Posted: 14 Jul 2017 01:16 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เวียนวนมาครบรอบทุกปี สำหรับข่าวคราวในรั้วมหาวิทยาลัย เช่นกรณีการรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีลักษณะของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกนำมาเผยแพร่ในสื่อโซเชียลมีเดีย จนเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ไปต่างๆ นาๆ ถึงเรื่องความเหมาะสม

แม้ว่าเรื่องราวของการรับน้องใหม่ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่รับรู้กันดีสำหรับกลุ่มผู้ที่เคยมีประสบการณ์ร่วมจากกิจกรรม แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าการเกิดขึ้นของ แฟนเพจเฟซบุ๊ก ANTI SOTUS มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ประเด็นเรื่องการรับน้องได้รับความสนใจจากผู้คนทั้งที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และนอกมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น

ประชาไท พูดคุยกับ เหน่อ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ว่าที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หนึ่งในทีมแอดมินเพจ ANTI SOTUS ถึงเจตนารมณ์ของการเริ่มต้นทำแฟนเพจเพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และรายงานเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรั้วมหาวิทยาลัย เขาระบุ 6-7 ปีของการทำงาน เจอทั้งการคุกคาม ข่มขู่ สะกดรอยตาม และบางคนในทีมเคยถูกทำร้ายร่างกาย แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือ ฝ่ายโซตัส เริ่มไม่กล้าออกมาแสดงเหตุผลในที่สาธารณ เพราะจะกลายเป็นการประจานตัวเอง


ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย หนึ่งในแอดมินเพจ ANTI SOTUS

เจตนารมณ์ครั้งแรกก่อนจะมาเป็น ANTI SOTUS

ตัวผมเองเข้าไม่ทันตอนก่อตั้งแต่เข้าใจว่า กลุ่มนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยเริ่มมีการพูดคุยกันเรื่องการรับน้องเริ่มต้นจากธรรมศาสตร์ และสุดท้ายก็จัดตั้งขึ้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล จนกลายเป็นกลุ่ม ปฏิรูปการรับน้องประชุมเชียร์แห่งชาติ ที่ใช้คำว่าแห่งชาติ เพราะเรามีเครือข่ายมหาลัยอยู่ทั่วประเทศ โดยเราเห็นปัญหาเรื่องโซตัสร่วมกันจึงมารวมกลุ่มกัน

กลุ่มนี้จัดตั้งขึ้นมาประมาณ 6-7 ปี อุปสรรคในการทำงานก็มีนะ มีเยอะ ทั้งการถูกล่าแม่มด การคุกคาม สะกดรอยตาม บางคนในกลุ่มก็ถึงขั้นโดนต่อย แต่พอมาช่วงหลังๆ ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มเริ่มมีชื่อเสียง และฝ่ายโซตัสเริ่มไม่กล้าออกมาพูดต่อสาธารณะ การคุกคามก็เริ่มลดลง

ถ้าอย่างนี้จะพูดว่าการคุกคามลดลงเพราะสังคมเริ่มเห็นด้วยและตระหนักถึงผลกระทบของการรับน้องถูกต้องหรือเปล่า

สังคมภายในมหาวิทยาลัยไม่ตระหนัก สังคมไม่เคยตระหนักเรื่องการรับน้องเลย เพียงแต่ว่า เราดำเนินการจนฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องโซตัสไม่กล้าที่จะออกมาพูดสนับสนุนในที่สาธารณะ เพราะว่าพอการรับน้องเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น รายการต่างๆ ก็เชิญกลุ่มสนับสนุนไปพูดคุยจนเหตุผลในการสนับสนุนการรับน้องของคนเหล่านี้มันฟังไม่ขึ้น มันเลยเหมือนกลายเป็นการประจานตัวเอง พอมันยิ่งหลายรายการมากขึ้นมันจึงเกิดเป็นบทเรียนให้คนเหล่านี้คิด และไม่ค่อยกล้าออกมาพูดกับสาธารณะ

เครือข่ายของกลุ่มมีกลุ่มไหนบ้าง


มีเยอะมากนะ เยอะจนจำไม่ได้ สมัยก่อตั้งแรกๆ เรามีมหาวิทยาลัยด้วยกันเป็นเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ แต่มันจะมาดรอปลงช่วงรัฐประหารปี 57 เพราะหลายคนเลือกที่จะไปสู้กับรัฐประหารมากขึ้น ยิ่งคนที่ไปสู้และได้รับผลการทบจากการรัฐประหาร ก็ยิ่งจะใจจดใจจ่อกับการต่อต้านรัฐประหาร เครือข่ายที่พูดเรื่องการรับน้องจึงน้อยลง จากที่เคยตกลงกันว่าจะพูดกันทั้งปี ก็กลายเป็นว่าจะมาพูดกันแค่ช่วงเทศกาลรับน้อง หลังจากนั้นก็กลับไปมุ่งกิจกรรมด้านการเมืองต่อ เพราะต้องยอมรับว่า ช่วงรัฐประหารช่วงนั้นการเมืองไทยระอุจริงๆ ทำให้ช่วงนั้นเครือข่ายต่างๆ ก็เริ่มหายไปบ้าง

แล้วเครือข่ายที่ว่านี้มีความสัมพันธ์เป็นอย่างไร

ความสัมพันธ์ของกลุ่มแอนตี้โซตัสกับเครือข่ายต่างๆ จะค่อนข้างอยู่กันแบบหลวมๆ โดยจะมีการพูดคุยกันประจำปีเพื่อถอดบทเรียนในปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งเชิญนักวิชาการมาพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาการรับน้อง อย่างในภาคเหนือ ก็มีกลุ่มสมัชชาเสรี ของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เป็นหัวขบวนใหญ่ และก็มีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภาคอีสานก็มีกลุ่มดาวดิน กลุ่มแสงแห่งเสรี ภาคใต้มีกลุ่มรักมอ.ปัตตานี อะไรประมาณนี้ ถ้าอยากรู้ว่าเรามีเครือข่ายกับใครลองดูในเพจว่า แอนตี้โซตัสกดไลค์เพจไหนไปบ้าง

แนวโน้มของกลุ่ม ANTI SOTUS เองจากเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเยอะหรือไม่


ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าช่วงหลังที่ผ่านมากลุ่มและเครือข่ายเริ่มไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกัน จากกลุ่มปฏิรูปการรับน้องจึงกลายมาอยู่ในรูปของแอดมินเพจมากกว่า เป็นกลุ่มคอยนำเสนอ โดยมีการเปิดรับแอดมินจากคนที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน คราวนี้ก็เริ่มที่จะเป็นระบบมากขึ้น

คิดว่ากลุ่มนี้จะมีต่อไปเรื่อยๆ ไหม

คิดว่ากลุ่มจะยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าที่การรับน้องยังมีอยู่ ถามว่าการรับน้องแบบผิดๆ จะหมดไปหรือไม่ ตอบชัดเจนเลยว่าไม่หมดแน่นอน เพราะถ้าสังคมไทยยังเป็นสังคมอำนาจนิยมแบบนี้ยังไงการรับน้องคงไม่หมดไปแน่นอน

มีมุมมองอย่างไรต่อการที่ผู้บริหารหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาผลักดันการรับน้อง

2 ปีที่ผ่านมามันกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วนะ ว่าทุกมหาวิทยาลัยจะประกาศเรื่องว่าการรับน้องจะต้องไม่ละเมิด จะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพ สังเกตได้ว่าก่อนหน้านั้นไม่เคยมี ถ้าถามว่ามันเป็นผลพวงของการทำงานของแอนตี้โซตัสหรือไม่ มันก็ส่วนหนึ่งนะ แต่ในอีกด้านมันคือการป้องกันตัว เพราะถ้าไม่ประกาศอาจารย์และมหาวิทยาลัยซวยแน่นอน เพราะเมื่อก่อนเรามักจะตั้งคำถามว่าเวลามีผลกระทบจากการรับน้องเกิดขึ้น อาจารย์ทำไรกันอยู่ เพราะถ้าพูดในระดับโครงสร้างอาจารย์คือกลุ่มคนที่ชอบโซตัส ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากมีงานอะไรที่ต้องการคนเยอะๆ อาจารย์จะเกณฑ์คนมาอย่างไร แน่นอนว่าก็ต้องไปบอกอาจารย์ ซึ่งสามารถสั่งการไปยังรุ่นพี่ให้บังคับรุ่นน้อง ให้มาเข้าร่วมงานที่วางไว้เท่านี้ก็ได้คนตามจำนวนที่ต้องการ โดยบางทีก็แลกกับการให้คะแนน พอมาส่วนนี้ก็จะเกี่ยวกับเรื่องจรรยาบรรณอีกว่าให้คะแนนง่ายๆ แบบนี้แลกกับการเข้าร่วมงานได้หรือ?

กรณีที่มีการออกมาประกาศว่า การรับน้องที่รุนแรงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ส่งผลอะไรบ้างหรือไม่

เรียนตามตรงว่าตัวผมเองไม่ได้สนใจเรื่องกฎหมาย แต่ผมสนใจกระบวนการยุติธรรมมากว่า เพราะไม่มีใครเคยโดนดำเนินคดีทางกฎหมายในกรณีรับน้องมาก่อน ยกเว้นถ้ามีการเสียชีวิตอันนี้มีแน่ แต่ขั้นตอนการรับน้องอื่นไม่เคยเห็นใครเคยได้รับบทลงโทษ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน ตอบได้เลยว่าอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น กรณีรับน้องที่จังหวัดน่าน พอมันเกิดปัญหาขึ้นผู้ปกครองก็พาน้องไปแจ้งความ เริ่มแรกมีการไกล่เกลี่ยที่มหาวิทยาลัยก่อน ต่อมาจึงไปไกล่เกลี่ยกันที่โรงพัก โดยน้องที่เป็นเหยื่อเล่าให้ฟังว่า ตำรวจพูดว่า ถ้าคุณแจ้งความคุณอยู่ลำบากนะ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจากการแจ้งความของคุณอยู่จังหวัดน่านทั้งนั้น มันเลยดูเหมือนเป็นการไกล่เกลี่ยเชิงข่มขู่มากกว่า

การรับน้องที่ผ่านมา มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

มีอยู่บ้างแต่ต้องยอมรับว่าน้อย ซึ่งในอนาคตแม้มันจะเปลี่ยนแปลงไปอีกแต่ผมมองว่ามันเป็นแค่เปลือกมากกว่า เพราะว่ามันเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และมันมีวาทกรรมใหม่ที่สร้างมาหลังจากนั้นคือ รับน้องสร้างสรรค์ เช่น มหาวิทยาลัยพาน้องไปปลูกป่า ไปดำนา แต่หารู้ไม่ว่ามันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมเท่านั้น พอกลับเข้ามหาวิทยาลัยรุ่นพี่ก็เอากิจกรรมแย่ๆ มารับน้องอีก ถ้าพูดง่ายๆ คือมันเป็นการเอาคำว่ารับน้องสร้างสรรค์มาครอบไว้ แต่กระบวนการในการรับน้องที่เป็นการบังคับยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการรับน้องจะเปลี่ยนแปลงไปก็ต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น การที่มีเด็กเคยจมน้ำที่ม.เกษตร ศรีราชา ปีต่อมาการรับน้องก็เปลี่ยนไป แต่มันก็ยังเป็นการรับน้องแบบอำนาจนิยมเหมือนเดิม

ที่เราพูดถึงความรุนแรงของการรับน้องทุกวันนี้เป็น Hazing มันคือการรับน้องแบบป่าเถื่อนจากประเทศอเมริกา แต่ SOTUS จริงๆ มันคือโครงสร้างเชิงอำนาจนิยมหรือการกดขี่ มันจะยิ่งชัดเจนและรัดตรึงมากขึ้น บางมหาวิทยาลัยปลุกให้น้องตื่นมาด้วยความกลัวและให้น้องหลับไปพร้อมความกลัว

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ วิธีคิดแบบประชาธิปไตยไม่เคยมีในการรับน้องเลย คือที่ผ่านมาเราจะเห็นแต่ความเป็นอำนาจนิยมอย่างเดียว เพราะการศึกษาของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นชั้นประถมหรือมัธยมศึกษาคุณจะรู้สึกว่าคุณอยู่ภายใต้อำนาจนิยมของครู และคุณคิดว่าเมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยจะมีอิสระมากขึ้นแต่เอาเข้าจริง คุณกลับโดนรุ่นพี่เข้ามาบังคับให้ทำสิ่งต่างๆตั้งแต่ยังไม่เริ่มเรียนเลยด้วยซ้ำ

คนไทยที่ผ่านระบบการศึกษาไทยมาทั้งหมดจนกระทั้ง ป.ตรี หรือ ป.โท หรือ ป.เอก เพราะบางมหาลัยมีรับน้อง ป.โทกับ ป.เอกด้วยนะ คุณไม่มีทางหลุดพ้นวิธีคิดแบบ SOTUS ได้ เพราะเรายังไม่สามารถกะเทาะเปลือกความเป็น SOTUS ได้เลยด้วยซ้ำ

รูปแบบของการรับน้องแบบนี้ก็จะมีไปเรื่อยๆ ถูกไหม

ในกลุ่มก็คุยกันไม่ตกเกี่ยวกับประเด็นนี้ จริงๆ เรามองว่าการรับน้องไม่ควรมีเลยด้วยซ้ำ ถ้าตอบแบบสุดโต่งโดยส่วนตัวผมมองว่าไม่ควรมี แต่ยังไงแล้วมันต้องเป็นการประนีประนอม การรับน้องมันก็มีได้ โดยเริ่มจากการมีประชาธิปไตยในการรับน้องก่อนคือ ต้องให้น้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย ไม่ใช่เริ่มมาก็เกณฑ์คนไปปลูกป่า ดำนา ทุกคน แค่เริ่มมาเป็นแบบนี้ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว เพราะแบบนี้จึงต้องมี Anti Sotus พูดง่ายๆ คือ 1.ต้องไม่บังคับ 2.ต้องมีการพูดคุยร่วมกัน 3.ต้องไม่มีบทลงโทษ การจะเรียกว่าการรับน้องแบบประนีประนอมผมมองว่ามีแค่กิจกรรมสันทนาการก็พอแล้ว การจะทำให้คนมารู้จักกันมันมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก กิจกรรมง่ายๆ อย่างการชวนเล่นเกมออนไลน์ ก็ทำให้คนรู้จักกันได้แล้ว

การจะมาพูดว่าต้องการรับน้องเพื่อสร้างความสามัคคีผมมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าคุณมองว่าสังคมมันมีความต่างนะ ยังไงความสามัคคีไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ในระยะยาว แต่ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์เฉพาะเท่านั้นเช่น ประเทศชาติเกิดสงคราม เพราะฉะนั้นคุณต้องมองสังคมในมุมมองของความเป็นจริงบ้าง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.