Posted: 17 Jul 2017 09:31 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ในช่วงฤดูกาลหน้าฝนอย่างนี้ เกิดฝนตกขี้หมูไหล... มีการรวมตัวของนักวิจัยบางคน นักวิชาการบางคน และเอ็นจีโอบางคน ที่ต้องใช้บางคนก็เพราะว่าพวกเขาไม่ใช้ตัวแทนของขบวนใดๆ ทั้งสิ้น เราจะพบว่าพอมีสถานการณ์โครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐหรือเอกชนที่เรียกว่า “นโยบายสาธารณะ” เรามักจะพบผู้หวังดีในนามองค์กรต่างๆ ในตระกูล ส. วิ่งลงไปหาคนมาบ่มเพาะปลุกปั้นเป็นนักเก็บข้อมูลชุมชน HIA,CHIA หรือนักวิจัยชุมชน พอแต่งตัวชาวบ้านเสร็จแล้วก็นำชาวบ้านออกประกวดเวทีในที่สัมมนา (งานอีเวนต์) โชว์ปัญหาในพื้นที่ เช่น แผนที่ทำมือ ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในชุมชน พวกที่นั่งฟังก็น้ำตาไหล เศร้าแทนชาวบ้าน และลงท้ายด้วยตั้งคณะทำงาน แบ่งงานความรับผิดชอบและนัดประชุมใหม่เดือนหน้า (กว่าจะหาวันว่างตรงกันโคตรยากเพราะต้องไปประชุมอีเวนอื่นอีก)

ในนามของความหวังดีหรือเห็นว่านี่เป็นแหล่งพื้นที่ทำมาหากิน หาเงิน หาโครงการฯ ต่อลมหายใจขององค์กรตระกูล ส. และคำพูดที่มักจะใช้คือ “ชาวบ้านเป็นเจ้าของปัญหาเราคือพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา และต้องใช้ข้อมูลในการขับในการเคลื่อนปัญหา “(คุ้นๆ มั๊ย) และ “ต้องใช้ปัญญาจากข้อมูลต่อสู้ “ (โดยนัยยะแล้วเหยียดพวกที่ทำงานจัดตั้งเคลื่อนไหวว่าใช้แต่กำลังหรือพวกม็อบ) และ “การทำงานต้องใช้การประสานงานหาความร่วมมือกับรัฐและทุกภาคส่วนเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ” (อืม..ฟังแล้วดูดีมีความวิชาการมากเลยขอบอก ส่วนพวกไปม๊อบเนี่ยเป็นพวกต่ำตมสุดๆ ) หรือเป็นไปได้หากมีโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชน “ชาวบ้านต้องต่อรองผลประโยชน์สูงสุด“ แต่ชาวบ้านจะเอาอะไรไปต่อรองล่ะรวมตัวก็ไม่ติด ผู้นำก็สนับสนุนบริษัทเสียแล้ว แค่แนวคิดก็ผิดขั้นตอนการต่อรองแล้ว ก็ได้แค่เขียนลงเฟส บ่นๆ กันไป

ถ้าเรามองปัญหาในความเป็นจริงแล้วโครงการพัฒนาต่างๆ ที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนจะเรียกว่านโยบายสาธารณะก็ตาม เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าไปทำลายวิถีชีวิตของชุมชนและเป็นการใช้อำนาจรัฐในการสนับสนุนกลุ่มทุนให้สามารถดำเนินกิจกรรมโดยมีข้าราชการในทุกระดับเป็นสุนัขรับใช้ ซึ่งในหลายกรณีมีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการทำงานคำถามง่ายๆ คือชาวบ้านกำลังเผชิญกับอำนาจรัฐ+ทุน+ข้าราชการ + ศาล รุมกระทำย่ำยีอย่างที่ไม่มีทางสู้หรือขยับได้เลย แล้วข้อมูลที่เก็บโดยใช้ปัญญาของท่านที่เรียกว่า HIA มีพลังเพียงพอหรือไม่ที่ชุมชนจะสามารถนำข้อมูลไปต่อรองได้ มันเป็นไปได้เหรอ? หากเราไม่ทำงานฝังตัวจัดตั้งองค์กรชาวบ้านอย่างจริงจัง มีจิตสำนึก มีอุดมการณ์ มีเป้าหมายชัดเจนในการปกป้องชุมชนแล้วจะต่อสู้กับอำนาจรัฐได้ (อย่าอ้างว่าไม่ถนัดงานชุมชนและไม่ใช่บทบาทนะเถียงตายเลย) มันเป็นไปได้เหรอ? ที่พาชาวบ้านไปเจรจาต่อรองแล้วไม่มีการเตรียมการอย่างรู้เขารู้เรา พอเจอนักการเมือง เจอข้าราชการรับปากว่าจะแก้ไขปัญหาให้ก็ดีใจจนตัวสั่นกลับบ้านอย่างมีความหวังแล้ว หารู้ไม่เค้าหลอกให้ชาวบ้านตายใจ (อย่างน้อยเจ้าหน้าที่เช้าชามเย็นชามอย่างกรูก็ไม่โดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฮ่า!)

การต่อสู้ที่แท้จริงมีหลายวิธีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันคือไม่ควรดูถูกวิธีการกันเอง ไม่ว่าการเริ่มต้นทำงานจะเป็นการจัดตั้งองค์กรชาวบ้าน งานข้อมูล งานรณรงค์ งานสื่อสารสาธารณะ แต่ต้องมีขบวนการที่ชัดเจนใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งแบบฝังลึก สร้างคนในการทำงานเพื่อยกระดับจิตสำนึกระยะยาวควรจะเป็นทางออกที่แท้จริงในการทำงานที่ต้องสู้กับอำนาจรัฐในปัจจุบัน และการสร้างผู้นำจะต้องใช้เวลาเพื่อมองให้เห็นภาวะผู้นำของชาวบ้านจริงๆ งานสร้างผู้นำในหลายครั้งต้องใช้สถานการณ์เป็นตัวฝึกตัวผู้นำและเราเองเป็นผู้จัดกระบวนการสรุปบทเรียนอาจจะใช้เวลาหลายปีที่จะพบผู้นำที่แท้จริง ที่ผ่านมามักจะเห็นผู้นำที่เติบโตในเวทีสัมมนาคือไม่ติดดิน หรือผู้นำบ่มแก๊ส

แต่ถ้าหากบอกว่าขบวนการที่กำลังคิดนั้นเลอเลิศก็อยากให้ สช. สสส. และสกว. ลองยกรูปธรรมงานตัวเองที่ประสบผลสำเร็จมาให้ดูหน่อยจะได้สบายใจว่าเคยมีผลงานรูปธรรม ประเภท ทำหนังสือไม่เอา ทำถุงผ้าลดโลกร้อนก็ไม่เอา หรือจัดเวทีสมัชชาสุขภาพประจำปีเกณฑ์คนมาเป็นพันคนมีเยอะแล้ว มีมติหลายพันมติแล้วยังไงล่ะ เอารูปธรรมที่ใช้ข้อมูล+ปัญญาและหยุดโครงการได้สำเร็จ เราเชื่อว่าถ้าหากการต่อสู้ถึงที่สุดแล้วและต้องเลือกข้าง พวกกลุ่มตระกูล ส. ทั้งหลายก็ไม่กล้าสู้ข้างชาวบ้านหรอกเพราะห่วงตัวเองและองค์กร กลัวเสียภาพพจน์นักวิชาการ กลัวเสีย connection มากกว่าห่วงชาวบ้าน (มีรูปธรรมเยอะ) เพราะการต่อสู้กับอำนาจต้องใช้ความกล้าหาญที่จะยืนเคียงข้างชาวบ้านและต้องใช้เวลาเป็นการพิสูจน์ความจริงและประการสำคัญก็ห่วงปากท้องรายได้ของตัวเองด้วย ชิมิ ...เรื่อง แนวคิด-จุดยืน-ทัศนะ-วิธีการ จึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ “พวกคุณมีความกล้าหาญพอหรือยัง?”

สิ่งที่พบในการทำงานในตระกูล ส. ที่เอาประเด็นขององค์กรเป็นตัวตั้งและกำหนดให้ชุมชนทำตามนั้นโดยมีกล่อง หรือชุดความคิดเป็นตัวกำหนดและเงินจำนวนหนึ่งที่หยิบยื่นเป็นเครื่องมือหลอกล่อให้ชาวบ้านยอมรับบวกกับวางมาดเป็นนักวิชาการจับประเด็นแม่น มีหลักการ มันก็เป็นเพียงการสร้างระบบอุปถัมภ์รูปแบบใหม่ ให้กับชาวบ้านเพื่อหวังพึ่งองค์กร หน่วยงาน บุคคล นั้นเอง เราจะเห็นชาวบ้านที่ทำงานกับกลุ่มนี้จะถูกอุปโลกน์ว่าเป็นตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนชุมชน มีบุคลิกพูดเก่ง จับไมค์แนบอก ความคิดความอ่านเหนือกว่าชาวบ้านธรรมดาเพราะออกประชุมบ่อยและได้ค่าเบี้ยเลี้ยง แต่พอชาวบ้านเหล่านั้นหันกลับไปที่ชุมชนกลับมองไม่เห็นคน สื่อสารกับใครไม่ได้ พูดคุยกับคนในชุมชนไม่รู้เรื่อง เมื่อปรากฏการณ์ เป็นเช่นนี้ พวกตระกูล ส.รู้สึกอย่างไร? หรือแท้จริงกระบวนการทำงานแบบตระกูล ส.ทั้งหลาย คือการแบ่งแยกคนในชุมชน แทนที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับปัญหา กลับบั่นทอนให้ชุมชนอ่อนแอและยอมรับกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้โดยง่ายและรอรับการช่วยเหลืออย่างไร้ศักดิ์ศรีจากหน่วยงานรัฐหรือทุนที่เข้ามาละเมิดสิทธิทำลายชุมชนหยิบยื่นให้ และไม่มีโอกาสแม้แต่จะต่อรองผลประโยชน์สูงสุดอย่างที่นักวิชาการบางคนได้กล่าวเอาไว้

การต่อสู้กับนโยบายสาธารณะที่ละเมิดสิทธิชุมชน ถ้าวิธีการเริ่มต้นผิดจะทำให้ชุมชนอ่อนแอไม่เข้มแข็ง หวังพึ่งคนอื่นมากกว่าพึ่งตัวเอง เราอยากเห็นสังคมชุมชนเป็นแบบนี้หรือ? ยุคที่รัฐราชการมีอำนาจและเผด็จการทหารควบคุมเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ การต่อสู้กับอำนาจนิยมต้องให้ประชาชนมีสำนึกตื่นตัวและเชื่อมั่นในพลังของตนเองและเขาสามารถแก้ปัญหาเองได้ ไม่ใช่มีพระเจ้าองค์ไหนมาชี้ทางให้และเดินหนีไปประชุมต่อ ชุมชนต้องการคนที่เรียนรู้ร่วมกันในระยะยาว เป็นเพื่อน ร่วมทุกข์สุขด้วยกันมากกว่ามานั่งจับประเด็น เป็นวิทยากรกระบวนการและบ่ายสามขึ้นเครื่องกลับ กทม.

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.