โฆษกศาลยุติธรรมแถลงกรณีการลาออกของประธานศาลอุทธรณ์

Posted: 19 Jul 2017 10:47 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

19 ก.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าว ที่ห้องประชุม อาคารศาลอาญา ชั้น 12 ว่า สืบเนื่องจาก ศิริชัย วัฒนโยธิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ แถลง ข่าวการลาออกจากราชการศาลยุติธรรม วานนี้ (18 ก.ค.60) โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมและ องค์กรภายในของศาลยุติธรรม ซึ่งสาธารณชนสมควรที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้

ประเด็นการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการกลั่นกรองเสนอความเห็นของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) นั้น โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า อ.ก.ต. ประจำชั้นศาลจะประกอบด้วยข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล จำนวน 7 คน รวม 21 คน ล้วนแต่เป็นผู้มีตำแหน่งสำคัญในแต่ละชั้นศาล การดำเนินการกลั่นกรองเสนอความเห็น ของ อ.ก.ต. จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมและระเบียบคณะกรรมการศาลยุติธรรม ว่าด้วยองค์ประกอบ หลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง และวิธีดำเนินงานของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2554 ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ต. เป็นการประชุมโดยอิสระ เช่น การอภิปราย แสดงความคิดเห็น การออกเสียงลงคะแนน และตีความ ทั้งนี้ อ.ก.ต. ได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานที่เกี่ยวข้องกับ ประเด็นความเหมาะสมของ ศิริชัย ในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในด้านการบริหารจัดการ สำนวนคดี และได้ให้โอกาส ศิริชัยชี้แจงถ้อยคำถึง 2 ครั้ง ตลอดจนยังได้ให้โอกาส ศิริชัยเสนอ พยานบุคคลและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจนสิ้นกระแสความ มิได้เป็นการรวบรัดแต่อย่างใด ซึ่งที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนด้วยมติเสียงข้างมากถึง 19 ต่อ 1 ของจำนวนอนุกรรมการที่มาประชุม เห็นว่า ศิริชัย ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา

ประเด็นการพิจารณาลงมติของ ก.ต.ที่ไม่สามารถทบทวนมติได้นั้น โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า ก.ต. ประกอบด้วย ประธาน ศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน ซึ่งเป็น ข้าราชการตุลาการในชั้นศาลฎีกาจำนวน 6 คน ชั้นศาลอุทธรณ์ จำนวน 4 คน และชั้นศาลชั้นต้น จำนวน 2 คน และยังมี ก.ต. อีก 2 คน ซึ่งวุฒิสภาเลือกจากบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม บุคคลดังกล่าวล้วนเป็นผู้ทรงเกียรติและดำรงตำแหน่งสำคัญ ไม่มีบุคคลใดที่จะมา แทรกแซงได้ซึ่งในการพิจารณาลงมติของ ก.ต. กระทำโดยเปิดเผยและสามารถตรวจสอบรายงานการประชุม ของ ก.ต. เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้อันเป็นหลักประกันแก่ข้าราชการตุลาการทุกคนที่จะได้รับการพิจารณา อย่างเป็นธรรม แม้การดำเนินงานตามมติของ ก.ต. ในเรื่องการเลื่อนตำแหน่งจะไม่สามารถทบทวนได้ แต่ได้มีการกลั่นกรองข้อเท็จจริงจาก อ.ก.ต. จำนวนถึง 21 คน มาแล้ว หลักการดังกล่าวนี้ศาลยุติธรรม ใช้มาอย่างยาวนาน และได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ไม่อาจทบทวนความเป็นอิสระ โดยองค์กรอื่นได้ ซึ่งในการออกเสียงลงคะแนนยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ 14 ต่อ 0 ของจำนวน ก.ต. ที่เข้าประชุม ไม่เห็นชอบให้ ศิริชัย ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา อีกเช่นกัน (เนื่องจาก ชีพ จุลมนต์ ก.ต. ชั้นศาลฎีกา ออกจากห้องประชุม) และเมื่อ ก.ต.ไม่ให้ความเห็นชอบแล้ว เลขานุการ ก.ต. ก็ต้องเสนอผู้ที่มีอาวุโสลำดับถัดไป ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ 2543ต่อไป จึงมิได้เป็นการเสนอชื่อที่มิได้เป็นไปตามลำดับอาวุโสแต่อย่างใด

ประเด็นการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา ในชั้น อ.ก.ต. และในชั้น ก.ต. ในเรื่องความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาของ ศิริชัย มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าเป็นการกระทำผิดวินัย จึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของ ก.ต. ที่จะต้องดำเนินการ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้เช่นเดียวกับข้าราชการตุลาการรายอื่น มิฉะนั้น อาจถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งในการสอบข้อเท็จจริงในชั้นต้น ศิริชัย มีสิทธิที่จะเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างเต็มที่และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่มีมูลเป็นความผิดวินัย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ต้องเสนอยุติเรื่อง แต่หากมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แม้ ภายหลัง ศิริชัย จะพ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการไปแล้ว คณะกรรมการก็ยังสามารถ ดำเนินการทางวินัยสอบสวนหรือพิจารณาลงโทษได้เสมือนผู้นั้นยังมิได้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการ ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543

ประเด็นไม่มีกฎหมายรับรองตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา นั้น โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ.2543 นอกจากตำแหน่งข้าราชการตุลาการตามที่ระบุไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง เช่น ตำแหน่งประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ฯลฯ ตามวรรคสองของ มาตราดังกล่าว คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ยังมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้มี ตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นอีกได้ และจะเทียบตำแหน่งใดก็ให้กำหนดไว้ในประกาศนั้นด้วย การกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา เทียบเท่ากับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์จึงเป็นการชอบ ด้วยบทบัญญัติของกฎหมายทุกประการ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.