Posted: 13 Jul 2017 02:21 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

นักธุรกิจกาตาร์วางแผนนำเข้าวัวนม 4,000 ตัวด้วยการขนส่งทางอากาศ โดยเมื่อวันอังคารนี้วัวนมล็อตแรกมาถึงกาตาร์แล้ว โดยนักธุรกิจผู้นี้เปิดเผยว่าต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามยุทธศาสตร์กาตาร์ที่มุ่งลดการพึ่งพาธุรกิจปิโตรเลียม และเมื่อถูกซาอุดิอาระเบียนำชาติอาหรับคว่ำบาตร ธุรกิจเกษตรของเขาจึงเร่งมือทำตามแผนให้เร็วขึ้น



(ซ้าย) วัวนมในปศุสัตว์แห่งหนึ่ง (ขวา) มุทัส อัล คายัต ประธานบริษัทพาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิง ซึ่งเตรียมขยายกิจการจากธุรกิจก่อสร้างมาทำธุรกิจด้านการเกษตร (ที่มาของภาพประกอบข่าว: geograph.org.uk/powerholding-intl.com)

13 ก.ค. 2560 หลังซาอุดิอาระเบียและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับสั่งคว่ำบาตรกาตาร์โดยอ้างว่าพวกเขาสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งทางกาตาร์ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด การกีดกันของกลุ่มประเทศอาหรับทำให้กาตาร์เผชิญอุปสรรคเรื่องการนำเข้าสินค้าและการเดินทางของผู้คนที่ต้องการสัญจรข้ามประเทศ ถึงแม้ว่ากาตาร์จะเป็นประเทศที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับชั้นนำของโลกแต่ก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งอาหารจากหลายประเทศ การถูกแบนในครั้งนี้ส่วนหนึ่งทำให้พวกเขาถูกปิดเส้นทางการนำเข้าด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประเทศกาตาร์มีจีดีพีสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกจากรายงานปี 2559 และถูกจัดว่าเป็นประเทศร่ำรวยสูงสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ทำให้กาตาร์ต้องใช้เส้นทางการค้าใหม่เพื่อการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์และอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวัว 165 ตัวจากประเทศเยอรมนีที่พร้อมจะให้นมมีการใช้เส้นทางลำเลียงจากบูดาเปสต์ประเทศฮังการี โดยบริษัทนำเข้า พาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิง บอกว่าผลิตภัณฑ์นมจากโคเหล่านี้จะส่งถึงตลาดภายในประเทศภายในสัปดาห์นี้

นอกจากเยอรมนีแล้วพวกเขายังนำเข้าโคนมจากประเทศอื่นๆ อีกอย่างออสเตรเลีย สหรัฐฯ โดยจะทยอยลำเลียงเข้าสู่กาตาร์เรื่อยๆ ทุกๆ 3 วัน จนกระทั่งพวกเขานำเข้าวัวรวม 4,000 ตัว ภายในเวลา 1 เดือน

นอกจากวัวแล้ววกเขายังนำเข้าสินค้าจำพวกนมต่างๆ จากตุรกี และนำเข้าผลไม้จากเปรูและโมร็อกโกด้วย

ก่อนหน้าที่พวกเขาจะถูกแบนจากกลุ่มอ่าวอาหรับกาตาร์นำเข้าสินค้าจำพวกนมจากซาอุดิอาระเบียเพื่อเลี้ยงประชากร 2.7 ล้านคน บริษัท พาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิง เปิดเผยว่าการนำเข้าวัวของพวกเขาจะสามารถตอบสนองความต้องการของคนในประเทศได้ราวร้อยละ 30

เดือนก่อนหน้านี้ มุทัส อัล คายัต ประธานบริษัทพาวเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิง กล่าวว่าจะใช้เที่ยวบินทั้งหมด 60 เที่ยวบินโดยสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส เพื่อลำเลียงวัวซึ่งมีน้ำหนักเฉลี่ยต่อตัวราว 590 กิโลกรัม "เวลานี้เป็นเวลาที่ผมจะทำงานเพื่อกาตาร์"

กิจการของ อัล คายัต หลักๆ ก็คือธุรกิจก่อสร้าง เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้เขาได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจการเกษตร โดยสร้างฟาร์มอยู่ห่างจากโดฮาไปทางตอนเหนือ 50 กม. เขาบอกว่าความมั่นคงทางอาหารเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์รัฐบาลกาตาร์ที่จะทำให้กาตาร์ลดการพึ่งพาเงินรายได้จากปิโตรเลียม เช่นเดียวกับที่ซาอุดิอาระเบียมี "วิชัน 2030"

โดยฟาร์มของอัล คายัต มีขนาดใหญ่เท่ากับสนามฟุตบอล 70 สนาม โดยจะผลิตนมและเนื้อจากแกะ นอกจากนี้เคยคิดจะนำเข้าวัวมาทางทะเล แต่เมื่อกาตาร์ถูกคว่ำบาตรจึงเร่งโครงการนี้อีก โดยผลิตภัณฑ์นมวัวจะเริ่มผลิตตั้งแต่ปลายเดือนนี้ เร็วขึ้นจากกำหนดเดิมคือกันยายน ทั้งนี้การเปลี่ยนแผนนำเข้าวัวนมจากการขนส่งทางเรือมาเป็นเครื่องบิน ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 5 เท่า หรือราว 8 ล้านเหรียญสหรัฐ

"ไม่มีใครรอบๆ ตัวผมที่รู้สึกว่าเกิดวิกฤต" อัล คายัตกล่าว "รัฐบาลทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบ"



เรียบเรียงจาก

Flying Cows to Qatar Is One Man’s Way to Beat the Saudis, Bloomberg, 13 June 2017

Qatar’s First Shipment ofAir-Lifted Cows Lands in Doha, Bloomberg, 12 July 2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Qatar

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.