Posted: 17 Jul 2017 09:17 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ชี้ผลกระทบ ก.ม.แรงงานคนต่างด้าวใหม่ แรงงานหายไปจากตลาดทะเลไทยและตลาดค้าปลาอื่นๆ ขอรัฐเสนอข่าวไม่ขัดแย้งกัน จะทำอะไรควรมีเวลาให้ลูกจ้างและนายจ้างได้เตรียมตัวกัน


แฟ้มภาพ ประชาไท

17 ก.ค. 2560 จากกรณีเมื่อเดือนที่ผ่านมารัฐบาลออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 จนสร้างผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างในวงกว้าง แรงงานจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ ก่อนที่วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 33/2560 เลื่อนใช้บทลงโทษ 4 มาตราใน พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ให้นายจ้างและลูกจ้างดำเนินการตามกฎหมายใหม่ภายใน 1 ม.ค. 2561 แทน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 18 ก.ค. พ.ศ. 2560 รายงานว่า สมพจน์ ยิ่งยวด ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับ ไตรพล ตั้งมั่นคง ที่ปรึกษา ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การบังคับใช้ 4 มาตรา ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คือมาตรา 101, 102, 119 และมาตรา 122 ซึ่งเข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นนั้น ได้ก่อปัญหาให้กับขบวนการจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก ทั้งยังปฏิบัติยาก เมื่อลูกจ้างกับนายจ้างเกิดความกลัว ก็เลยต้องกลับไปตั้งหลักที่ประเทศของตนก่อน จึงขอให้ภาครัฐเขียนกติกาที่ชัดเจน แล้วแจ้งให้ประชาชน-นายจ้าง-ลูกจ้างต่างด้าว ได้ทราบ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดการรับรู้ในทางเดียวกันและข่าวต้องไม่ขัดแย้งกัน จึงอยากเสนอว่าเมื่อรัฐจะทำอะไรก็ตาม ควรมีเวลาให้ลูกจ้างและนายจ้างได้เตรียมตัวกันตามสมควร

“สภาพขณะนี้ทางสมาชิกของชมรม ก็ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะแรงงานหายไปจากตลาดทะเลไทยและตลาดค้าปลาอื่นๆ ประกอบกับขณะนี้เรือประมงก็ออกหาปลากันไม่ได้ สินค้าสัตว์นํ้าก็มีเข้ามาค้า-ขายในตลาดน้อยอยู่แล้วจึงถูกซํ้าด้วยปัญหาคนงานที่หายไปอีก” ประธานชมรมผู้ขายปลาฯ กล่าว

สมพจน์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้ยากในทางปฏิบัติก็คือสภาพแรงงานต่างด้าวยังไม่นิ่ง ดังนั้นถ้าจะให้การจ้างงานสงบ ก็ควรอนุญาตให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ทั้งปี เหตุเพราะทั้งล้งและเรือประมง ต่างก็มีปัญหากันทั้งปี ดังนั้นเมื่อราชการปิดการจดทะเบียน แต่เกิดปัญหาการจ้างงานขึ้น นายจ้างก็ไม่สามารถขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวได้ในช่วงนั้น ทางชมรมจึงอยากเสนอให้มีการจดทะเบียนและการขออนุญาตใช้แรงงานได้ทั้งปี เหมือนการทำบัตรประชาชนหรือการขอใบอนุญาตต่างๆ ทั่วไป เพราะสภาพลูกจ้างย้ายนายจ้าง หรือนายจ้างย้ายลูกจ้าง มีเกิดขึ้นทุกวัน จะได้สับเปลี่ยนกันได้ตลอดเวลา ในช่วง 180 วันที่ทำการผ่อนผันจึงน่าจะทำเรื่องการจดทะเบียนขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวได้อย่างไม่ต้องมีการจำกัดเวลา โดยถือเป็นวาระแห่งชาติและให้เป็นวาระเร่ง ด่วน

“การผ่อนผันไป 180 วันก็อาจจะทำกันไม่ทัน เพราะเมื่อลูกจ้างเดินทางกลับประเทศของตนแล้วจะกลับมาอีกก็มีความยุ่งยากมากมาย ขณะนี้พวกที่เดินทางกลับประเทศของตนมีทั้งแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายและพวกที่อยากกลับอยู่แล้ว” สมพจน์ กล่าว

นอกจากนี้ กำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตนเห็นด้วยกับการจัดระเบียบ แต่ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป สภาพที่เกิดขึ้นก็เพราะมีผู้ทำผิดกฎหมายเยอะและมีการทำให้คนเกิดความกลัว ซึ่งทางรัฐควรทำประชาคมให้เรียบร้อยก่อน ไม่ใช่ก่อให้เกิดผลกระทบแล้วมาตามแก้ภายหลัง ซึ่งก็จะยุ่งยากและเกิดความเดือดร้อนต่างๆ ตามมา

“ทางด้านประมงนั้นได้รับผลกระทบมาเป็นปีแล้ว เนื่องจากเรือต้องจอดและไม่มีแรงงานลงเรือ ทางออกที่รัฐน่าจะทำคือ การอนุญาตให้มีการจดทะเบียนแรงงานทดแทนในระยะสั้น หรือการผ่อนผันชั่วคราวด้วยใบอนุญาตทดแทน เพื่อให้คนงานสามารถลงไปทำงานในเรือประมงได้ก่อน และเรือประมงจะได้ออกทะเลไปจับปลาได้ โดยไม่ต้องจอดรอค้างอยู่ จากนั้นก็ให้มีการขึ้นทะเบียนต่อไปเพื่อแรงงานจะได้มีใบอนุญาตถูกต้อง” นายกสมาคมการประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าว
ตรวจต่างด้าวแหล่งบันเทิงด่านนอก อ.สะเดา

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานด้วยว่า วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่ามีแรงงานจากจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนหลายพันคนมีใบอนุญาตทำงานในตำแหน่งแม่บ้าน แต่ไปทำงานขายบริการในสถานบันเทิงในจังหวัดสงขลาว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดสงขลาได้ร่วมกับกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาและสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดา เข้าตรวจสอบสถานบันเทิง ณ บริเวณบ้านด่านนอก ต.สำนักขาม อ.สะเดา จำนวน 3 แห่ง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

วรานนท์ กล่าวอีกว่า โดยได้ตรวจสอบแรงงานตำแหน่งพนักงานเสริฟจำนวน 47 คน เป็นคนไทย 23 คน เมียนมา 13 คน และคนพื้นที่สูง 11 คน ซึ่งคนต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานถูกต้อง ทั้งนี้ ไม่พบแรงงานจากจีนแผ่นดินใหญ่ทำงานขายบริการแต่อย่างใด แต่เป็นกรุ๊ปทัวร์มาท่องเที่ยวและพักอาศัย ณ บริเวณบ้านด่านนอก (จังโหลน) โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แก่นายจ้างและลูกจ้าง เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

"จังหวัดสงขลามีแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งสิ้น 58,338 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 44,873 คน ลาว 2,752 คน โดยที่ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา มีการจ้างแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 13 (ชนกลุ่มน้อย , พื้นที่สูง เช่น เมียนมา ไทยใหญ่ ไทยลื้อ จีน ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า เป็นต้น) จำนวน 407 คน นายจ้าง จำนวน 102 ราย เป็นตำแหน่งกรรมกร 221 คน ผู้รับใช้ในบ้าน 61 คน และพนักงานเสริฟ 125 คน" วรานนท์ กล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.