั้น การเกิดขึ้นของ “โรงเรียนสาธิต” ในประวัติศาสตร์การศึกษาของประเทศที่สังคมมีอารยะและมีลักษณะเสรีประชาธิปไตยนั้น มิได้ถูกก่อตั้งมาด้วยปรัชญาที่แปลกๆปลอมๆหรือไทยๆอย่างที่ได้เสนอไปในข้างต้น แท้ที่จริงแล้วกลับตั้งขึ้นมาเพื่อจะอบรมบ่มเพาะหรือสอนเด็กให้ตื่นรู้และก้าวพ้นจากจารีตข้างต้นต่างหาก ตามปรัชญาการศึกษาแนวก้าวหน้า อาทิ สำนักคิดพิพัฒนาการนิยม (progressivism ที่เน้นเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการการลงมือทำ หรือสำนักคิดปฏิรูปนิยม (reconstructionism) หรือแม้การจัดการเรียนการสอนที่อิงอยู่ตามกรอบทฤษฎีการเรียนรู้ในแนวการสร้างสรรค์ความรู้ (constructivism) ทั้งในแนวปัญญานิยมของเพียเจย์หรือในแนวสังคมและวัฒนธรรมของไวก๊อตสกี้

ที่เขียนมายืดยาวนั้น ก็เพียงต้องการแสดงจุดยืนและมีความเห็นว่า การสร้างวินัยที่ดีในพื้นที่ทางการศึกษานั้น ต้องเป็น “วินัยเชิงบวก” อีกทั้งในทางทฤษฎีการศึกษานั้น ก็ควรวางอยู่ฐานคิดทางปรัชญาการศึกษาแบบมนุษยนิยม (Humanism) ที่เชื่อเน้นในศักยภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์ความรู้ (construction of knowledge) ให้เกิดการเติบโตทางปัญญาได้อย่างก้าวหน้า แต่ก็คงเป็นที่น่าเสียดาย หากข้อเสนอว่าด้วย “การสร้างวินัย” ดังกล่าวนี้ ดำเนินไปคนละทิศละทางกับรูปแบบวิธีคิดที่แฝงฝังอยู่กับระบบอำนาจนิยมในสังคมของการจัดการศึกษาที่หล่อหลอมบางลักษณะวิธีให้เราปฏิบัติต่อเด็กในเรื่องการสร้างวินัย ที่กระทำกันอยู่ในวิถีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกลำดับชั้น

วิธีคิด แนวทางหรือความเชื่อที่ว่าการนำเอาทหารมาสอนระเบียบวินัยในสถานศึกษาบางแห่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วนั้น จึงเป็นเพียงตัวอย่างเชิงประจักษ์ของความคิดที่ผิดฝาผิดตัวของเหล่าบรรดานักการศึกษา รวมทั้งคนในแวดวงวิชาการสายศึกษาศาสตร์-ครุศาสตร์ คือมีความย้อนแย้งของบางมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่มีต่อทั้งหลักวิชา ปรัชญาแนวคิดพื้นฐานและทฤษฎีทางการศึกษาที่พวกเรามักประกาศก้องว่าเรากำลังจัดการเรียนรู้บนฐานการสร้างสรรค์ความรู้ มุ่งสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21 หรือการศึกษาแบบ 4.0 แต่ทว่าสถานศึกษาหรือบุคคลากรในสถาบันการผลิตครูและบุคคลากรทางการศึกษาบางแห่งกลับเห็นดีเห็นงามและเลือกยืนยันที่จะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในพื้นที่สถานศึกษาที่มีลักษณะของกิจกรรมอันเคลือบผ่าน “หลักสูตรแฝง” (Hidden Curriculum) ต่อตัวผู้เรียนให้ได้เรียนรู้วินัยภายใต้อุดมการณ์แบบอำนาจนิยม


เกี่ยวกับผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และหัวหน้าศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.