Posted: 12 Jul 2017 05:53 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

'หมอวินัย' ห่วงแยกเงินเดือนงบเหมาจ่ายบัตรทอง ทำ รพ.อีสานวิกฤตแน่ เหตุงบไหลสู่ รพ.ดูแลประชากรน้อย บุคลากร รพ.มาก ขยายความเหลื่อมล้ำ ส่งผลประชาชนเข้าไม่ถึงการรักษา เผย สปสช.เคยจำลองจัดสรรงบแยกเงินเดือน ตัวเลขงบ รพ.อีสาน ถึงขั้นรับไม่ได้


12 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงข้อเสนอแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า การรวมเงินเดือนในงบเหมาจ่ายภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติน่าจะมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งในการเสนอของบประมาณเหมาจ่ายรายหัวจากรัฐบาลในแต่ละปี สปสช.ได้มีการคำนวณโดยรวมเงินเดือนและค่าแรงของบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าในหน่วยบริการเนื่องจากเป็นหนึ่งในต้นทุนของการบริการ และในการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภาพรวมภายหลังจากที่ผ่านการอนุมัติ ส่วนหนึ่งของงบประมาณจะถูกหักตาม พ.ร.บ.เงินเดือน และสำนักงบประมาณจะหักไว้เพื่อส่งไปยังหน่วยงานสำหรับการจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับข้าราชการในหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในทุกปี

นพ.วินัย กล่าวว่า ส่วนการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวที่ส่งไปยังโรงพยาบาลสังกัด สธ.ที่ สปสช.ได้มีการคำนวณหักเงินเดือนด้วยนั้น เงินเดือนดังกล่าวเป็นค่าของตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณเพื่อให้เกิดการกระจายงบประมาณไปยังโรงพยาบาลสังกัด สธ.ทั่วประเทศ เพื่อดูแลรักษาพยาบาลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ซึ่งในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดำเนินอยู่นี้ หากตัดตัวแปรหักเงินเดือนออกจากการคำนวณกระจายงบเหมาจ่ายรายหัวจะสร้างผลกระทบให้กับหน่วยบริการอย่างมาก รวมทั้งประชาชนในฐานะผู้รับบริการ เนื่องจากจะทำให้โรงพยาบาลที่อยู่ในเขตเมืองที่มีจำนวนประชากรน้อยจะได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลพื้นที่ห่างไกลดูแลประชากรมาก งบประมาณที่ได้รับจะลดน้อยลง

ทั้งนี้จากสถานการณ์เป็นจริงในระบบบริการรักษาพยาบาลปัจจุบัน เมื่อดูพื้นที่ภาคกลางจะพบว่ามีจำนวนหน่วยบริการตั้งอยู่มาก แต่ประชากรกลับมีจำนวนน้อย ขณะที่พื้นที่ภาคอีสานมีจำนวนประชากรมาก แต่จำนวนหน่วยบริการน้อยไม่เพียงพอต่อการบริการ อย่างเช่น จังหวัดสิงห์บุรีมีประชากรประมาณ 2 แสนคน แต่กลับมีโรงพยาบาลรองรับอยู่จำนวนมาก โดยมีโรงพยาบาลขนาด 300 เตียงถึง 2 แห่ง และยังมีโรงพยาบาลชุมชน นั่นหมายถึงจำนวนบุคลากรการแพทย์ด้วย

ขณะที่ภาคอีสานบางอำเภอในบางจังหวัดมีประชากรเทียบเท่ากับประชากรจังหวัดสิงห์บุรีแล้ว อย่างที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ หากไม่นำตัวแปรเงินดือนมาหักจะทำให้โรงพยาบาลในภาคอีสานจะได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับโรงพยาบาลในจังหวัดสิงห์บุรี นั่นหมายถึงงบประมาณที่โรงพยาบาลในภาคอีสานได้รับนั้นลดลงจากขณะนี้ ขณะที่โรงพยาบาลในจังหวัดสิงห์บุรีนอกจากยังคงได้รับการจัดสรรเงินเดือนมากกว่าจาก พ.ร.บ.เงินเดือน ที่ถูกส่งไปก่อนหน้านี้ เพราะจำนวนบุคลากรที่มากกว่าแล้ว ยังได้รับงบเหมาจ่ายเพิ่มขึ้นจากการแก้กฎหมายแยกตัวแปรเงินเดือนนี้

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวที่รวมตัวแปรหักเงินเดือนก็เพื่อทำให้โรงพยาบาลที่มีประชากรมาก แต่จำนวนบุคลากรน้อย จะได้มีงบประมาณเพื่อนำไปจ้างบุคลากรและเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม เพียงพอต่อการให้บริการตามจำนวนประชากร ขณะเดียวกันยังเป็นการจำกัดจำนวนบุคลากรในโรงพยาบาลที่มีบุคลากรมาก แต่จำนวนประชากรน้อย เพื่อไม่ให้มีการขยายโรงพยาบาลและจ้างบุคลากรให้ล้นเพิ่มไปอีก ตัวแปรหักเงินเดือนนี้เป็นการสร้างความสมดุลในการจัดบริการสุขภาพทั่วประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นผู้ป่วยจะไหลเข้ามารักษาโรงพยาบาลในเมือง ขณะที่โรงพยาบาลก็ต้องขยายบริการเพิ่มเพื่อให้เพียงพอต่อผู้มารับบริการ ยิ่งทำให้การบริการกระจุกตัว

“การแยกเงินเดือนที่กำลังถกเถียงในการแก้ไขกฎหมายบัตรทองอยู่นี้ ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องค่าตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณงบเหมาจ่ายรายหัวเท่านั้น ไม่ใช่เงินเดือนจริงๆ ที่ข้าราชการ รพ.สังกัด สธ.ได้รับขณะนี้ เนื่องจากเงินเดือนส่วนนั้นได้มีการจัดสรรไปตั้งแต่แรกและส่งไปยังสำนักงบประมาณเพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนที่ได้รับอยู่ขณะนี้แล้ว” อดีตเลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า หาก สธ.ยังคงเดินหน้ายกเลิกการใช้ค่าตัวแปรหักเงินเดือนนี้ จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพให้กับโรงพยาบาลในสังกัดและผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยโรงพยาบาลในภาคอีสานจะประสบปัญหาอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้เคยทำการจำลองตัวเลขการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวโดยไม่ใช้ค่าตัวแปรหักเงินเดือนนี้ ปรากฎว่างบประมาณที่โรงพยาบาลภาคอีสานได้รับเป็นตัวเลขที่น้อยมากจนรับไม่ได้ เพราะงบประมาณจากโรงพยาบาลภาคอีสานจะไหลมาที่ภาคกลางหมด ซึ่งต้องเข้าใจว่า งบเหมาจ่ายรายหัวหากเปรียบก็เหมือนเค้กก้อนเดียวกัน เพียงแต่ว่าจะตัดแบ่งกันอย่างไรเท่านั้น และการยกเลิกค่าตัวแปรหักเงินเดือนก็ไม่ได้ทำให้งบเหมาจ่ายรายหัวที่มีอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น เพียงแต่จะเป็นการย้ายงบประมาณจากโรงพยาบาลหนึ่งไปโรงพยาบาลหนึ่งเท่านั้น เชื่อว่าในที่สุดจะทำให้โรงพยาบาลภาคอีสานเกิดวิกฤตงบประมาณขึ้นและ สธ.เองก็ทราบดีอยู่แล้ว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.